ผ่าร่างพรบ.ยุทธศาสตร์ชาติ คุม 20 ปีผูกพันทุกรัฐบาล (16 ก.พ. 59)
โพสต์ทูเดย์ 16 กุมภาพันธ์ 2559
ผ่าร่างพรบ.ยุทธศาสตร์ชาติ คุม 20 ปีผูกพันทุกรัฐบาล
การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในวันที่ 16 ก.พ. มีวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการบริหารราชการแผ่นดิน สปท.เป็นผู้เสนอ ซึ่งถ้าที่ประชุม สปท.เห็นชอบ จะดำเนินการส่งมอบให้คณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป
ร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ที่ สปท.กำลังจะพิจารณานั้นถือว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะมาตรา 263 ของร่างรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า “ให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีกฎหมายตามมาตรา61 (พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ) ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้”
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จำนวน 61 มาตรา โดยได้กำหนดนิยามของคำว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ”มีความหมายว่า “แม่บทหลักที่เป็นกรอบกำหนดนโยบาย และแผนต่างๆ สำหรับการพัฒนาประเทศ กำหนดทิศทาง เป้าหมาย หรือแนวทางการพัฒนาประเทศการบริหารราชการแผ่นดิน การจัดสรรงบประมาณ การจัดสรรทรัพยากร และเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาของภาคเอกชนและภาคประชาชน
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน รวมทั้งมีอธิปไตยและเข้มแข็งในประชาคมโลก อย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญครอบคลุมด้านความมั่นคงทางทหาร การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมการปกครองท้องถิ่น การศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐกิจ การเกษตร การอุตสาหกรรม การบริการ การเงิน การคลัง และงบประมาณ พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสาธารณสุข การคมนาคมและเทคโนโลยีการสื่อสาร สังคม ศิลปะ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม”
ทั้งนี้ บัญญัติให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 25 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 22 คน
โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวจะมี 12 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านความมั่นคงทางทหาร 2.ด้านการเมือง 3.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 4.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 5.ด้านการปกครองท้องถิ่น 6.ด้านการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์7.ด้านเศรษฐกิจและงบประมาณ 8.ด้านพลังงานทรัพยากรธรรมชาติ 9.ด้านสาธารณสุข 10.ด้านการคมนาคมและเทคโนโลยีการสื่อสาร 11.ด้านสังคม วัฒนธรรม และ 12.ด้านวิทยาศาสตร์
เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการฯ ให้นำบัญชีอัตราของประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี หรือประธานศาลฎีกา กรณีใดกรณีหนึ่งมาบังคับใช้ ส่วนกรรมการฯ ให้ได้รับค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ตามกำหนดในพระราชกฤษฎีกาภายใน60 วัน
การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติต้องพิจารณาผลประโยชน์แห่งชาติ และให้ประธานกรรมการฯ เสนอยุทธศาสตร์ชาติต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 20 ปี และอาจพิจารณาทบทวนทุก 5 ปี หรือเมื่อมีสถานการณ์กระทบต่อวัตถุประสงค์หลักตามยุทธศาสตร์ชาติอย่างเป็นนัยสำคัญ
นอกจากนี้ การจัดทำและการดำเนินโยบายของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี รวมทั้งองค์กรและหน่วยงานของรัฐ ต้องอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ อีกทั้งยังมีผลผูกพันรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีทุกสมัย แม้จะมิใช่รัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีที่ได้ให้ความเห็นชอบหรือถือว่าได้ให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์ก็ตาม
ขณะเดียวกัน ร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ได้ให้อำนาจคณะกรรมการยุทธศาสตร์สำหรับการติดตาม ตรวจสอบ และการประเมินผลด้วย โดยบัญญัติไว้เป็น 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1.กรณีปรากฏข้อเท็จจริงว่าไม่ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ แต่ยังไม่เกิดความเสียหาย ให้คณะกรรมการฯ แจ้งให้หน่วยงานปฏิบัติตามให้ถูกต้อง 2.กรณีพบว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหายร้ายแรง แต่ไม่ปรากฏว่ามีการทุจริต ให้เสนอวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ
3.กรณีพบว่าผู้ใดหรือองค์กรใดของหน่วยงานรัฐไม่ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง แต่ไม่ปรากฏการทุจริต ให้เสนอคณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป และ 4.กรณีไม่ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติส่อไปในทางทุจริต หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในบทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีจุดที่น่าสนใจ คือ ในวาระเริ่มแรกของการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติให้คณะกรรมการจำนวน 25 คน ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี ประธาน สนช. ประธาน สปท.เป็นกรรมการโดยตำแหนง และบุคคลซึ่ง สนช.ดำเนินการสรรหาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 22 คน โดยเมื่อพ้นกำหนด 4 ปี นับแต่วันที่คณะกรรมการฯ ชุดแรกได้รับการแต่งตั้ง ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 11 คนพ้นจากตำแหน่งโดยวิธีจับสลาก และให้ดำเนินการสรรหากรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างตาม พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ
“คำนูณ สิทธิสมาน” โฆษก สปท. อธิบายว่า คณะกรรมการฯ ไม่ได้มีลักษณะเดียวกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่เคยบรรจุอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ เพราะคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีอายุอยู่ถาวรตลอดไปตราบเท่าที่พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติยังใช้บังคับอยู่ หรือดำรงตำแหน่งครบวาระ ผิดกับ คปป.มีอายุอยู่ชั่วคราวเพียง 5 ปีแล้วสิ้นสภาพไปตามรัฐธรรมนูญ อาจต่ออายุได้เพียงครั้งเดียวไม่เกิน 5 ปี โดยมติรัฐสภาหรือผลการลงประชามติ
“คปป.สามารถใช้อำนาจแทนคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาในยามวิกฤตร้ายแรงภายใต้เงื่อนไข 5 ประการภายในระยะเวลา 5 ปีแรก ต่ออายุไม่ได้ แต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไม่มีอำนาจเช่นว่านั้น” โฆษก สปท. ระบุ