ภาคประชาชนยื่นสองหมื่นกว่าชื่อ ถอนร่าง กม.ปิโตรเลียม (4 ส.ค. 59)
ประชาไท 4 สิงหาคม 2559
ภาคประชาชนยื่นสองหมื่นกว่าชื่อ ถอนร่าง กม.ปิโตรเลียม
คปพ. ยื่นหนังสือต่อสนช. ขอให้ถอนร่าง กม.ปิโตรเลียม ชี้ประเทศเสียประโยชน์ และยื่น 2 หมื่นชื่อเสนอร่างฯ ฉบับประชาชน รสนาชี้ พ.ร.บ.ฉบับกระทรวงพลังงานเอื้อบริษัททุน ผูกขาดธุรกิจพลังงาน
4 ส.ค.2559 เวลา 9.00 น. ที่ หน้ารัฐสภา ประชาชนกว่า 500 คน เดินทางมายื่นหนังสือต่อ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยเรียกร้อง 1.ขอให้นายกฯถอนร่าง พ.ร.บ.2 ฉบับ คือร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ฉบับของกระทรวงพลังงานออกไป 2.ขอให้นำรายชื่อภาคประชาชน 21,480 ชื่อ เข้าไปที่กรรมาธิการที่กำลังพิจารณาในวาระที่สอง และขอให้ยืดเวลาการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับไปก่อน 3.ขอให้ สนช. เข้าชื่อเป็น 25 คน เป็นตัวแทนภาคประชาชนที่เอาร่างกฎหมายฉบับของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.) ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของประชาชนที่ต้องการจะปฏิรูปเข้าพิจารณา
ภาพ เครือข่ายจิตอาสาประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย
ในเนื้อหาหนังสือดังกล่าวได้ให้เหตุผลต่อว่าร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ฉบับของกระทรวงพลังงาน ว่า 1.ไม่มีการบัญญัติกฎหมายเพื่อแก้ไขให้ประเทศสามารถนำอธิปไตยปิโตรเลียมไทยที่เสียไปเกือบ 50 ปีในระบบสัมปทานแบบเดิมกลับคืนมาเป็นของรัฐไทยได้ เพราะยังคงให้เอกสิทธิในการบริหารและการขายตกเป็นของเอกชนเหมือนระบบสัมปทานเดิม 2.ในเนื้อหากฎหมาย ไม่ได้ระบุถึงเกณฑ์และวิธีการเลือกระบบสัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต หรือระบบจ้างผลิต อีกทั้งไม่มีความชัดเจนในวิธีการประมูลคัดเลือกเอกชนในการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรมอย่างแท้จริง 3.การไม่แก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหา
รสนา ชี้ พ.ร.บ. ปิโตรเลียม ฉบับกระทรวงพลังงาน เอื้อ บ.เอกชน ผูกขาดสัมปทาน
รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ตัวแทนกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย กล่าวว่า เป็นการรวบรวมรายชื่อตามกฎหมายเข้าชื่อเพื่อนำเสนอร่างกฎหมาย พ.ร.บ.การประกอบกิจการปิโตรเลียม ฉบับของประชาชน ซึ่งยกร่างฯขึ้นตามผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญศึกษาเรื่องปัญหาการใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 กับ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ซึ่งตอนนั้นมีเหตุการณ์ที่ประชาชนคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 26 มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 แล้วถูกเลื่อนมาเรื่อยๆจนมาถึงหลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ซึ่งก็ยังเดินหน้าที่จะเปิดสัมปทานต่อแต่ก็ยังมีกลุ่มคัดค้าน จนในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีคำสั่งให้เลื่อนการสัมปทานไปไม่มีกำหนดและมีคำสั่งให้ไปแก้ไขกฎหมายก่อนตามที่ประชาชนเรียกร้อง แล้วจึงมอบหมายให้กรรมาธิการในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ศึกษาถึงปัญหาก่อนใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
ภาพ เครือข่ายจิตอาสาประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย
รสนา กล่าวต่อว่า ในระหว่างที่ทำการศึกษาข้อเสียที่เกิดขึ้นนั้น กระทรวงพลังงานก็ยกร่างฯแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.... ขึ้นมาเลย โดยแก้ไขเพียงแค่ 4 มาตรา ส่วน พ.ร.บ.ปิโตรเลียมไม่ได้แก้เลย และก็ส่งเข้ามาใน สนช. ซึ่งตอนนั้นประชาชนก็คัดค้าน ขณะนั้นที่ส่งไปให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) ก็ถูกค้านตลอดมาจนในที่สุดนายกฯก็ส่งไปที่กฤษฎีกาแล้วก็มีคำสั่งให้ปรับแก้ตามที่ประชาชนเรียกร้อง แต่ปรากฎว่าการปรับแก้ก็คือการเพิ่มเพียงคำว่าระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างผลิตแต่ว่าไม่มีกลไกที่มารองรับระบบใหม่ เพราะฉะนั้นก็เลยกลายเป็นว่าร่างกฎหมายของกระทรวงพลังงานที่ออกมายังคงต้องการใช้ระบบเดิมคือระบบสัมปทาน
‘ระบบสัมปทานเป็นระบบที่กรรมสิทธิ์ในเรื่องปิโตรเลียมมันเป็นของเอกชน ประเด็นปัญหาที่สำคัญคือระหว่างนี้แหล่งสัมปทานปิโตรเลียม 2 แหล่งคือ1.บงกช 2.เอราวัณ กำลังหมดอายุสัมปทาน ในปี พ.ศ.2565, 2566 ตามกฎหมายคือไม่สามารถต่อสัมปทานได้อีก ก็คือต้องไปใช้รูปแบบอื่น ประชาชนจึงเสนอว่าใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต แล้วก็ต้องมีบริษัทพลังงานแห่งชาติ เป็นองค์กรที่จะมาทำหน้าที่ในการบริหารจัดการปิโตรเลียมที่ได้รับการจัดการแบบแบ่งปันผลผลิตกับบริษัทเอกชน’ รสนา กล่าว
รสนา กล่าวต่อว่า ทีนี้กระทรวงพลังงานนั้นไม่ต้องการบริษัทพลังงานแห่งชาติ เพราะว่าบรรดาบริษัทเอกชนนั้นไม่ต้องการ เพราะถ้าหากมีบริษัทดังกล่าวจะทำให้บริษัทที่ดูแลพลังงานของเอกชนไม่สามารถผูกขาดราคาพลังงานตามที่เป็นอยู่ในเวลานี้ เพราะฉะนั้นตอนนี้เราจึงค้าน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับที่เข้าไปในสภาฯ มันไม่ได้เป็นไปตามผลการศึกษาของ สนช.เลย การแก้ไม่ได้ปรับโจทย์สิ่งที่ประชาชนเรียกร้องให้ปฏิรูป และไม่ได้ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาจุดอ่อนที่ประเทศเสียเปรียบในเรื่องของการยกทรัพยากรปิโตรเลียมให้เอกชนเอาไปผลิต
‘นายกรัฐมนตรีจะยังฟังเสียงประชาชนหรือไม่ในขณะนี้ จริงๆ แล้วนายกฯเคยถอนร่างกฎหมายจีเอ็มโอ ออกจากสนช.เพราะว่ากลุ่มที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องจีเอ็มโอได้ชี้แจงให้นายกฯฟังถึงข้อเสียผลกระทบที่จะมีต่อพืชผักท้องถิ่นถ้ากฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ ซึ่งท่านายกฯก็เห็นว่าจำเป็นที่จะต้องถอนออกไปก่อนเพื่อให้ศึกษา ซึ่งกรณีก็เช่นเดียวกัน ท่านนายกฯเคยบอกมาแล้วว่าให้มีการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม โดยเปิดโอกาสให้ฟังเสียงประชาชน แต่กระทรวงพลังงานไม่ได้ฟังแล้วก็เดินหน้าไป ซึ่งการทำแบบนี้ถือว่าเราอยู่ในสถานการณ์ปฏิรูปใช่ไหม แล้วเรื่องการปฏิรูปพลังงานประชาชนก็เรียกร้องก่อนรัฐประหาร ดังนั้นการที่กระทรวงพลังงานเสนอไปในสภาฯแล้วจะมาบังคับใช้มันก็จะเป็นการสร้างความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ’ รสนา กล่าว