เครือข่ายประชาชนคัดค้าน ม.44 ยกเว้นใช้กฎหมายผังเมืองบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษ (1 มี.ค. 59)

Thai PBS 1 มีนาคม 2559
เครือข่ายประชาชนคัดค้าน ม.44 ยกเว้นใช้กฎหมายผังเมืองบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษ

เครือข่ายประชาชนเรียกร้องยกเลิกคําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2559 และที่ 4/2559 ที่เปิดให้มีการบริหารจัดการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษโดยยกเว้นบังคับใช้กฎหมายผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคาร เพราะจะกระทบต่อการทําลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนไทย

วันนี้ (1 มี.ค.) เวลา 10.30 น. ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่า ที่ห้องประชุมอาคาร กพร.ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล มีเวทีพูดคุยถึงผลกระทบจากคำสั่ง คสช.มาตรา 44 ฉบับที่ 3 และฉบับที่ 4/2559 ผู้เข้าร่วมพูดคุยเป็นตัวแทนเครือข่ายขอคืนผังเมือง และตัวแทนฝ่ายรัฐบาลโดยนายพิชัย อุทัยเชฏฐ์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นประธานในการพูดคุย ประเด็นพูดคุยสืบเนื่องก่อนหน้านี้จากทางเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และองค์กรภาคประชาชนในหลายจังหวัดได้ยื่นหนังสือต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาลให้ยกเลิกคําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2559 และที่ 4/2559

ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ให้เหตุผลที่ควรยกเลิกประกาศคําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2559 และที่ 4/2559 โดยประกาศคําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่า ด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้เหตุผลว่าประกาศคําสั่งฉบับนี้เป็นการเปิดทางให้มีการบริหารจัดการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง และกฎหมายควบคุมอาคาร เพื่อให้เกิดการจัดการพื้นที่โดยละเลยกระบวนการกลั่นกรองการพัฒนาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับชุมชน อันเป็นการทําลายหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม

ประเด็นต่อมา การพัฒนาเขตเศรษฐกิจควรเป็นไปด้วยความรอบคอบ คํานึงถึงศักยภาพหรือความสามารถพิเศษของคนในพื้นที่นั้น แต่กระบวนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลนี้ กลับกลายเป็นการเปิดโอกาสให้กับนายทุนได้รับสิทธิพิเศษด้านต่างๆ มากมาย อีกทั้งยังมีคําสั่งพิเศษ คสช. โดยเฉพาะประกาศคําสั่งฉบับนี้ที่เปิดทางให้กลุ่มทุนมีการประกอบกิจการ โดยไม่ต้องคํานึงถึงผังเมือง จะส่งผลกระทบต่อการทําลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนไทย การดําเนินการแบบนี้จะไม่นําไปสู่การปฏิรูป ดังที่รัฐบาลกล่าวอ้าง และประกาศคําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสําหรับการประกอบกิจการบางประเภท ทางตัวแทนรัฐบาลทำหน้าที่รับฟังข้อมูลจากทางเครือข่ายเป็นหลักโดยให้ทางเครือข่ายพูดคนละ 5 นาที หลังจากตัวแทนเครือข่ายนำเสนอข้อมูลจบ ทางตัวแทนรัฐบาลนำข้อมูลเสนอนายกรัฐมนตรี.

ด้านนายสมบูรณ์ คำแหง ตัวแทนเครือข่ายจาก จ.สตูล กล่าวว่า ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา จ.สตูล ถูกรุกจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เยอะมาก เช่น การสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ ที่ผ่านมาบ้านเมืองมีขื่อมีแปพอสมควร ประชาชนใน จ.สตูล ต่างสื่อสารว่าสตูลเป็นเมืองท่องเที่ยวมาตลอด เมื่อมีคำสั่ง คสช.ได้ทำให้หลายอย่างเปลี่ยนไป และพบว่าที่บ้านห้วยน้ำดำ อ.ควนกาหลง มีการเตรียมก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าขยะ 2 โรงในพื้นที่เดียว ซึ่งน่าจะทำไม่ได้หากมีกระบวนการผังเมืองการพัฒนาควรต้องเคารพการทำผังเมืองจังหวัดที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นต้องใช้กระบวนการตามกฎหมายให้สอดคล้องกับทิศทางที่ชุมชนต้องการใน จ.สตูล ทั้งนักธุรกิจ นักการเมือง ภาคประชาชน ซึ่งต่างก็พูดเหมือนกันว่าสตูลต้องเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว ไม่ใช่อุตสาหกรรมหนัก บัดนี้ คำสั่ง คสช.ที่มัดมือชกประชาชนนั้นทำให้กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย กฎหมายเป็นกฎหมู่ของทุนอุตสาหกรรมสกปรกไปเสียแล้ว

ด้านนายเสณี จ่าวิสูตร ตัวแทน จ.พัทลุง กล่าวว่า จ. พัทลุง เป็นแหล่งปลูุกข้าวที่สำคัญของภาคใต้ ราคาข้าวช่วงเวลานี้ราคาตกต่ำ ยางพาราราคาตกต่ำ ทำให้รายได้ของคนพัทลุงหายไปกว่าครึ่ง ชาวบ้านกำลังลำบากทางราชการยังจะเอามลพิษมาให้อีก และในเดือน พ.ย. 2558 มีการแอบสร้างเตาเผาขยะมีพิษ บริเวณทะเลลำปำ เมื่อมีการตรวจสอบพบว่าลักลอบสร้าง จึงฟ้องร้องไปทางจังหวัดให้มีการสอบสวน ต่อมา อบจ.พัทลุง และบริษัท ได้ลงนาม MOU จัดการขยะพัทลุง และลงพื้นที่ทำประชาคมที่ ต.พนมวังค์ แต่เกิดการคัดค้านของชุมชน ล่าสุด มีนายทหารยศ พล.อ. และ พล.ต.ลงพื้นที่ ทหารมาทำหน้าที่เป็นคนเปิดทาง จากนั้นผู้ประกอบการปักเสาตอหม้อ และลึกกว่าเดิม ไม่แน่ใจว่ามีการตกลงอนุญาตอะไรกันไหมบทสะท้อนว่ามาตรา 44 ฉบับมัดมือชกประชาชนนี้มีการปฏิบัติที่บิดเบือนไปจากหลักธรรมาภิบาล ทหารกลายเป็นนายหน้า หรือ รปภ.ของทุนอุตสาหกรรมสกปรกไปเสียแล้ว

ด้าน น.ส.วรรณิศา จันทร์หอม จาก จ.สงขลา กล่าวว่า คนในรัฐบาลหรือข้าราชการชอบบอกว่าแม้ไม่มีกฎหมายผังเมือง ก็ยังมี EHIA อยู่ แต่ในความเป็นจริงที่ จ.สงขลา พบว่ากระบวนการ EHIA ไม่ได้มีกระบวนการที่ชอบธรรม เพราะที่ผ่านมา มีโครงการจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ไม่ให้คนคัดค้านเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น แถมมีการแจกข้าวสาร แจกเสื้อโต๊ป หรือกรณีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ ต.ขุนตัดหวาย อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งในปัจจุบันมีการก่อสร้างเสร็จแล้ว 1 โรง ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ และกำลังจะสร้างโรงที่ 2 ขนาดเท่ากันห่างกันไม่ถึงกิโลเมตร การไม่มีผังเมือง ทำให้รู้สึกว่าไม่มีความชอบธรรม เพราะโรงงานเหล่านี้ผลิตกระแสไฟฟ้า ไม่ถึง 10 เมกะวัตต์ กฎหมายยกเว้นไม่ต้องทำ EIA เมื่อเว้นกฎหมายผังเมืองก็ยิ่งเอาเปรียบชุมชน โดย จ.สงขลา มีกลุ่มติดตามผังเมือง จ.สงขลา มีการติดตาม ทำข้อมูล และรูปธรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ผลิตอาหารทะเลของชุมชนเมื่อมีคำสั่ง คสช.ออกมา ทำให้ทุกสิ่งที่ชุมชนทำมาฝันสลาย มีคนกล่าวว่าดีใจมากที่คน อ.จะนะลุกขึ้นมาทำผังเมือง หลายพื้นที่มีคนส่วนน้อยมาร่วมกันจัดทำผังเมือง แต่คน อ.จะนะ ให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง จนมาถึงวันหนึ่งกลายเป็นรัฐบาลออกประกาศพิเศษ ไม่สามารถทำผังเมืองได้อีกต่อไป เราเหมือนถูกหลอก มันทำให้ชุมชนเสื่อมศรัทธาต่อ คสช.และรัฐบาล

ด้าน น.ส.กรรณิการ์ แพแก้ว จาก จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าขยะที่บ้านท่าสะท้อน จ.สุราษฎร์ธานี ขยะที่นำมาเผาในโรงไฟฟ้านำมาจาก เกาะสมุย เรื่องนี้เริ่มขึ้นเมื่อเดือน เม.ย.2558 ผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้นประกาศจะใช้มาตรา 44 กับนายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย หากไม่สามารถกำจัดขยะเก่าได้ เพราะทำให้เสียภาพลักษณ์เมืองท่องเที่ยว และ 1 เดือนต่อมา มีการทำประชาคมในหมู่ที่ 1 ต.ท่าสะท้อน อ.พุนพิน มีคนเข้าร่วม 30 กว่าคน ใช้เวลา 1 ชั่วโมง พูดถึงข้อดีของโรงไฟฟ้าขยะเท่านั้น ต่อมามีการนำเรื่องเข้าสู่เวทีประชุมสภา อบต. 2ครั้งมีชาวบ้านมาคัดค้านทั้ง 2 ครั้ง จนครั้งที่ 3 อบต.หนีไปจัดประชาคมที่ ต.ท่าข้าม อ.พุนพิน พื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะใช้พื้นที่ 360 ไร่ เป็นที่ดินของนักการเมืองใหญ่ระดับประเทศที่เป็นคนในพื้นที่ท่าสะท้อน ขายที่ดินติดแม่น้ำท่าสะท้อนให้กับบริษัทโรงไฟฟ้าขยะ โดยในชุมชน มีแม่น้ำท่าสะท้อนซึ่งเป็นแม่น้ำที่ มีความสำคัญ เพราะชุมชนใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค เลี้ยงปลาในกระชังตลอดสายน้ำ แม่น้ำท่าสะท้อนไหลไปรวมกับจนแม่น้ำตาปี เกษตรกรใช้น้ำปลูกกล้วยหอมทองส่งออกไปยังญี่ปุ่น สร้างรายได้ให้เกษตรกรจำนวนไม่น้อย มีป่าพรุกระจูดเกือบ 1,000 ไร่ในชุมชนมีงานหัตถกรรมส่งออกไปขายประเทศสวีเดน หากเกิดน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าขยะ จะส่งผลกระทบต่อรายได้ และสุขภาพของคนท่าสะท้อน

ด้านนายอัครเดช ฉากจินดา จาก จ.กระบี่ กล่าวว่า ผังเมืองกระบี่เป็นผังเมืองที่ดีมาก เพราะทำร่วมกันมาจากหลายภาคส่วน กระบี่มียุทธศาสตร์ที่จะรักษาธรรมชาติ ผังเมืองสีเขียวอยู่ใน 5 อำเภอ และมีแรมซาไซต์ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญกว่า 100,000 ไร่ที่สมบูรณ์มาก ปัญหาคือการยกเลิกคำสั่งผังเมือง โดยประกาศฉบับที่ 4/2559 จะส่งผลกระทบในวงกว้าง เช่น การก่อสร้างท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหิน ในพื้นที่แรมซาไซต์กว่า 100,000 ไร่ หากปล่อยให้กระบี่โดนทำลายจะส่งผลกระทบแก่ประเทศ การท่องเที่ยวอันดามันที่หล่อเลี้ยงผู้คนอย่างยั่งยืนจะหมดไปอย่างแน่นอน

รัฐบาลควรต้องยกเลิกประกาศ คสช.ฉบับมัดมือชกประชาชน

ด้านนายประดิษฐ์ ปานสว่าง จากชุมชนคลองน้อย จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า มีการก่อตั้งคลังก๊าซโดยชาวบ้านไม่ทราบเรื่อง ตั้งอยู่ในพื้นที่แรมซาไซต์ แต่ไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถขออนุญาตทำได้ ผู้ประกอบการมีการปักเสาในพื้นที่ปากน้ำ และพื้นที่ทะเล มีการร้องเรียนไปที่ศูนย์ดำรงธรรม กรมเจ้าท่าแจ้งว่าการทำท่าเทียบเรือเป็นกฎหมายเฉพาะของเจ้าท่า ไม่ต้องให้ชาวบ้านมาแสดงความคิดเห็นก็ได้ สุดท้าย 18 ม.ค.ที่ผ่านมา มีการทำประชาคม แต่ชาวบ้านไม่ยอมเข้าร่วม เพราะเห็นถึงความไม่ถูกต้อง วันที่ 20 ม.ค.มีประกาศ คสช.ออกมา ทำให้ยิ่งตอกย้ำว่าสิ่งที่บริษัททำนั้นทหารรับรองแล้ว ชุมชนไม่เข้าใจว่าในพื้นที่แรมซาไซต์ทำได้อย่างไร ปัจจุบันแม้ศูนย์ดำรงธรรมจะบอกว่าให้ชะลอการดำเนินการ แต่ผู้ประกอบการยังดำเนินการต่อนี่เพราะมีคำสั่ง คสช.เอื้อให้นายทุนกล้าเย้ยกฎหมาย

นายกฤติ ยอดทอง ตัวแทน อ.ไพศาลี นครสวรรค์ กล่าวว่า เพิ่งเกิดสถานการณ์เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าพลังขยะมีการเดินเรื่องกับ อบต.ตั้งแต่ปี 2553 แต่ประชาชนยังไม่รู้เรื่อง มีการทำประชาพิจารณ์หมู่บ้านหนึ่ง แต่ก่อสร้างอีกหมู่บ้านหนึ่ง หมู่บ้านที่ตั้งโรงไฟฟ้า สร้างที่หมู่ 8 ต.ไพศาลี อ.ไพศาลี ตั้งก็ห่างจากประปาหมู่บ้านเพียง 1 กิโลเมตร อีกทั้งตำแหน่งโรงไฟฟ้าขยะตั้งสูงกว่าจุดผลิตประปาด้วย ชาวบ้านมารู้เรื่องเมื่อทางบริษัทขนย้ายอุปกรณ์ก่อสร้างเข้ามา และได้รับใบอนุญาตพร้อมกับคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 4/2559 เมื่อไม่นานที่ผ่านมา ทางโรงงานเชิญตัวแทนราชการหลายหน่วยมาวางศิลาฤกษ์ ล่าสุด ทางบริษัททำหนังสือส่งไปยัง คสช.เพื่อให้นำคนเห็นต่างจำนวน 8 คนไปปรับทัศนคติที่ค่ายจิรประวัตินี่คือผลพวงจากประกาศ คสช.ฉบับที่ 3 และที่ 4/2559 ที่เป็นการมัดมือประชาชนให้ทุนอุตสาหกรรมสกปรกชกอชาวบ้านถูกกดไว้ด้วยฝ่ายทหาร ซึ่งไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง

ด้านนายชำนาญ ศิริรักษ์ ตัวแทนจาก จ.ชลบุรี กล่าวว่า พื้นที่ชุมชนที่ต้องรองรับขยะจากชลบุรีนั้น โรงงานและกองขยะมาตั้งใกล้โรงเรียน ชุมชน มีตัวแทนราชการนำคำสั่ง คสช.มาอ้างว่า หากคัดค้านไม่ยอมรับจะเอาทหารมาจับ ชุมชนเกิดความแตกแยกขัดแย้งขัดเจน ชาวบ้านใน จ.ชลบุรี เคยสู้ในกรณีนี้โดยใช้หลักกฎหมาย ยื่นหนังสือแก่ทางราชการตามขั้นตอนจนมีการชะลอโครงการไว้ก่อนได้ แม้ที่ดินจะมีการซื้อขายเรียบร้อยแล้ว แต่พอมีคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3 และที่ 4 เหมือนทหารได้เปิดไฟเขียว ฝ่ายอุตสาหกรรมจึงเดินหน้า ทั้งที่มีการชะลอไว้ก่อนแล้ว ขณะนี้โรงงานกำลังเดินหน้าปักเสาเข็มราชการอ้างคำสั่ง คสช.จะจับชาวบ้านที่คัดค้าน นี่คือจุดเสื่อมของรัฐบาลและ คสช.

ด้านนายสมิท เย็นสบาย ตัวแทน จ.สระแก้ว กล่าวว่า จ.สระแก้วเป็นพื้นที่เนิน กักเก็บน้ำได้น้อย และการมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะทำให้มีการแย่งชิงการใช้น้ำจากชุมชน ภาคการเกษตรและชุมชนจะย่ำแย่ ชาวบ้านไม่ต้องการ ชาวบ้านได้ถามทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ไปว่าชาวบ้านจะได้อะไร แต่ยังไม่ได้คำตอบ พื้นที่สระแก้วมีการทำเกษตรกรรมร้อยละ 65 ก่อนหน้านี้จะมีอุตสาหกรรมฮาลาลมาตั้ง ซึ่งใช้ปุ๋ยชีวภาพจำนวนมากเป็นความหวังของชุมชน แต่สุดท้ายก็โดนอุตสาหกรรมผลักออกไป ตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแทน โดยอ้างว่าจากนี้ไปเมืองสระแก้วจะเหมือนรีสอร์ท หากว่าไม่เป็นจริงอย่างที่แจ้งชาวบ้านไว้ จะฟ้องขอให้รัฐบาลฟังเสียงประชาชนด้วย อย่าฟังแต่ข้าราชการ

ด้านน.ส.เสาวคนธ์ รสสุคนธ์ จาก จ.ชุมพร กล่าวว่า จ.ชุมพร เป็นจังหวัดเดียวในภาคใต้ที่มีผังเมืองสีฟ้า คือพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมา จ.ชุมพร มียุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดแบบ 3 ขา คือประมง เกษตร ท่องเที่ยว แต่คำสั่ง คสช.เป็นการทำลายเจตนารมณ์ของยุทธศาสตร์จังหวัดที่คนชุมพรต้องการคำสั่งที่ 4/2559 ทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนระหว่างอุตสาหกรรมพลังงานและการท่องเที่ยว ซึ่งไปด้วยกันไม่ได้ ซ้ำแผนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ยังไม่ได้ถูกถอดออกจากแผนพัฒนาพลังงาน

ด้าน นายสมนึก จงมีวศิน กล่าวว่า ประกาศ คสช.ที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้สังเคระาห์ยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม และแผนการพัฒนาของจังหวัดนั้นๆ ทุกจังหวัดมีอัตลักษณ์ของพื้นที่ โดยเฉพาะโรงงานลำดับที่ 88 เขาไม่ได้รังเกียจโรงไฟฟ้า แต่รังเกียจผลกระทำที่เกิดจากโรงไฟฟ้า คำสั่งนี้ทำลายการมีส่วนร่วมภาคประชาชน