นักธรณีฯชี้ ฟองผุดกลางน้ำเป็น ‘ก๊าซมีเทน’ ตั้งเป็นพื้นที่อันตราย-เตือนชุมชนให้ระวัง (17 ก.พ. 59)

มติชนออนไลน์ 17 กุมภาพันธ์ 2559
นักธรณีฯชี้ ฟองผุดกลางน้ำเป็น ‘ก๊าซมีเทน’ ตั้งเป็นพื้นที่อันตราย-เตือนชุมชนให้ระวัง

     

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตั้งแต่ช่วงเช้าของวันนี้ ได้มีประชาชนในพื้นที่ หมู่ 5 ต.นาอ้อม อ.ปง จ.พะเยา กว่า 100 คน และเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ขุนควร อ.ปง พร้อมทั้งผู้นำท้องที่และท้องถิ่นได้เข้ามารอฟังผลการตรวจสอบฟองอากาศที่ผุดจากแม่น้ำควร ด้านหน้าฝายวังจัน หมู่ 5 ต.ขุนควร จนถึงเวลา 12.00 น. นายเด่นโชค มั่นใจ ผู้อำนวยการส่วนธรณีวิทยา สำนักงานทรัพยากรธรณีวิทยาเขต 1 ลำปาง พร้อมเจ้าหน้าที่ เดินทางมาถึงพื้นที่ และได้นำเครื่องมือทำการเจาะดินจากใต้น้ำควรขึ้นมาตรวจพิสูจน์จำนวน 3 จุด คือ ริมและกลางแม่น้ำ ห่างจากจุดเกิดฟองอากาศประมาณ 20 เมตร และจุดที่เกิดฟองอากาศ
 
นายเด่นโชคกล่าวถึงผลการตรวจสอบว่า เบื้องต้นที่ตนและทีมงานได้ทำการเจาะตัวอย่างดินจากใต้น้ำควรที่ความลึกประมาณ 1-1.50 เมตร ขึ้นมาตรวจสอบหาสาเหตุของฟองอากาศ พบว่าลักษณะดังกล่าวคือการผุดขึ้นมาขอก๊าซมีเทนซึ่งเกิดจากซากพืชที่เน่าเปื่อยหรือฮิวมัสอยู่ในชั้นทรายหนาประมาณ 30 ซม. ที่มีดินเหนียวปิดทับอยู่ชั้นบน โดยปกติก๊าซดังกล่าวจะผุดหรือลอยขึ้นมาเมื่อมีการเปิดช่องหรือรูให้ก๊าซผุดขึ้นมา ซึ่งเมื่อมีการนำไม้ไปแทงลงชั้นดินใต้น้ำแห่งนี้จนลึกถึงชั้นทราย ณ จุดที่ก๊าซเกิดขึ้น จึงทำให้มีก๊าซมีเทนผุดขึ้นมาด้านบน ก๊าซมีเทนโดยทั่วไป ตัวมันเองไม่ติดไฟ แต่หากมีการจุดประกายไฟใกล้ๆ จะทำให้ก๊าซมีเทนติดไฟได้ทันที สำหรับก๊าซมีเทนจะมีกลิ่นเหม็น ฉุนไม่มาก ในลำน้ำควรแห่งนี้เป็นสถานที่โล่งจึงทำให้กลิ่นเจือจาง ก๊าซชนิดนี้พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำที่มีการทับถมของดินใต้น้ำ
 
นายเด่นโชคกล่าวต่อว่า จากการสำรวจสภาพพื้นที่ของจุดที่เกิดก๊าซมีเทนในลำน้ำควรครั้งนี้ พื้นที่กว้างxยาวxความหนาของชั้นทราย จะได้ปริมาตรของก๊าซโดยประมาณ 1,200 ลบ.เมตร ซึ่งจะนำไปใช้ประโยชน์เหมือนก๊าซใช้ในครัวเรือนไม่ได้เพราะมีไม่มากพอ มีเทนที่พบในน้ำควรเป็นก๊าซชนิดเดียวกับที่ได้มาจากมูลสัตว์ ดังนั้น จากผลการสำรวจครั้งนี้ ตนได้ให้ความรู้ด้านข้อมูลวิชาการแก่ประชาชนที่มารอฟังผลแล้ว พร้อมทั้งได้เสนอแนวทางการจัดการจุดที่พบก๊าซแก่ผู้นำ คือ 1.ให้ทำเป็นแนวเตือนภัยพื้นที่อันตราย ป้องกันไม่ให้เด็กหรือวัยรุ่น หรือประชาชนที่ต้องการพิสูจน์เข้ามาทดลองและจุดไฟในบริเวณดังกล่าว และ 2.ท้องถิ่นควรทำเป็นศูนย์การศึกษาข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์แก่เยาวชนและประชาชนในพื้นที่ได้ศึกษา หากดำเนินการได้ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก
 
 
“ก๊าซชนิดนี้พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำที่มีการทับถมของซากพืชเป็นเวลานาน ซึ่งฝายวังจันแห่งนี้จากการสอบถามผู้นำและผู้รู้ในพื้นที่พบว่าก่อสร้างมานานกว่า 30 ปี แล้ว ดังนั้นการทับถมของดินใต้น้ำจึงเกิดขึ้น แต่ถ้ามีการขุดลอกเอาตะกอนใต้น้ำออกทั้งหมดก๊าซก็จะหายไปด้วย ในกว๊านพะเยาก็มี” นายเด่นโชคกล่าว
 
ด้านนายสุรทิน แสงเชียงเนา อายุ 19 ปี หนุ่มหาปลาที่พบจุดเกิดก๊าซมีเทน กล่าวว่า อาจจะต้องมีการวางระบบระวังความปลอดภัย โดยมีการจัดเวรยามมาเฝ้าบริเวณนี้ในระยะแรก เนื่องจากเป็นห่วงว่าคนที่ต้องการทดลองเหมือนที่เกิดไปแล้ว อาจจะเป็นอันตรายได้ แม้จะไม่มีเรือจอดอยู่ในลำน้ำแต่หากมีคนพยายามนำไม้ไปแทงดินใต้น้ำ และพลาดตกน้ำ ว่ายน้ำไม่เป็นเกรงจะเกิดเหตุอันตรายได้เช่นกัน
 
นายเจตนิภัท สีตะวัน ผญบ.นาอ้อม หมู่ 5 ต.ขุนควร อ.ปง กล่าวว่า เรื่องการเฝ้าเตือนภัยให้มีการระมัดระวังพื้นที่บริเวณดังกล่าวนั้น ตนได้ประกาศเตือนผ่านเสียงตามสายในหมู่บ้าน และทำป้ายติดแจ้งเตือนพื้นที่อันตรายและทำแนวเขตไว้แล้ว