เครือข่ายภาค ปชช.จี้ ‘มีชัย’ บัญญัติหลักสิทธิชุมชนในร่าง รธน. สร้างความเป็นประชาธิปไตย (15 ก.พ. 59)
สำนักข่าวอิศรา 15 กุมภาพันธ์ 2559
เครือข่ายภาค ปชช.จี้ ‘มีชัย’ บัญญัติหลักสิทธิชุมชนในร่าง รธน. สร้างความเป็นประชาธิปไตย
เครือข่ายภาค ปชช.ยื่นหนังสือถึง ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ จี้บัญญัติหลักสิทธิชุมชนใน ร่าง รธน. ให้ชัดเจน เหมือนฉบับปี 50 ชี้ที่ผ่านมาไม่ได้รับการคุ้มครอง เหตุระบบรวมศูนย์อำนาจรัฐมากเกิน หวังรื้อโครงสร้างใหม่ กระจายอำนาจ เกิดการมีส่วนร่วม
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 เครือข่ายฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (คฟส.) ประกอบด้วย องค์กรภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และข้าราชการ 100 องค์กร นำโดย นายกฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เข้ายื่นหนังสือต่อ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เรื่อง ข้อเสนอการบัญญัติสิทธิประชาชนและชุมชนในด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และสุขภาพในร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้รับมอบ ณ อาคารรัฐสภา
นายกฤษฎา กล่าวว่า เครือข่ายฯ ต้องการให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติหลักการสิทธิชุมชนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเหมือนเดิมอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารับทราบดีว่า ได้บัญญัติไว้ในหมวดหน้าที่ของรัฐ แต่มองว่ายังไม่เพียงพอ เพราะคำว่า หน้าที่ของรัฐ อาจเป็นการดูแลสิ่งแวดล้อม หน้าที่การพัฒนา ซึ่งอาจละเมิดสิทธิชุมชนได้ ซึ่งสิ่งที่อยากเห็น คือ ชุมชนมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน พร้อมมีส่วนร่วมในการกำหนดโครงการนโยบายต่าง ๆ ดังที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญ ปี 2550
โดยยกตัวอย่าง เช่น การประเมินสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment:EHIA) โดยอยากให้มีการจัดประชาพิจารณ์ผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง ก่อนดำเนินโครงการ กิจกรรม หรือนโยบายต่าง ๆ และสิทธิที่ประชาชนฟ้องร้อง กรณีรัฐไม่ดำเนินการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมหรือละเมิดสิทธิของประชาชนและชุมชน เป็นต้น
นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า ไม่เฉพาะสิทธิชุมชนเท่านั้น แต่เห็นว่าเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญยังเอื้อต่อการรวมศูนย์ของราชการค่อนข้างมาก จึงอยากเห็นการปรับแก้รัฐธรรมนูญในการรับรองสิทธิชุมชนทั้งระบบ ซึ่งต้องมีโครงสร้างรองรับ โดยการบัญญัติเรื่องสิทธิชุมชน มีองค์กรอิสระหรือกลไกคุ้มครองสิทธิของประชาชนและชุมชน ซึ่งที่มีอยู่แล้ว เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) หรือคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) และเกิดองค์กรใหม่ ๆ
อีกทั้ง การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่เห็นความชัดเจน เรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่จะมีบทบาทหน้าที่ดูแลด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือรูปแบบอื่น ๆ เช่น จังหวัดจัดการตนเอง และคาดหวังต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงออก ให้ข้อคิดเห็น หรือร่วมตัดสินใจ และโครงสร้างพรรคการเมือง ที่มานายกรัฐมนตรี และอื่น ๆ ต้องยึดโยงกับประชาชน เพื่อถ่วงดุลและประชาชนเข้าถึงได้
“เหตุที่สิทธิชุมชนและประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครอง ไม่ใช่เพราะการไม่บัญญัติหน้าที่ของรัฐ แต่เป็นเพราะระบบรวมศูนย์อำนาจของรัฐ ที่ทำให้สิทธิเหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครอง จึงอยากเห็นการปรับทั้งระบบ กระจายอำนาจ เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม และสร้างความเป็นประชาธิปไตย ทั้งนี้ ไม่อยากเห็นการปรับปรุงเพียงเล็กน้อย โดยแปะไว้บางมาตราว่า สิทธิชุมชนรับรองแล้ว แต่อยากเห็นการปรับโครงสร้างมากกว่า” นายกฤษฎา กล่าว
ด้านนางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการผังเมืองอิสระ กล่าวเพิ่มเติมว่า การผังเมืองเป็นเรื่องสำคัญ แต่ขาดไปทั้งในหมวดสิทธิประชาชน สิทธิชุมชน หรือแม้แต่นโยบายของรัฐ หรือการปกครองท้องถิ่น แต่กลับเพิ่มให้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดังนั้นนำเรื่องนี้กลับมาในรัฐธรรมนูญให้ประชาชนมีสิทธิในการกำหนดการใช้ที่ดิน ให้สามารถจัดการตนเองที่มีรูปธรรมที่สุด
ขณะที่นายดิเรก เหมนคร เครือข่ายประชาชนชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติหลักการสิทธิชุมชนเหมือนเดิม เพราะเห็นบทเรียนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทย มีการบรรจุให้มีการรับฟังความคิดเห็น แต่กลับจัดแบบฉ้อฉล ไม่ชอบธรรม และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน
ด้านนายชาติชาย กล่าวว่า จะรับข้อเสนอและนำไปให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทบทวนอีกครั้งหนึ่งในส่วนที่ให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิชุมชน ปรับโครงสร้างกระจายอำนาจ เพื่อให้ครอบคลุมและเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดหวังทำให้รัฐธรรมนูญตอบโจทย์ความคิดเห็นแตกต่างหลากหลายให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้อย่างไร เพื่อประเทศจะได้เจริญก้าวหน้า .