ปลัด "ก.ทรัพย์" เผย (ร่าง)จัดการสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ เน้นจัดสรรดูแลทรัพยากรชาติให้คุ้มค่า (3 ส.ค. 59)
สำนักข่าวอิศรา 3 สิงหาคม 2559
ปลัดก.ทรัพย์ฯ เผย (ร่าง)จัดการสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ เน้นจัดสรรดูแลทรัพยากรชาติให้คุ้มค่า
ปลัดก.ทรัพย์ฯ เผย (ร่าง)จัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฉบับใหม่เน้นแก้ไข ปรับปรุง ยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อป้องกัน ดูเเล จัดการทรัพยากรอย่างเป็นระบบและยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2559 ที่ห้องเมย์แฟร์ แกรนด์บอลรูม โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ(ร่าง)แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2560-2564
ดร.เกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม เสมือนเป็นแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่บูรณาการภาพรวมของทุกสาขาและประเด็นสำคัญให้มีเป้าหมายในทิศทางเดียวกัน ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่ง(ร่าง)แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2560-2564 ฉบับนี้ ได้คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงในอดีตที่การพัฒนามุ่งเน้นการนำทุนทางธรรมชาติไปเป็นฐานในการผลิตและสร้างรายได้ให้กับประเทศแต่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมต่อทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนรวมทั้งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย
ดร.เกษมสันต์ กล่าวถึงการจัดทำร่างฉบับนี้เน้นการกำหนดมาตรการแก้ไขที่ยืดหยุ่นและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งนี้ในตัวร่างดังกล่าวประกอบไปด้วยยุทธศาสตร์ทั้งหมด 4 ยุทธศาสตร์หลัก คือ (1) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและเป็นธรรม (2) การจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ได้รับการป้องกัน บำบัด และฟื้นฟู (3)เพื่อประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน (4) สร้างศักยภาพเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติและส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศ
ด้าน รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษากิติมศักดิ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) กล่าวว่า ในการจัดทำ(ร่าง)แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฉบับใหม่นั้นได้ผ่านการระดมความคิดเห็นในเวทีย่อย จำนวน 12 ครั้ง ทั่วประเทศ เพื่อให้มีแนวทางที่ชัดเจนในระดับปฏิบัติที่สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในเวทีทั้ง 4 ภาค สามารถแบ่งประเด็นสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญในระดับพื้นที่ (Flagship Projects) ได้ทั้งหมด 4 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ ภาคเหนือเป็นโครงการแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าและปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งได้มีการเร่งจัดทำฐานข้อมูลและกำหนดเขตพื้นที่ป่าสงวน ป่าอนุรักษณ์ ป่าเศรษฐกิจให้ชัดเจน และให้สิทธิชุมชนใช้ประโยชน์จากป่า โดยคำนึงความเปราะบางเชิงนิเวศ ขีดจำกัดและศักยภาพในการฟื้นตัว เพื่อให้ชุมชนรู้สึกห่วงแหน เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
ในส่วนภาคกลางคือ โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ซึ่งต้องเร่งผลักดันให้มี พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ เพื่อเป็นกฎหมายในการแก้ไขปัฆญาอุทกภัย ภัยแล้ง และการจัดสรรน้ำให้มีประสิทธิภาพ จัดทำแผนการบริหารจัดการลุ่มน้ำ พัฒนาแนวทางการบริการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติ
สำหรับภาคใต้ คือโครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยจะมีการกำหนดและจำแนกเขตพื้นที่ที่มีปัฆญากัดเซาะชายฝั่งทะเล ตามระดับความรุนแรงและความเร่งด่วนของปัญหา พร้อมทั้งกำหนดบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบในการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งระหว่าหน่วยงานส่วนกลางและองค์กรปกครองท้องถิ่น กำหนดมาตรการป้องกันหาดทรายถูกทำลาย ปรับปรุงการออกแบบและมาตรฐการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานบริเวณชายฝั่ง โดยคำนึงถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสมุทรศาสตร์
สุดท้ายในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ โครงการแก้ไขปัญหาการกำจัดซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่ชุมชน โดยจะต้องเร่งรัดการออก พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมของภาครับ เอกชน ท้องถิ่นและประชาชนเพื่อรองรับการออกกฎหมายการเรียกคืนซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ยังต้องส่งเสริมการจัดการอุปกรณ์เหล่านี้อย่างถูกวิธี
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากการสัมมนาในวันนี้ จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาปรับปรุงก่อนนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบและประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ตามลำดับต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้เเล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 และประกาศใช้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ตามช่วงระยะเวลาของแผนฯ.