"โพแทชหมิงต๋า" สะดุดอุตฯเร่งเคลียร์มวลชนหวั่นซ้ำรอยอัครา (6 ส.ค. 59)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 6 สิงหาคม 2559
"โพแทชหมิงต๋า" สะดุดอุตฯเร่งเคลียร์มวลชนหวั่นซ้ำรอยอัครา
เหมืองโพแทช "ไชน่าหมิงต๋า" สะดุด "กพร." เร่งเคลียร์ขัดแย้งหวั่นซ้ำรอยอัคราฯ
นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมพื้นฐานอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรม ออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทชให้กับบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร จำนวน 12 แปลง แปลงละประมาณ 10,000 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมด 116,875 ไร่ ระยะเวลา 5 ปี ไปเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2558 นั้น ขณะนี้กำลังประสบปัญหาไม่สามารถขุดเจาะสำรวจแหล่งแร่ในพื้นที่ดังกล่าวได้ เนื่องจากกลุ่ม NGO จากพื้นที่ จ.อุดรธานี เข้ามารวมตัวกับชุมชนรอบเหมือง จ.สกลนคร เพื่อต่อต้าน เพราะกังวลว่าการขุดเหมืองแร่ใต้ดินจะส่งผลกระทบทำให้ดินทรุดตัว รวมถึงการถลุงแร่อาจจะสร้างมลพิษทางน้ำ ทางอากาศ และเสียงเช่นเดียวกับพื้นที่ทำเหมืองอื่น ๆ ในประเทศ ส่งผลให้บริษัทเดินหน้าการขุดเหมืองได้ไม่เต็มที่ในช่วงนี้
ดังนั้น กพร.จึงสั่งการให้บริษัทและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร (อบจ.) ลงพื้นที่เพื่อทำการสำรวจถึงปัญหาที่แท้จริงอย่างต่อเนื่อง และให้เร่งการสร้างความรู้ ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและชุมชนโดยเร็ว เนื่องจากมีความกังวลว่าจะเกิดปัญหาบานปลายจนถึงขั้นเกิดความขัดแย้ง ซึ่งหากย้อนกลับไปถึงประเด็นความขัดแย้งดังกล่าวแล้ว จะไปสอดรับกับนโยบายรัฐบาลในเรื่องนโยบายสาธารณะในเชิงป้องกัน ซึ่งเป็นที่มาของการไม่ต่อใบอนุญาตโรงโลหกรรม ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) "เหมืองแร่ทองคำชาตรี"
และหากเกิดความขัดแย้งกับเหมืองแร่โพแทชขึ้นจริง กพร.กังวลว่าจะส่งผลทำให้นักลงทุนไม่เดินหน้าต่อ ขณะที่แร่โพแทชที่ต้องการใช้ในประเทศจะมีปริมาณไม่เพียงพอ ไม่สามารถสร้างโรงงานแม่ปุ๋ยตามที่รัฐบาลต้องการให้เกิดได้ เพราะจากสถิติพบว่าประเทศไทยได้สั่งนำเข้าปุ๋ยโพแทชในแต่ละปี 700,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 9,000 ล้านบาท ส่งผลให้ประเทศไทยเสียดุลการค้าเป็นจำนวนมาก เหมืองแร่โพแทชในประเทศไทยจำเป็นต้องมี และต้องไม่ให้เกิดการสะดุดในการลงทุน เนื่องจากไทยยังมีความจำเป็นที่ต้องมีโพแทชไว้ใช้ เพื่อเป็นวัตถุดิบในการเป็นส่วนประกอบต่าง ๆ เช่น ปุ๋ย และอื่น ๆ
สำหรับภาพรวมของการดำเนินธุรกิจเหมืองแร่โพแทชในประเทศ ปัจจุบันมี 5 บริษัท ส่วนแรกที่ได้ประทานบัตรขุดเจาะแล้วเพียง 2 แห่ง บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ พื้นที่ 9,700 ไร่ มูลค่าการลงทุนกว่า 45,000 ล้านบาท กำลังการผลิต 1.1 ล้านตันต่อปี ขณะนี้อยู่ในแผนการดำเนินงานระยะที่ 1 เริ่มการซ่อมบำรุงอุโมงค์ใต้ดินหลังขุดเจาะสำรวจแหล่งแร่มานานถึง 30 ปี และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด เริ่มขุดอุโมงค์ใต้ดินได้ประทานบัตรเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2558 พื้นที่ 9,005 ไร่ 1 งาน 63 ตารางวา อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา กำลังการผลิต 1 แสนตันต่อปี ซึ่งปัจจุบันราคาแร่โพแทชอยู่ที่ 12,200 บาทต่อตัน มูลค่าการลงทุนโครงการประมาณ 3,000 ล้านบาท
ส่วนที่ได้รับอาชญาบัตรพิเศษและผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว 3 แห่ง คือ 1.บริษัท เอเชียแปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด อยู่ระหว่างการยืนขอประทานบัตร พื้นที่ 26,446 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวา ใน อ.เมือง จ.อุดรธานี กำลังการผลิต 2 ล้านตันต่อปี 2.บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด อยู่ระหว่างการสำรวจแหล่งแร่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร และ 3.บริษัท โรงปัง ไมนิง จำกัด พื้นที่ 4 แปลง หรือ 40,000 ไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
ทั้งนี้ จากรายงานใบอนุญาตอาชญาบัตร ณ วันที่ 1 ส.ค. 2559 พบว่ามีบริษัทที่ได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแหล่งแร่โพแทชจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล ปิโตรเลียม กรุ๊ป จำกัด ได้อาชญาบัตรสำรวจโพแทชและเกลือหินเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2558 อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา จำนวน 13 แปลง พื้นที่ 130,000 ไร่, บริษัท ศักดิ์ศรีไทย ดีเวลอปเมนท์ จำกัด สำรวจแร่โพแทช จำนวน 2 แปลง พื้นที่ 20,000 ไร่ เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2558 อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา, บริษัท สหชาติเศรษฐกิจ จำกัด จำนวน 2 แปลง พื้นที่ 20,000 ไร่ เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2558 อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา, บริษัท แปซิฟิค มิเนอรัล รีซอร์สเซส จำกัด จำนวน 6 แปลง พื้นที่ 56,020 ไร่ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2558 อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์
สำหรับความคืบหน้ากรณีของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) นายอาทิตย์ วุฒิคะโร เปิดเผยในฐานะทีมที่ปรึกษาด้านกฎหมายกรณีเหมืองทองคำฯนี้ว่า เมื่อเดือน มี.ค. 2559 ที่ผ่านมา บริษัทอัคราฯได้ทำการยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรม ต่อศาลปกครองในข้อหาที่ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมไม่อนุญาตให้บริษัทปรับเปลี่ยนวิธีการขุดสำรวจแร่ใหม่ หลังจากที่ได้พยายามยื่นขออนุญาตไปแล้วหลายครั้ง ส่งผลให้บริษัทไม่สามารถขุดแร่ในพื้นที่โครงการใหม่ได้ เนื่องจากวิธีเดิมมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายสูง และเพื่อลดต้นทุนโดยการขอใช้วิธี ในเชิงเทคนิคใหม่ไปคำนวณพื้นที่หาปริมาณทองว่า หลุมดังกล่าวจะมีปริมาณทองคุ้มหรือไม่ และจะทำการกำหนดในแผนงานเพื่อคำนวณออกมาเป็นมูลค่ายื่นต่อเจ้าหนี้คือธนาคาร จะได้คำนวณการใช้หนี้จากเงินที่กู้มาซึ่งยังเหลือหนี้ค้างอยู่กว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งต้องใช้คืนภายใน 3 ปี