เครือข่ายชายแดนใต้ค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา-ท่าเทียบเรือ ร้องประเมินผลกระทบใหม่ (15 ก.พ. 59
PPTV 15 กุมภาพันธ์ 2559
เครือข่ายชายแดนใต้ค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา-ท่าเทียบเรือ ร้องประเมินผลกระทบใหม่
เครือข่ายประชาชนและนักศึกษาจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และท่าเทียบเรือ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เข้ายื่นหนังสือถึงผู้แทนเลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอให้เริ่มจัดทำกระบวนการประเมินผลกระทบใหม่
วันนี้ (15 ก.พ. 59) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ หรือ กลุ่มเปอร์มาตามาส เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอให้เริ่มกระบวนการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ อีเอชไอเอ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือใหม่ทั้งหมด เนื่องจากขั้นตอนรับฟังความเห็นของประชาชน 3 ครั้งที่ผ่านมา ไม่เปิดให้กลุ่มคนเห็นต่างเข้าร่วมในเวที
ดิเรก เหมนคร อ.คณะศิลปศาสตร์ฯ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตัวแทนจากจังหวัดปัตตานี ตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการจัดทำอีเอชไอเอว่าอาจไม่เป็นไปตามกฎหมายและหลักวิชาการ
ทั้งนี้ตัวแทนจากจังหวัดปัตตานียังกังวลว่าหากกระบวนการจัดทำอีเอชไอเอไม่รอบด้าน อาจเป็นเงื่อนไขใหม่ของปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่โครงการ มีมัสยิด และกุโบร์ หรือสุสานอิสลาม โรงเรียนปอเนาะเก่าแก่ รวมถึงวัด และชุมชนที่ต้องย้ายออกจากพื้นที่
นอกจากนี้เครือข่ายได้ยื่นขอข้อมูลข่าวสาร และการมีส่วนร่วมฯ ถึงเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. เพื่อขอรายละเอียดอีเอชไอเอ แต่รองเลขาธิการฯ ผู้แทนรับหนังสือ แจ้งว่าไม่สามารถให้คัดสำเนาได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างส่งกลับไปแก้ไข และยังไม่ใช่เอกสารเผยแพร่ ซึ่งต้องนำรายละเอียดที่ชาวบ้านร้องขอเข้าที่ประชุม เพื่อพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่
ขณะที่ช่วงบ่าย เครือข่าย ยื่นหนังสือต่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ผ่านนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษก กรธ.เรื่องขอให้คืนสิทธิชุมชนในร่างรัฐธรรมนูญและยุติความฉ้อฉล ไม่เคารพสิทธิชุมชนกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยระบุว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ละเลยและไม่ได้ระบุถึงสิทธิชุมชนอย่างเพียงพอสำหรับการส่งเสริมให้ชุมชนมีภูมิต้านทานต่ออำนาจรัฐและอำนาจทุน เบื้องต้น นายชาติชาย จะรับเรื่องนี้ไปพิจารณาใหม่ในร่างรัฐธรรมนูญว่าสมควรที่จะมีการเพิ่มเติมและแก้ไขอย่างไรบ้าง