บิ๊ก ปตท. ซัด กฟผ.ต้นเหตุค่าไฟแพง จี้เลิกผูกขาดพลังงาน - ชงรัฐรีดภาษี 'ถ่านหิน' (4 ส.ค. 59)
Green News TV 4 สิงหาคม 2559
บิ๊ก ปตท.ซัด กฟผ.ต้นเหตุค่าไฟแพง จี้เลิกผูกขาดพลังงาน – ชงรัฐรีดภาษี ‘ถ่านหิน’
“ปิยสวัสดิ์” อัด กฟผ.ผูกขาดพลังงานไฟฟ้าต้นเหตุทำให้ค่าไฟแพง “นักวิชาการ” ยัน ต้นทุนผลิตพลังงานหมุนเวียนสูสีถ่านหินแล้ว
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในเวทีเสวนา “มองอนาคตพลังงานไทย–เราควรถกกันเรื่องอะไร ?” ซึ่งจัดโดยบริษัทป่าสาละ เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2559 ตอนหนึ่งว่า การแข่งขันในกิจการพลังงานจะทำให้เกิดคุณภาพและบริการที่ดีสำหรับผู้บริโภค แต่ปัจจุบันพบว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ผูกขาดกิจการทั้งการซื้อและขายไฟฟ้าอยู่ และมักมีปัญหาเรื่องสายส่งเต็มทั้งๆ ที่สามารถบริหารจัดการได้ ฉะนั้นภาครัฐควรมีหน้าที่กำหนดนโยบายและกติกาหลักเกณฑ์เรื่องการใช้ไฟฟ้า ส่วนบทบาทการลงทุนต่างๆ ควรให้เป็นของเอกชน
“หากเป็นระบบสินค้าที่มีการแข่งขัน เมื่อมีปริมาณการสำรองสูงหรือมีอุปทานมากกว่าอุปสงค์ราคาก็จะยิ่งต่ำลง แต่ของระบบไฟฟ้าทุกวันนี้มันกลับกันคือยิ่งมีปริมาณการสำรองสูงค่าไฟฟ้าก็ยิ่งสูง ดังนั้นถ้าเรามีระบบกลไกที่สมดุล ราคาขายที่ลดลงจะทำให้แรงจูงใจในการสร้างโรงไฟฟ้าลดลง แต่เมื่อไทยเป็นระบบผูกขาดรายเดียวจึงเป็นแบบนี้” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ภาครัฐควรกำหนดนโยบายราคาพลังงานให้สะท้อนกับราคาที่แท้จริง อย่างกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งก็ไม่ได้ถูกจริงเพราะยังไม่มีการคำนวณเรื่องผลกระทบ จึงควรคิดภาษีคาร์บอนเข้าไปด้วย ขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์ก็มีราคาลดลงมาก ควรให้โอกาสผู้ประกอบการเป็นผู้ตัดสินใจและแข่งกันในด้านราคา ฉะนั้นหากเปิดให้มีการแข่งขันก็จะเกิดผลดีกับพลังงานหมุนเวียนโดยอัตโนมัติ
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของตัวเลขแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ที่มีกำลังสำรองในระบบสูง ส่วนหนึ่งมาจากการคาดการณ์เศรษฐกิจที่อาจสูงเกินไป อีกส่วนมาจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ไม่ตามแผน นอกจากนี้ในขั้นตอนการวางแผนพีดีพี คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานก็ไม่ได้เสนอแนะว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไร หรือไม่ได้เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลทั่วไป
นางชื่นชม สง่าราศรี กรีเซ่น นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน กล่าวว่า ทุกวันนี้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้นมีราคาถูกและสามารถแข่งขันกับพลังงานถ่านหินได้แล้ว ฉะนั้นการบอกว่าจะเป็นภาระกับค่าไฟฟ้าจึงไม่เป็นความจริง ปัญหาคือทุกวันนี้รัฐยังปิดประตูการรับซื้ออยู่ ที่เป็นอย่างนี้ส่วนหนึ่งเพราะได้อนุมัติโควต้าในการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไว้จำนวนมากแล้ว ตัวเลขตามแผนพีดีพีจึงสูงเกินความต้องการไปอีกกว่า 10 ปี ทำให้ต้องปิดประตูไม่ขอรับพลังงานหมุนเวียน
นางชื่นชม กล่าวว่า ในส่วนของการวางแผนพลังงานนั้นก็ไม่ได้อยู่บนฐานของความต้องการใช้ไฟฟ้าจริง แต่ยังมีปัจจัยหลายอย่างรวมกัน ส่วนหนึ่งคือโครงสร้างการกำกับดูแลที่ผูกขาด และอีกส่วนคือใช้หลักการประกันกำไรการลงทุน (ROIC) ซึ่งเป็นระบบที่เพิ่งถูกเปลี่ยนในช่วงที่ กฟผ.เข้าตลาดหุ้นเพื่อสร้างความสนใจให้นักลงทุน โดยมีนัยยะว่ายิ่งลงทุนมากยิ่งกำไรมาก ซึ่งไม่ว่า กฟผ.จะลงทุนเกินเพียงใดต้นทุนก็ถูกส่งผ่านมาถึงผู้ใช้อยู่ดี กลับกันกับในต่างประเทศที่หากลงทุนอย่างไม่มีประสิทธิภาพอาจโดนปรับ
นางชื่นชม กล่าวอีกว่า อีกปัญหาหนึ่งในเชิงโครงสร้างคือ นอกจาก กฟผ.แล้วยังมีผู้ประกอบการที่เป็นกึ่งรัฐกึ่งเอกชนจำนวนมาก อย่างเช่นบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (RATCH) ที่ กฟผ.ถือหุ้นอยู่ 45% หรือบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) ที่ กฟผ.ถือหุ้นอยู่ 25% ดังนั้นจึงมีความไม่ชัดเจนของบทบาทภาครัฐและภาคเอกชนเกิดขึ้น กลายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผู้เจรจากับผู้กำหนดนโยบาย จึงไม่แปลกใจว่าเพราะเหตุใดพลังงานหมุนเวียนจึงถูกปิดประตูอยู่ตลอดเวลาด้วยปัญหาของสายส่ง ขณะที่เขื่อนขนาดใหญ่ซึ่งต้องเดินสายส่งยาวมากสามารถเจรจาได้
“ที่ผ่านมาเราอาจคิดว่าพลังงานเป็นเรื่องที่ยาก จึงได้มอบอำนาจการตัดสินใจให้กับผู้เชี่ยวชาญเพียงไม่กี่คนในประเทศ แต่ความเป็นจริงคือเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเราทุกคนที่ต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ ปัญหาขณะนี้จึงเป็นเรื่องของโครงสร้างกิจการพลังงาน” นางชื่นชม กล่าว
นายเดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การถกเถียงในอดีตที่มีการพยากรณ์ถึงศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนที่น้อยเกินไป หรือคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าที่สูงเกินไป สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องการทายถูกหรือผิด แต่สิ่งที่เราเห็นได้อย่างแรกคือเศรษฐกิจของประเทศหรือของโลกนั้นไม่ได้ดีเสมอไป มีทั้งขึ้นและลง ขึ้นกับว่าเราจะเปลี่ยนวิธีการวางแผนอย่างไรให้สอดรับกับข้อเท็จจริงนี้ และสองคือเมื่อเวลาผ่านไปเรามีตัวเลือกพลังงานที่มากขึ้น และเทคโนโลยีที่ดีขึ้น
นายเดชรัต กล่าวอีกว่า สรุปแล้วการมองถึงอนาคตของพลังงานนั้น สิ่งที่จะเป็นตัวกำหนดสำคัญคือ 1.เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วเพียงใด 2.คุณค่า ที่ขึ้นกับว่าเราจะให้คุณค่ากับสิ่งใดมากกว่ากัน จะเป็นมิติเชิงเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม 3.อำนาจ ของผู้ที่จะกำหนดทั้งเชิงนโยบายและการกำกับดูแล และ 4.ผู้ประกอบการ ที่จะเลือกพัฒนาไปสู่อะไร โดยสรุปแล้วเราจึงควรถกเถียงถึงเทคโนโลยี คุณค่า และอำนาจ โดยมีผู้ประกอบการ ซึ่งยังหมายรวมถึงประชาชนทั่วไปเป็นผู้ถกที่ดีที่สุด