ยื่นดาบฟันโรงงานผิดไอยูยู (17 ก.พ. 59)

โพสต์ทูเดย์ 17 กุมภาพันธ์ 2559
ยื่นดาบฟันโรงงานผิดไอยูยู

อุตฯ รับลูกกฤษฎีกา เสนอแก้ พ.ร.ก.การประมง โอนอำนาจให้กรมประมงสั่งปิดโรงงานที่ทำผิดกฎไอยูยู
 
นายศักดา พันธุ์กล้า รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดภายหลังหารือกับกรมประมงกรณีการสั่งปิดโรงงานไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบว่าด้วยการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) ว่า แม้ว่า พ.ร.ก.การประมงพ.ศ. 2558 จะให้อำนาจกรมประมงตรวจสอบโรงงานที่ประกอบกิจการสัตว์น้ำ และหากพบว่าโรงงานใดทำผิดกฎไอยูยูจะต้องส่งเรื่องให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สั่งปิดโรงงานโดยอาศัยอำนาจ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535
 
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ กรอ.ไม่สามารถสั่งปิดโรงงานประกอบกิจการสัตว์น้ำได้ถาวร เนื่องจากอยู่นอกเหนืออำนาจ พ.ร.บ.โรงงาน เพราะกฎหมายระบุว่าการสั่งให้ปรับปรุงหรือสั่งพักใบอนุญาตชั่วคราวไปจนถึงการปิดโรงงานนั้นจะกระทำได้เฉพาะกรณีที่โรงงานไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมและด้านความปลอดภัย ซึ่งไม่รวมถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมาย
 
ดังนั้น กระทรวงจึงเสนอให้ปรับปรุง พ.ร.ก.ประมง โดยให้กรมประมงมีอำนาจสั่งปิดโรงงานประกอบกิจการสัตว์น้ำที่ทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการทำกฎไอยูยูได้ทันที โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรงงาน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแนะนำมาก่อนหน้านี้ซึ่งจะทำให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามข้อกำหนดของไอยูยู
 
นายศักดา กล่าวว่า กระทรวงยังเสนอให้มีการกำหนดและปรับปรุงคำจำกัดความโรงงานที่เกี่ยวกับกิจการประมงทุกประเภทไว้ในบัญชีแนบท้าย พ.ร.ก.ประมง เนื่องจากบัญชีแนบท้ายประเภทที่ 6 วงเล็บ 1-5 ตาม พ.ร.บ.โรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรงงานที่ทำประมงนั้นกำหนดเฉพาะโรงงานที่ทำประมงเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่ครอบคลุมโรงงานเครื่องปรุงรสที่รวมไปถึงน้ำปลา โรงงานห้องเย็นที่มีบางส่วนเกี่ยวข้องกับการแปรรูปสัตว์น้ำ
 
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีโรงงานที่ทำประมงแต่ไม่มีการแปรรูปสัตว์น้ำ 717 แห่ง และมีโรงงานอีกนับพันแห่งทำประมงควบคู่กับการแปรรูปสัตว์น้ำ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าโรงงานที่มีความเสี่ยงทำผิดกฎไอยูยูกระจายใน 23 จังหวัด เช่น กรุงเทพฯ ราชบุรี ชลบุรี ชุมพร ระยอง สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครศรีธรรมราช นายมีศักดิ์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ยังไม่เห็นหนังสือของสำนักงานกฤษฎีกาที่เสนอให้แก้ไข พ.ร.ก.ประมงเพื่อให้อำนาจกรมประมงสั่งปิดโรงงานที่ทำผิดกฎไอยูยูแทน กรอ.
 
แหล่งข่าวจากกรมประมง เปิดเผยว่า หากจะให้กรมประมงมีอำนาจสั่งผิดโรงงานประมงที่มีการใช้แรงงานผิดกฎหมายตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.การประมง รมว.เกษตรฯ จะเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แก้ไขมาตราดังกล่าว เพื่อให้อำนาจมาอยู่ที่อธิบดีกรมประมง