จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษคืบ การนิคมอุตสาหกรรมลงนามเช่าที่ดินรัฐ 18 ก.พ.นี้ (16 ก.พ. 59)
ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 16 กุมภาพันธ์ 2559
จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษคืบ การนิคมอุตสาหกรรมลงนามเช่าที่ดินรัฐ 18 ก.พ.นี้
จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษคืบ การนิคมอุตสาหกรรมลงนามเช่าที่ดินรัฐ 18 ก.พ.นี้
กนอ.เดินหน้าจัดตั้งนิคมฯในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน สระแก้ว สงขลา และตาก ประเดิมลงนามเช่าพื้นที่ ต.ป่าไร่ สระแก้ว กับกรมธนารักษ์ 18 ก.พ.นี้ ในราคาไร่ละ 2.6 หมื่นบาท หรือ ต้องจ่าย 17 ล้านบาทต่อปี พร้อมเปิดให้ผู้ลงทุนเข้าพื้นที่ได้ ไตรมาสแรกปีหน้า ขณะที่อีก 2 พื้นที่รอเคลียร์ชาวบ้านออกจากพื้นที่พร้อมจ่ายค่าชดเชย มั่นใจเปิดได้กลางปี 2561
นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา ผู้เชี่ยวชาญ ระดับ 12 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนว่า ขณะนี้ทาง กนอ.ได้มีการพิจารณาโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในระยะแรกไว้ 3 พื้นที่ ที่มีความเป็นไปได้ก่อน ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว ตากและสงขลา ซึ่งในส่วนของจังหวัดสระแก้วนั้นมีความคืบหน้ามากสุด โดยวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ ทาง กนอ.จะมีการลงนามในสัญญาเช่าพื้นที่ราชพัสดุกับกรมธนารักษ์ จำนวน 660.54 ไร่ ในตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ระยะเวลา 50 ปี เพื่อพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม ตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
ทั้งนี้ กนอ.จะจ่ายค่าเช่าพื้นที่ในอัตราไร่ละ 2.6 หมื่นบาทต่อปี หรือคิดเป็นเงินประมาณ 17 ล้านบาทต่อปี พร้อมกับค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าระหว่าง 1.6-3 แสนบาทต่อไร่ต่อ 50 ปี เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการลงทุนต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาคามเป็นไปได้และความเหมาะสมเชิงลึก การออกแบบ การจัดทำแผนแม่บทการพัฒนานิคม การศึกษาและจัดทำรายงานผลิตกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ รวมถึงการจัดทำรายละเอียดการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคมหรือเมษายนปีนี้
โดยโครงการจัดตั้งนิคมดังกล่าว จะต้องนำเรื่องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เห็นชอบก่อน เนื่องจากเป็นการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ที่บางส่วนจะต้องของบประมาณแผนมาใช้ในการลงทุน ซึ่งจะนำเสนอในช่วงเดือนมีนาคม และหลังจากนั้นจะนำผลรายงานศึกษาอีไอเอ เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)ในเดือนเมษายนนี้ และหลังจากนั้น จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าภายในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน กนอ.น่าจะเข้าไปพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวได้ และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 น่าจะเปิดให้เอกชนเช่าพื้นที่ลงทุนได้บางส่วน ซึ่งรูปแบบการดำเนินงานนั้นจะมีทั้งให้เช่าพื้นที่เปล่า และการเช่าโรงงานที่มีการก่อสร้างแล้วด้วย
สำหรับการจัดตั้งนิคมดังกล่าว จะใช้งบประมาณ 800 ล้านบาท ซึ่งจะต้องมีการขอไปทางรัฐบาลในการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้มาส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือจะเป็นงบลงทุนที่มาจากกนอ. โดยในปีแรกอาจจะใช้งบเพียง 280 ล้านบาทก่อน และจะไปงบลงทุนเต็มในช่วงปี 2561 ซึ่งตามแผนทาง กนอ.สามารถที่จะเปิดเชิญชวนให้เอกชนที่สนใจมาเช่าพื้นที่นิคม ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไปได้ แต่ขณะนี้ก็มีลูกค้าลงนามในสัญญาจองพื้นที่แล้วไม่ต่ำกว่า 1 ราย อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และบริการโลจิสติกส์เป็นต้น
นายอัฐพล กล่าวอีกว่า ส่วนพื้นที่ในตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เนื้อที่ 837.37 ไร่ และในอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา พื้นที่ 1,121.5 ไร่ นั้น อยู่ในขั้นการศึกษาความเป็นไปได้ และเริ่มทำการศึกษาอีไอเอ คู่ขนานกับกรมธนารักษ์ ในการเข้าเคลียร์พื้นที่จากกรณีการบุกรุกพื้นที่ของประชาชน โดยในส่วนของจังหวัดตากมีประชาชนยังบุกรุกอยู่ 97 ราย ที่ยังทำการเกษตรอยู่ ส่วนจังหวัดสงขลามีประชาชนอาศัยอยู่กว่า 200 ราย ซึ่งทั้ง 2 พื้นที่นี้ จะต้องมีการจ่ายค่าชดเชยให้กับประชาชน ซึ่งไม่ได้อยู่ในงบการดำเนินงานของ กนอ.
แต่อย่างไรก็ตาม ตามแผนการจัดตั้งนิคมทั้ง 2 พื้นที่นี้ ทางกนอ.มีเป้าหมายที่จะเข้าพัฒนาและเปิดดำเนินการให้ได้ราวกลางปี 2561 โดยในส่วนของพื้นที่จังหวัดตากจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1 พันล้านบาท ซึ่งมีผู้ประกอบการให้ความสนใจแล้ว 3 ราย และที่สงขลา ราว 1.2 พันล้านบาท มีผู้ประกอบการสนใจแล้ว 3 ราย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,131 วันที่ 14 – 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559