ไทยแลนด์ 4.0 'เศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อม' เดินไปอย่างไรให้ยั่งยืน (6 ส.ค. 59)

สำนักข่าวอิศรา 6 สิงหาคม 2559
ไทยแลนด์ 4.0 'เศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อม' เดินไปอย่างไรให้ยั่งยืน

เมื่อก่อนเราเป็นประเทศเกษตร 2.0 เราสูญเสียพื้นที่ป่า ต่อมาเราขยับตัวเองเป็น 3.0 เราเจอเรื่องสารเคมีและวันนี้ก็ประกาศจะเป็น 4.0 เราจะเสียอะไรอีก อันนี้คือคำถามใหญ่ในการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม 

ใน(ร่าง)แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2560-2564  กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ทั้งหมด 4 ยุทธศาสตร์หลัก คือ (1) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและเป็นธรรม (2) การจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ได้รับการป้องกัน บำบัด และฟื้นฟู (3)เพื่อประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน (4) สร้างศักยภาพเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติและส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศ

โจทย์ใหญ่ในวันนี้คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งสองอย่างจะผสานกันอย่างไร ให้สังคมไทยพัฒนาอย่างยั่งยืน 

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ กล่าวถึงความสำเร็จของการผสานพลังระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ต้องอาศัยองค์ประกอบต่างๆ ให้เดินไปทิศทางเดียวกัน

"เราจะบอกว่า ผลักดันเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมขึ้น GDP เพิ่มขึ้น แต่สิ่งแวดล้อมลดลง การปล่อยคาร์บอนก็สูงขึ้น ถ้าเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ไปในทางเดียวกัน ก็จะก่อให้เกิดกลุ่มผลประโยชน์ที่ขัดกัน ซึ่งแน่นอนว่าความสำเร็จย่อมขึ้นกับ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจในอนาคต วันนี้บ้านเราไม่เคยมีการศึกษา เราเป็นสังคมให้ความสำคัญนั่งประชุมมาก โดยไม่มีฐานของความรู้ โครงสร้างเศรษฐกิจทางสังคมเป็นอย่างไร เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงที่มีการเปลี่ยแปลงเยอะมาก เราบอกไทยแลนด์ 4.0 แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร โลกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ส่งผลต่อการบริโภค"

ปัจจัยต่อมาที่จะส่งผลต่อความสำเร็จต้องเกิดขึ้นกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน  ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ยกตัวอย่างเรื่องการจัดการขยะ ถ้าประชาชนไม่คัดแยกขยะ การจัดการก็ไม่เกิด  จากนั้นต้องอาศัยข้อตกลง (commitment) ของหน่วยงานที่ทำเรื่องสิ่งแวเดล้อม 4.0 หน้าตาจะเป็นอย่างไร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร การท่องเที่ยว คืออะไร จะมีผลอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร  

เมื่อก่อนเราเป็นประเทศเกษตร 2.0 เราสูญเสียพื้นที่ป่า ต่อมาเราขยับตัวเองเป็น 3.0 เราเจอเรื่องสารเคมีและวันนี้ก็ประกาศจะเป็น 4.0 เราจะเสียอะไรอีก ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ บอกว่า นี่คือคำถามใหญ่ในการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะปัญหาที่ผ่านมายังแก้ไม่ได้ แต่แบบใหม่จะมาแล้ว ปัญหาเก่ายังคงสะสมพอกหางหมูยังไม่ได้มีการแก้ วันนี้ภาคการเกษตรเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล เราไม่เคยเรียนรู้ เราไม่มีความรู้เรารู้ว่าทุกอย่างเปลี่ยนหมดเเล้ว

"คนจนไม่ได้เช่าที่นาอีกต่อไป มีแต่คนรวยเช่าหมดเเล้ว คนจนไปอยู่เดียวดายชายขอบและยากจน" 

ในแง่การท่องเที่ยว  ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ บอกว่า ทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยหวังพึ่งการท่องเที่ยว ซึ่งกระแสใหญ่คือกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน ในทุกปีนักท่องเที่ยวจีนขยายตัว 8% และคาดว่าในปี 2559 จะมีนักท่องเที่ยวจากจีนเพิ่มากถึง 10 ล้านคน ปัญหาเรื่องนักท่องเที่ยวจีนมีให้เห็นตลอด แต่อย่าลืมว่า จำนวนที่เข้ามามีเพียงเล็กน้อย อนาคตกำลังมาอีกมากมายมหาศาล

จากการสำรวจพบว่า คนจีนเที่ยวจีน 3.6 พันล้านครั้ง และบางครั้งการเที่ยวเมืองจีนแพงกว่าการนั่งเครื่องมาเมืองไทย ยิ่งนโยบายของจีนที่พัฒนาให้ทุกเมืองมีสนามบิน สายการบินทุนต่ำก็เปิดเส้นทางบินตรงมากขึ้น วันนี้เขามาแค่ครึ่งเปอร์เซ็นก็มหาศาลมากแล้วสำหรับไทย และที่จะมาอีกนับไม่ถ้วน  นั่นย่อมหมายความว่า จู่ๆ เราจะมีประชากรเพิ่มเติม แต่คำถามคือ แล้วคนที่จะมาดูเเลปัญหาที่ตามมาคือใคร 

ขณะที่ในภาพรวมของโลก ประเทศไทยไม่ได้กระจอกในเรื่องการท่องเที่ยว จากการสำรวจของ UNWTO ในปี 2558 พบว่า ไทยเป็นประเทศที่มีผู้มาเยือนอยู่ในลำดับที่ 11  มีรายรับด้านการท่องเที่ยวสูงถึงอันดับที่ 5 ของโลก และรายรับสุทธิ คิดออกมาเเล้วเราอยู่อันดับ 3 ของโลก

จากการสำรวจหลายต่อหลายแห่ง เห็นชัดว่า ประเทศไทยเป็นมหาอำนาจด้านการท่องเที่ยว แต่ขณะเดียวกันกลับเป็นการสร้างปัญหาขนาดใหญ่ แม้สร้างรายได้เข้าประเทศจริง แต่มีปัญหามหาศาล เพราะสถานที่ท่องเที่ยวในไทยเป็นสถานที่เล็กๆ การรองรับจำนวนคนต่ำ เมื่อคนไปมาก ก็เสียหายมาก อย่างเช่น ภาพนักท่องเที่ยวล้นหาด เป็นต้น

"วันนี้เราท็อปเรื่องดีมานด์ แต่มามองในซัพพลาย ความสามารถในการแข่งขันของไทยกลับตกไปอยู่อันดับที่ 35 ของโลก ทั้งๆ ที่รายได้ของเราอยู่อันดับ 3 เราสอบตกในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยดำรงชีพอยู่กับสิ่งที่บรรพบุรษให้มาเท่านั้น” 

พร้อมกันนี้ ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ เปิดฉากทัศน์ (Scennario) เรื่องการท่องเที่ยวไทย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 

(1) พระกระโดดกำแพง หมายถึง เป็นตลาดท่องเที่ยวคุณภาพสูง มาเยอะ มาหลายชาติ เป็นเรื่องของตลาดบน แต่มีปัญหาในความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่อง 

(2) ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว  หมายถึง ตลาดกระแสหลัก(Mass) มีการเข้าถึงทุกที่ ซึ่งอาจมองว่าดีในแง่การกระจายรายได้ แต่อย่าลืมว่าทุกวันนี้จะมีการลงทุนของจีนทุกแห่ง และปัญหาที่ตามมาคือเรื่องสิ่งแวดล้อม

"สิ่งแวดล้อมในฉากทัศน์ที่ 2 จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก เพราะไม่มีการจำกัดจำนวน จนกลายเป็นปัญหานักท่องเที่ยวล้นอย่างทุกวันนี้"

ถ้าเราจะทำแผนจัดการสิ่งแวดล้อม 20 ปี  ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ มองว่า เราต้องไปคิดว่าภาคอุตสาหกรรมจะเป็นอย่างไร และภาคเกษตร การท่องเที่ยวจะเป็นอย่างไร วันนี้โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว เราจะดึงเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้อย่างไร ยกตัวอย่างเรื่องไฟป่าวันนี้เรายังใช้การรายงานจากสถานีไฟป่าอย่างเดียวได้ไหม ทั้งๆ ที่ Google Map สามารถมองเห็นได้รวดเร็วเเล้ว แต่ระบบของไทยเรายังคิดแบบเดิมเหมือน 20-30 ปีก่อน ทั้งๆ ที่เรามีเทคโนโลยีใหม่เเล้ว

"เราบอกจะเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล วันนี้เราได้คิดหรือยังในการรับมือสิ่งใหม่ เราเปลี่ยนจากกระดาษที่ย่อยสลายง่ายไปเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ย่อยไม่ได้  การเปลี่ยนแปลงภาคพลังงาน ที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมมาก  มาเป็นการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ที่รองรับยานยนต์ใหม่ๆ  วันนี้เราพร้อมมากน้อยเพียงใด

แน่นอนว่ารัฐจะต้องมีแผนในการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น การติดต่อกับประชาชนในยุคดิจิทัล จะต้องวางระบบการใช้ monitoring &Evaluation ที่มีเป้าหมายต้องชัดเจนว่า เราจะทำอยางไร ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างไร  อะไรเป็น base line ขณะเดียวกันต้องเป็นระบบที่ประชาชนสามารถเฝ้าระวัง ติดตามและตอบโต้ได้  (monitor& feed back)  ที่ไม่เป็นไฟไหม้ฟาง

แต่ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้ก็ต่อเมื่อมีแนวทางชัดเจน เช่น รัฐจะสนับสนุน อปท.ให้มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น ทำอย่างไร  จะเพิ่มอย่างไร ให้งบประมาณแค่ไหน 

หรือจะสนับสนุนบทบาทของสถานศึกษาประชาชนให้เข้าถึงการใช้ประโยชน์ เปลี่ยนข้อกำหนดการใช้ใน พ.ร.บ.ป่าสงวน? ทำ managemernt contract ไม่งั้นเราจะไม่รู้ว่าจะทำอย่าง ว่าข้อมูลไหนที่ประชาชนต้องรู้"

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ยืนยันชัดว่า ถ้าคุณทำเรื่องสิ่งแวดล้อม ต้องทำเรื่องการกระจายอำนาจ เมื่อไม่กระจายอำนาจ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้

"รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ยกเรื่องอำนาจของ อปท. ออกไป น่าแปลกใจว่าวันนี้เราอาศัยธรรมาภิบาลจากภายนอก คนไทยห้ามกันเองไม่เชื่อ แต่พอต่างชาติบอก เราทำทันที  เช่นเรื่อง ประมง เรื่องแรงงานทาส เรื่องการบิน เป็นต้น หมายความว่า ธรรมภิบาลของประเทศนี้มาจากภายนอกเท่านั้น เราต้องคอยพระอินทร์ ไม่สามารถทำตัวของเราให้ดีได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นเเผนจัดการสิ่งแวดล้อมต้องยืนยัน (commit) ว่าจะลดเท่าไร จะไปทางไหน แล้วเราจะสามารถติดตามได้ ดังนั้น แผนที่จะสัมฤทธิ์ผลต้องเป็นของประชาชน 

ด้านนายชลธร ดำรงศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาความเป็นเลิศและความยั่งยืน เอสซีจี มองประเด็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมจากภาคอุตสาหกรรมว่า มีปัจจัยอะไรที่ทำให้บริษัทห้างร้านเหล่านั้น ทำอย่างนั้น 

(1) ไม่รู้ว่า มีกฎหมายตัวนี้ 

(2) รู้แต่ว่าคนที่มีอยู่มีความสามารถที่จะทำได้ 

(3) กลัวเสียเงิน

ซึ่งคำถามมักจะเป็นข้อสุดท้ายเสมอ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เขาอธิบายว่า วันนี้ถ้าเราพูดเรื่องของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแลวดล้อม มี 2 อย่าง คือ 1. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ 2. การอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม 

"ในแง่การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ แน่นอนว่า ผู้ประกอบการมองว่าต้องเสียเงิน นักอนุรักษ์หลายคนคิดว่าเสียเงิน แต่จริงๆอีกด้าน คือการได้เงิน เราได้เงินจากเรื่องเหล่านี้อย่างไร และเสียเงินอย่างไร"

ก่อนอธิบายต่อว่า ในการจัดการสิ่งแวดล้อม ธุรกิจจำเป็นต้องเสีย เพราะถ้าเรามองว่า การมีธุรกิจขึ้นมามีประโยชน์ต่อส่วนร่วม ขณะเดียวกันการมีอุตสาหกรรมส่งผลกระทบหลายๆ ด้าน แม้ว่าจะทำตามกฎหมายก็ตาม แต่อย่างไรก็ส่งผลอยู่ดี เช่น การกำหนดค่ามาตรฐานต่างๆ ของมลพิษ หากปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ คือใช้ได้ และแม้ว่าอาจจะไม่ส่งผลต่อพวกเราโดยตรง แต่ในแง่ของระบบนิเวศ ส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการมีธุรกิจต่างๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อสังคม ถ้าเราไม่ยอมรับประเด็นเหล่านี้ การจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นการรับผิดชอบของผู้ประกอบการ ถ้าผู้ประกอบการบอกว่าบอกว่าไม่ใช่ เราควรเลิกคบ ที่นี้เมื่อเป็นความรับผิดชอบ ผู้ประกอบการที่มีความสามารถแตกต่างกัน ในเรื่องทุนทรัพย์  ขอบเขตความรับผิดชอบควรจะไม่เท่ากัน ธุรกิจใหญ่ต้องมีมากกว่า ธุรกิจรายย่อย

เขามองว่า ในแง่การทำธุรกิจ ไม่มีธุรกิจไหนที่จะอยู่คนเดียว ต้องมีคู่ค้า ดังนั้นในแง่การจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่จะจูนให้ทุกอย่างไปกันได้ ธุรกิจใหญ่ต้องจูงกันไป นำธุรกิจเล็กๆ โมเดลแบบนี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ไปในทิศทางเดียวกัน 

"เวลาพูดถึงการจัดการสิ่งแวดล้อม สิ่งที่รัฐทำคือ มีเกณฑ์มาตฐานที่มีการลงโทษ แต่จากการลงโทษที่ผ่านมา ถามว่า รัฐตรวจเจอแล้วลงโทษหรือต้องรอให้ประชาชนฟ้องแล้วถึงจะลงโทษ คำตอบคืออย่างหลัง เมื่อเป็นอย่างนี้ กลไกในการดูเเล ทำไมเราไม่สร้างให้ภาคสังคมให้มีส่วนในการตรวจสอบดูเเล

ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า พลังพวกเขาส่งผลกระทบที่รุนแรงกว่า  การรับรู้ของสังคมเป็นส่งที่ร้ายกว่า ถ้าเราเห็นว่าสิ่งนี้ดี วันนี้เราเคยได้บรรจุเรื่องพวกนี้ไว้บ้างหรือเปล่า ในการสร้างความเข้มเเข้งของประชาสังคมแทนราชการ เพราะที่ผ่านมายิ่งกฎหมายเข้มเท่าไร ยิ่งโกงมากเท่านั้น เราเปลี่ยนได้ไหม เปลี่ยนให้ประชาชนเป็นคนดูเเล" 

ขณะเดียวกัน ผอ.ศูนย์พัฒนาความเป็นเลิศและความยั่งยืน เอสซีจี ยืนยันว่า องค์กรธุรกิจต้องคำนึงถึงสิ่งที่เขาทำผิดกฎหมายต่างๆ แม้ว่าจะไม่มีการฟ้อง แต่ถามว่า มีคนรู้ไหม คนในองค์กรรับรู้ แบบนี้เรีกกว่า โกงหรือไม่  แบบนี้ก็เท่ากับสอนพนักงานของคุณว่าโกงได้ใช่หรือไม่  ดังนั้นแทนที่เราจะพัฒนาแต่กฎหมาย ลองมาพัฒนาคนจะคุ้มค่ามากกว่า 

เมื่อมองในเรื่องการอนุรักษ์  นายชลธร ให้ความหมายคำนี้ว่า เป็นการทำให้มีอยู่ ไม่ให้หมดไป ในแง่อุตสาหกรรม การอนุรักษ์ คือใช้น้อยๆ น้ำไฟ ของเสียน้อยๆ เป็นกระบวนการที่ลดผลกระทบให้มากที่สุด แบบนี้เองที่จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการมีเงินมากขึ้น เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องพื้นฐาน แต่กลับกันหากลดมาตรฐานในการผลิตเท่ากับต้นทุนสูงขึ้น เพราะส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติล้วนๆ วันนี้ธุรกิจเราไม่สามารถดูแต่เรื่องขาดทุน ผลกำไรเท่านั้น แต่ต้องดูด้วยว่าการประกอบการของเราส่งผลอะไรต่อสังคมบ้าง นั้นคือการรับผิดชอบจากภายใน

ในส่วนการรับผิดชอบนอกขอบเขตของตัวเอง หมายถึง สินค้าของเราที่ส่งให้ผู้บริโภคใช้งาน หลังจากการใช้งาน หรือเมื่อหมดอายุการใช้งาน จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร  ธุรกิจต้องคำนึงเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่แค่ขายแล้วจบ ปัจจุบันเรื่องของ green product เป็นตัวเลือกหลักที่ลูกค้าต้องการ 

 “ตราบใดที่เรายังมานั่งแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานประเทศ ถ้าเรายังทำเรื่องนี้ไม่ดี  เรายังไม่เจริญ”  นายชลธร กล่าวยืนยันทิ้งท้าย