กฟผ. โต้" กรีนพีซ" ข้อมูลคลาดเคลื่อน ยัน "โรงไฟฟ้ากระบี่" เป็นตามมาตรฐาน (4 ส.ค. 59)

Green News TV 4 สิงหาคม 2559
กฟผ.โต้ กรีนพีซ ข้อมูลคลาดเคลื่อน ยัน ‘โรงไฟฟ้ากระบี่’ เป็นตามมาตรฐาน

กฟผ.แจงราคาประมูล “โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่” เป็นไปตามมาตรฐาน หลังกรีนพีซแถลงการณ์ตั้งข้อสังเกต ระบุควบคุมดีกว่าโรงไฟฟ้าเพื่อนบ้าน

จากกรณีที่กรีนพีซ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2559 ระบุถึงกรณีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดซองประกวดราคาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ขนาด 870 เมกะวัตต์ โดยมีผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 3.2 หมื่นล้านบาทนั้น สร้างความกังวลถึงประสิทธิภาพและการกำกับดูแลผลกระทบ เนื่องจากเป็นราคาที่ต่ำกว่าที่องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 600 เมกะวัตต์ ที่มีการควบคุมมลพิษที่เข้มงวด จะมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ที่ 6.028 หมื่นล้านบาท

ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2559 กฟผ.ได้ออกชี้แจงผ่านเว็บไซต์ www.egat.co.th โดยระบุว่าข้อมูลของกรีนพีซนั้นมีความคาดเคลื่อน เนื่องจากข้อมูลของ IEA ตามที่อ้างนั้น มีการระบุว่าต้นทุนค่าก่อสร้างของโรงไฟฟ้าถ่านหิน Ultra- supercritical ขนาด 600 เมกะวัตต์ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงราคารวมประมาณ 17,000-53,000 ล้านบาท โดยกรีนพีซระบุว่าเป็นราคา 33,420 ล้านบาท ซึ่งจากการตรวจสอบราคาดังกล่าวเป็นราคาที่รวมอุปกรณ์ควบคุมมลภาวะตามมาตรฐานสากลแล้ว คือ ระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (FGD) ระบบควบคุมก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (SCR) อุปกรณ์ดักจับฝุ่น (ESP)

กฟผ.ยังระบุอีกว่า กรีนพีซได้มีการบวกราคาซ้ำเพิ่มเติมจากข้อมูลของ NESCAUM โดยเป็นราคาตามมาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับค่าใช้จ่ายของโรงไฟฟ้าถ่านหินในการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมมลภาวะต่างๆ ที่ทำให้ราคาอุปกรณ์เพิ่มขึ้นอีก อาทิ FGD 13,400 ล้านบาท SCR 10,000 ล้านบาท และ ESP 3,360 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 26,860 ล้านบาท ทำให้ราคาโรงไฟฟ้าของกรีนพีซที่ระบุมากลายเป็น 60,280 ล้านบาท แทนที่จะเป็น 33,420 หมื่นล้านบาท

“ราคาประมูลประมาณ 32,300 ล้านบาท เป็นราคาที่มีอุปกรณ์และงานเป็นไปตามข้อกำหนดการประกวดราคาในระดับนานาชาติ โดยเป็นเทคโนโลยีสะอาดที่รวมอุปกรณ์ควบคุมมลภาวะตามมาตรฐานสากลแล้ว คือ FGD, SCR, ESP รวมทั้งระบบกำจัดสารปรอท ซึ่งเป็นราคาใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดทั้งของเอกชนในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน โดยผู้เข้าประกวดราคาอีกรายหนึ่งเสนอราคาประมาณ 34,900 ล้านบาท” คำชี้แจงของ กฟผ.ระบุ

นอกจากนี้ ในส่วนของประเด็นที่กรีนพีซระบุว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ตั้งอยู่ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินตั้งอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติ หากบริษัทประเทศจีนชนะการประมูลจะต้องตระหนักว่าการดำเนินโครงการนั้นขัดต่อนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของตนนั้น กฟผ.ชี้แจงว่าโรงไฟฟ้ากระบี่ได้มีการควบคุมการปล่อยมลสารดีกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดในประเทศไทย และดีกว่าข้อกำหนดโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ๆ ของประเทศเพื่อนบ้านในระยะเวลาใกล้เคียงกัน

กฟผ.ได้ชี้แจงอีกว่า ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ฝุ่นละออง รวมไปถึงโลหะหนัก ที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ได้ถูกควบคุมโดยมาตรฐานสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานราชการต่างๆ ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ (สผ.) และก่อนการดำเนินโครงการต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามขั้นตอน

http://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=1593%3Aarticle-20160803-2&catid=49&Itemid=251