กระแสแร่เพชรบูรณ์ ... กพร. แค่ล้างไพ่? (10 ก.พ. 59)

ประชาไท 10 กุมภาพันธ์ 2559
กระแสแร่เพชรบูรณ์ ... กพร. แค่ล้างไพ่?

แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา


ประชารัฐฉบับนายทุน ม.35 ให้สิทธิซ้อน จองแหล่งแร่ขาย ค่าจูงควาย ... ส่งสัญญาณสำรวจแร่ที่เพชรบูรณ์ หรือ กพร. แค่ล้างไพ่?

1

เป็นข่าวดังจากภารกิจปกป้องผืนป่าจังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อ กอ.รมน.จังหวัด เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสอบพื้นที่สำรวจแร่ในสองตำบลซึ่งเป็นแหล่งแร่ทองคำ คือ ตำบลยางงาม และตำบลนาเฉลียง อำเภอหนองไผ่ ของ บริษัท สยามคอปเปอร์ รีซอสเซส จำกัด พบพื้นที่สำรวจแร่ของบริษัทฯ บุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าสองข้างทางสายชัยวิบูลย์ จำนวน 0-2-1 ไร่ ระบุเป็นความผิดตามมาตรา 54 และ 55 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 จากนั้นได้อายัดที่ดินและของกลางเครื่องขุดเจาะสำรวจแร่พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 21 รายการ โดยระหว่างการตรวจปฏิบัติงานมีชาวบ้านและกลุ่มคัดค้านการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ร่วมสังเกตการและสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง

ต่อมา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พร้อม อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ จัดประชุมในพื้นที่มีชาวบ้านและผู้นำชุมชนประมาณ 200 คน เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือการแก้ไขปัญหาการสำรวจเหมืองแร่ของบริษัทดังกล่าว การประชุมได้ข้อยุติว่า “ราษฎรในพื้นที่ไม่ยินยอมให้ทางบริษัทเข้ามาดำเนินกิจการใดๆ ในพื้นที่”

ที่มา: http://www.isoc04.go.th/?isonews

ไม่กี่วันจากนั้น นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ออกข่าวชี้แจงว่า บริษัท สยาม คอปเปอร์ รีซอสเซส จำกัด ได้รับการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษให้สำรวจแร่ทองแดง ตะกั่ว และสังกะสี จำนวน 15 แปลง ในพื้นที่อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอหนองไผ่ และอำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2558 มีอายุ 5 ปี หากการกระทำดังกล่าวของบริษัทฯ เป็นความผิดตามกฎหมายป่าไม้ ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ฐานไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการอนุญาตตามมาตรา 33 วรรคหก มีโทษปรับ และรัฐมนตรีมีอำนาจเพิกถอนอาชญาบัตรเฉพาะแปลงนั้นได้ โดยเน้นว่า กพร. ให้อนุญาตเพียงการสำรวจแร่เท่านั้น ยังไม่ได้ให้ประทานบัตรทำเหมืองแร่แก่บริษัทฯ แต่อย่างใด

ช่างน่าสงสัยกับการออกแรงแข็งขันกันทุกฝ่ายกับที่ดินบุกรุกป่าสงวนฯ 2 งาน ที่ กพร. ถึงขั้นชี้แจงเป็นข่าวใหญ่โตโดยระบุว่า หากผิดจริงอาจถึงขั้นเพิกถอนอาชญาบัตร ซึ่งน่าจะถือได้ว่าเป็นครั้งแรกๆ ในประเทศไทยหากจะมีการเอาผิดในกรณีนี้

หรือการสำรวจแร่ในจังหวัดเพชรบูรณ์มีเบื้องหลังเบื้องลึกมากกว่านั้น?

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2558 อุตสาหกรรมและ กพร.เปิดข้อมูลในประชาชาติธุรกิจ ปัจจุบันมีเอกชนยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำจำนวน 13 บริษัท ในพื้นที่ 11 จังหวัด เฉพาะข้อมูลการขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้แก่ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) 44 แปลง เนื้อที่ 397,396 ไร่ บริษัท ฟ้าร้อง จำกัด 4 แปลง เนื้อที่ 29,597 ไร่ บริษัท สยาม คอปเปอร์ รีซอร์สเซส จำกัด 8 แปลง เนื้อที่ 78,414 ไร่ บริษัท คลองตะแบก ไมน์นิ่ง จำกัด 3 แปลง เนื้อที่ 29,052 ไร่ บริษัท ไทย โกลบอล เวนเจอร์ส จำกัด 3 แปลง เนื้อที่ 9,929 ไร่ และ บริษัท ทรัพย์ภูมิ จำกัด 2 แปลง เนื้อที่ 16,135 ไร่

รวมพื้นที่คำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำทั้งหมดในจังหวัดเพรชบูรณ์ 560,523 ไร่

ส่วนเว็บไซต์ของ กพร. ระบุข้อมูลอาชญาบัตรพิเศษในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้แก่ บริษัท สยาม คอปเปอร์ รีซอร์สเซส จำกัด ได้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี แล้ว 27 แปลง พื้นที่ 259,430 ไร่ และ บริษัท พีวีเค ไมน์นิ่ง จำกัด ได้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่เหล็ก ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี แล้ว 10 แปลง พื้นที่ 96,619 ไร่

รวมพื้นที่อาชญาบัตรพิเศษของทั้งสองบริษัทฯ 356,049 ไร่ โดยอาชญาบัตรพิเศษทั้งหมดจะหมดอายุในปี 2563

หากรวมแล้วในจังหวัดเพชรบูรณ์จะมีพื้นที่ขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่และพื้นที่อาชญาบัตรพิเศษทั้งหมด 916,572 ไร่ แร่ที่สำรวจได้แก่ แร่ทองคำ เงิน ทองแดง เหล็ก ตะกั่ว สังกะสี

บนพื้นที่เกือบล้านไร่ จึงมีอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองแดง ตะกั่ว สังกะสีของ บริษัทสยามคอปเปอร์ฯ ที่ได้มาในปี 2558 ขณะที่คำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำของบริษัทเหมืองทองเจ้าใหญ่ในประเทศยังติดขัดที่ มติ.ครม.ในปี 2550 รวมทั้ง ร่างนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ (2558) ยังคลอดไม่ได้

โดยกฎหมายแร่ ไม่ว่าจะเป็น พรบ.แร่ พ.ศ 2510 มาตรา 35 กำหนดว่า อาชญาบัตรพิเศษจะออกทับเขตเนื้อที่ซึ่งมีผู้ได้รับอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ อาชญาบัตรพิเศษ ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรอยู่แล้วมิได้

ถ้ามีเขตเนื้อที่ซึ่งมีผู้ได้รับอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ อาชญาบัตรพิเศษ ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรอยู่แล้วในเขตคำขอ การออกอาชญาบัตรพิเศษ จะกระทำได้โดยกันเขตเนื้อที่ซึ่งมีผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ อาชญาบัตรพิเศษ ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรอยู่แล้วในเขตคำขอนั้นออก

(ร่าง) นโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ (2558) ระบุว่า การขอสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ทั่วไป (นอกพื้นที่โครงการพัฒนาแหล่งแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่) ต้องขออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ และหากมี ‘การขอสิทธิสำรวจแร่ทองคำเหลื่อมล้ำทับซ้อนในพื้นที่เดียวกัน’ และไม่มีข้อยุติ กระทรวงอุตสาหกรรมจะใช้วิธีการเปิดประมูลสิทธิ หรือใช้วิธีการอื่นตามความเหมาะสม

ส่วน ระเบียบกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับคำขอประทานบัตร การออกประทานบัตร การต่ออายุประทานบัตร และการโอนประทานบัตร พ.ศ. 2558 กำหนดไว้ใน ข้อ 8 (4) การยื่นคำขอเหลื่อมล้ำทับซ้อนในพื้นที่เดียวกัน ให้ดำเนินการตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่รัฐมนตรีเป็นผู้ประกาศ และ ข้อ 22 (2) กรณีมีการยื่นคำขอเหลื่อมล้ำทับซ้อนในพื้นที่เดียวกันกับคำขอที่ส่งให้กรมเพื่อดำเนินการอนุญาต ให้ประมวลเรื่องคำขอที่เหลื่อมล้ำทับซ้อนในพื้นที่ดังกล่าวทั้งหมดมาเพื่อพิจารณาดำเนินการไม่อนุญาตในคราวเดียวกัน

ที่มา: http://www.dpim.go.th/laws/article?catid=114&articleid=6625

ส่วนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง นโยบายว่าด้วยการยื่นคำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ คำขออาชญาบัตรพิเศษ และคำขอประทานบัตร กรณีการยื่นคำขอเหลื่อมล้ำทับซ้อนในพื้นที่เดียวกัน พ.ศ.2550 กำหนดไม่ให้ยื่นคำขอประทานบัตรเหลื่อมล้ำทับซ้อนในพื้นที่เดียวกันในเขตพื้นที่อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรืออาชญาบัตรพิเศษ เว้นแต่ผู้นั้นเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองในที่ดินนั้นตามประมวลกฎหมายที่ดิน และ ไม่ให้ยื่นคำขอประทานบัตรเหลื่อมล้ำทับซ้อนในเขตพื้นที่ที่ผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรืออาชญาบัตรพิเศษได้ยื่นคำขอประทานบัตรต่อเนื่องจากอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรืออาชญาบัตรพิเศษก่อนสิ้นอายุและอยู่ระหว่างการพิจารณาตามคำขอนั้น

การยื่นคำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ หรือ อาชญาบัตรพิเศษ กำหนดไม่ให้ยื่นคำขอเหลื่อมล้ำทับซ้อนในพื้นที่เดียวกันในเขตพื้นที่อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ อาชญาบัตรพิเศษ หรือประทานบัตร เว้นแต่จะกันเขตคำขอนั้นออกจากอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ อาชญาบัตรพิเศษ ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตร และ ไม่ให้ยื่นคำขอในเขตพื้นที่ที่ผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรืออาชญาบัตรพิเศษได้ยื่นคำขอประทานบัตรต่อเนื่องจากอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรืออาชญาบัตรพิเศษก่อนสิ้นอายุและอยู่ระหว่างการพิจารณาตามคำขอนั้น

หากมีผู้ประสงค์ยื่นคำขอประทานบัตร หรือ ยื่นคำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ หรือคำขออาชญาบัตรพิเศษเหลื่อมล้ำทับซ้อนในพื้นที่เดียวกัน เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้สิทธิแก่ผู้ยื่นคำขอรายแรกหรือรายใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่แจ้งผลการไม่อนุญาตให้ผู้ยื่นคำขอเหลื่อมล้ำทับซ้อนในพื้นที่เดียวกันทราบทุกราย

ที่มา: http://www.industry.go.th/saraburi/index

มาถึงวันนี้ที่การขยายพื้นที่สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำยังติด มติ ครม. ปี 2550 และร่างนโยบายเปิดเหมืองทอง 12 จังหวัด ที่ต้องการกันพื้นที่แหล่งแร่ทองคำออกเป็นโครงการพัฒนาแหล่งแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่ โดยให้อำนาจกระทรวงอุตสาหกรรมในการเปิดประมูลพื้นที่หรือวิธีการอื่นๆ หากมีปัญหาการยื่นขอทับซ้อน ยังไม่ได้ประกาศใช้

ก็ยังหมายความได้ง่ายๆ ว่าใครขอก่อน ได้อาชญาบัตรก่อน มีสิทธิก่อน

งานนี้จึงน่าจะมีคนเดือดร้อนอยู่ไม่น้อย เพราะบริษัทเหมืองทองเจ้าใหญ่ที่ได้สิทธิสำรวจแร่ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ พิจิตร พิษณุโลก และกำแพงเพชร กำลังจะหมดอายุสัมปทาน หากไม่ได้อาชญาบัตรพิเศษเพื่อเปิดสำรวจในพื้นที่แหล่งใหม่ บริษัทจะดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างไร


2


“...มีการยื่นคำขออาชญาบัตรจากกลุ่มนายหน้า นายทุนท้องที่ เเละจากกลุ่มข้าราชการจากอุตสาหกรรมจังหวัดเพื่อนำมาขายอีกทอด เฉลี่ยคำขอที่ยื่นขอเพื่อยกเลิก 300,000-500,000 บาท ทำให้เกิดการยื่นขออาชญาบัตรเพื่อนำมาขายต่อเต็มไปหมด...”

“300,000-500,000 ยังจิ๊บๆ บางแปลง 3-5 ล้าน ครับ มาที่หลังก็ต้องกล้าลงทุนหน่อย”

“...เดี๋ยวนี้มีธุรกิจหลอกขายแหล่งแร่ในเขตป่าอนุรักษ์ หรือพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ลูกค้าชั้นดีได้แก่ชาวจีนครับ แร่ยอดนิยมได้แก่ เหล็ก แมงกานีส และพลวง...

“...ผู้ชักนำ ได้ค่าแนะนำแหล่ง และค่าหัวคิวค่าจ้างทำรายงานธรณีวิทยาและสิ่งแวดล้อม เล่มละหลายหมื่นนะครับ ...ในวงการนี้หากมีผู้แนะนำให้ผู้อยากทำเหมือง ทำรายงานต่างๆ ประกอบคำขอที่ไม่มีโอกาสจะได้รับอนุญาต ผู้รับจ้างจะจ่ายค่าหัวคิวให้ผู้แนะนำ ค่าหัวคิวนี้เขาเรียกว่า ‘ค่าจูงควาย’ นะครับ”

“โดยเฉพาะช่วงนี้ ราคาแร่โลหะแพงขึ้นมาก ตลาดมีความต้องการสูง ทั้งจีน อินเดีย แร่เหล็กเป็นแร่ยอดนิยม แมงกานิส พลวงก็ไม่แพ้กัน ดังนั้นธุรกิจซื้อขายแหล่งแร่ หรือแหล่งที่คิดว่ามีแร่ จึงเป็นที่นิยมมาก อาชญาบัตร ประทานบัตร รวมทั้งคำขอ มีการซื้อขาย หรือ หลอกขายกันเป็นทีสนุกสนาน”

“เรื่องการทำธุรกิจ จับจองแหล่งแร่ หรือแหล่งที่คิดว่ามีแร่ แล้วไปขายผู้อื่นโดยตนเองไม่มีเจตนาที่จะทำเหมืองเอง เรื่องนี้มีมาแต่โบราณกาลแล้วครับ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น...”

“ยื่นขอประบัตรทับซ้อน” นี่คือหัวข้อในการสนทนาบนเว็บบอร์ดรับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ของ กพร.

ทั้งนี้ มีคนที่ใช้ชื่อว่า “คนกรม” เข้ามาตอบกระทู้ว่า “ก็พอจะทราบเรื่องอยู่บ้างเลา ๆ ว่าจังหวัดไหน สันนิษฐานได้ว่าเจ้าหน้าที่ลำเอียง รู้เห็นเป็นใจกับผู้ประกอบการ...โดยมีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลังในการขายแหล่งแร่”

ที่มา: http://www1.dpim.go.th/wbd/question

ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง นโยบายว่าด้วยการยื่นคำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ คำขออาชญาบัตรพิเศษ และคำขอประทานบัตร กรณีการยื่นคำขอเหลื่อมล้ำทับซ้อนในพื้นที่เดียวกัน พ.ศ.2550 ระบุไว้ชัดเจนว่า ด้วยปัจจุบันมีผู้ประสงค์ยื่นคำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ คำขออาชญาบัตรพิเศษ และคำขอประทานบัตรเหลื่อมล้ำทับซ้อนในพื้นที่เดียวกันหลายราย ซึ่งการยื่นคำขอดังกล่าว ยังมิได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ยื่นคำขอในพื้นที่ที่ยื่นคำขอแต่อย่างใด จึงเป็นเหตุให้มีผู้ยื่นคำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ คำขออาชญาบัตรพิเศษ และคำขอประทานบัตร เหลื่อมล้ำทับซ้อนในพื้นที่เดียวกันในหลายจังหวัดและก่อให้เกิดปัญหาข้อพิพาทระหว่างผู้ขอกันเองและกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนปัญหาการร้องเรียนคัดค้านต่างๆ ตามมา

กล่าวภาษาง่ายๆ ว่า การยื่นขอสำรวจแร่และขอทำเหมืองแร่หลายเจ้าในพื้นที่เดียวกันเป็นปัญหามาช้านานแล้ว ไม่ว่าเป้าหมายของผู้ขอจะหวังผลในทางใด

และหากยังจำได้ สมัย รมว.อุตสาหกรรม จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช จนถึง รมว.อุตฯ คนปัจจุบัน หรือ อธิบดี กพร. ก็เคยเกริ่นๆ ในข่าวหลายครั้งเกี่ยวกับปัญหานี้ที่รัฐกำลังพยายามสะสาง

เมื่อครั้งตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสำรวจแร่ทองคำและทำเหมืองทองคำ 12 จังหวัด ลุกฮือชุมนุมประท้วง และยื่นรายชื่อประชาชนเกือบสามหมื่นรายชื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุติการสำรวจและการทำเหมืองทองคำทั้งหมดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ครั้งนั้น นายกฯ ก็ให้สัมภาษณ์ว่า “กำลังทบทวนอยู่ มันเป็นเรื่องเดิมอยู่แล้วด้วย ทั้งเรื่องที่ดินแปลงเก่า แปลงใหม่ ที่ยังติดเรื่องข้อกฎหมาย เช่นการต่อสัญญา…อย่างไรก็ตาม จะยังไม่มีการเปิดเหมืองทองคำเพิ่ม...”

ตัวอย่าง กรณีเหมืองทองจังหวัดเลยที่รัฐทำสัญญากับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยให้อาชญาบัตรพิเศษผูกขาดการสำรวจแร่บนเนื้อที่กว่าสามแสนไร่ ผ่านมติ ครม. ซึ่งนำมาสู่คำขอประทานบัตร 112 แปลง ปัจจุบันมีการทำเหมืองไปแล้ว 6 แปลง หากผู้ประกอบการเหมืองแร่รายอื่นจะขอประทานบัตรในพื้นที่ทับซ้อนใน 112 แปลงนี้จะต้องผ่านการยินยอมจากบริษัททุ่งคำก่อน

ดังนั้นคงจะกล่าวได้ว่า ใครขออาชญาบัตร ขอประทานบัตรได้ก่อน ครอบคลุมพื้นที่ได้ยิ่งมากเท่าใด ก็ยิ่งเพิ่มช่องทางในการหาประโยชน์บนพื้นที่ที่ได้สิทธิหลายช่องทางมากขึ้น

แต่หากการตกลงผลประโยชน์ไม่ลงตัว เรื่องแดงขึ้นมา คนที่เดือดร้อนก่อนคือรัฐผู้รับผิดชอบในการกำกับดูแล เพราะอาจจะถูกสอบวินัยหรือถูกฟ้องร้องได้ทั้งสองทาง วิธีการหลบเลี่ยงปัญหานี้ คือหาช่องทางในกฎหมายอื่นมาจัดการ โดยกรณีนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงอำนาจใต้โต๊ะ หรือใหญ่กว่านั้นคืออำนาจเหนือรัฐ ที่จะเป็นตัวแปร


3


สองปีที่ผ่านมาประเทศไทยตกอยู่ในสถานการณ์การเมืองปั่นป่วน เศรษฐกิจตกต่ำ เป็นโอกาสที่กระทรวงอุตสาหกรรมใช้อ้าง “การกระตุ้นเศรษฐกิจ” เป็นเหตุผล เพื่อผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจต่างๆ โดยลดอุปสรรคทุกด้านให้กับนายทุนไทยและนายทุนต่างชาติ ในทุกๆ สาขาได้อย่างรื่นไหลโดยใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐบาลทหาร

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์การเมืองไทยในทุกยุคของการรัฐประหารหรือการปฏิวัติได้แสดงภาพที่ชัดเจนหลังจากนั้น คือ นักการเมือง รัฐ ทุน จับมือ จูบปาก จัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์กันให้ลงตัว จนกระทั่งทุนพัฒนาขึ้นจนเข้มแข็งมีอำนาจเหนือรัฐ

เพียงแต่การรัฐประหารที่อ้างเพื่อความสงบสุขของชาติในครั้งนี้ยกระดับไปมากกว่านั้น เมื่อมีการสถาปนา “คณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” (Public – Private Steering Committee) โดยมี “หัวหน้าคณะทำงานภาคเอกชน” ทำงานประกบกับรัฐมนตรี 12 คณะ โดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แต่งตั้ง และผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้รับทราบ ไปเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558

เป็นครั้งแรกในประเทศไทยจากข้ออ้างการปฏิรูปประเทศและประชารัฐ โดยยกเหตุผลที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ความผันผวนในระบบการเงินโลก ราคาน้ำมันลด การย้ายฐานการผลิตของบรรษัทข้ามชาติ การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมลดลง การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบทางการค้าและการกีดกันทางการค้า กระทรวงพาณิชย์จึงเห็นควรแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวในลักษณะ "ภาคเอกชนนำ และ ภาครัฐเป็นผู้อำนวยความสะดวกและสนับสนุน" เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับรายได้ของประเทศให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง

บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการฯ 12 คณะ ข้อแรก คือ การดำเนินการในลักษณะ "หุ้นส่วน" ภาครัฐ เอกชน และประชาชน (ประชารัฐ) โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้ชี้แจงว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนฯ มิได้เป็นการแต่งตั้งคณะกรรมการตามมติคณะรัฐมนตรี แต่เป็นคณะกรรมการที่ภาคเอกชนขันอาสาเข้ามาช่วยภาครัฐดำเนินการขับเคลื่อนในเรื่องต่างๆ ซึ่งเชื่อมโยงกับภารกิจของกระทรวง กรม และหน่วยงานต่างๆ

คณะกรรมการฯ 12 คณะนี้จึงถูกเรียกขานในสื่อว่า “ประชารัฐฉบับนายทุน”

ทั้งนี้ หัวหน้าคณะทำงานภาคเอกชนสายเหมือง ได้แก่ นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด มหาชน เป็นหัวหน้าคณะทำงานด้านการปรับแก้กฎหมายและกลไกภาครัฐ คณะทำงานด้านการยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ พ่วงด้วยการเป็น คณะทำงานชี้นำยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนการเพิ่มผลิตภาพ นวัตกรรม และมาตรฐานภาคอุตสาหกรรม (สปริงบอร์ด) ของกระทรวงอุตสาหกรรม

และ นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด มหาชน เป็นหัวหน้าคณะทำงานด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ

สายพลังงาน นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหน้าคณะทำงานคณะทำงานด้านพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

สายเกษตรและอาหาร นายฐาปน สิริวัฒนภักดี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหน้าคณะทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ

นายทุนใหญ่สาขาอื่นๆ ที่กุมอำนาจในคณะกรรมการฯ นอกจากนั้น ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) หอการค้าไทย บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด

ความเคลื่อนไหวจากการประชุมคณะกรรมการสปริงบอร์ด ของกระทรวงอุตสาหกรรม 2 ครั้ง ที่มีนายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานที่ปรึกษา บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด นั่งในฐานะ “หุ้นส่วน” รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการฯ มีมติในที่ประชุมมีคำสั่งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งกำกับดูแล โรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กทั่วประเทศ ประมาณ 1.4 แสนแห่ง ปรับบทบาทจากการเป็นหน่วยงานกำกับ ควบคุม ตรวจสอบ จับผิด และออกใบอนุญาต มาเป็นหน่วยงานให้คำปรึกษาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่วนการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งกำกับดูแลโรงงานขนาดใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมเป็นหลักต้องปรับปรุงบทบาทให้มีความคล่องตัวมากขึ้น รวมทั้งเร่งรัดให้กระทรวงอุตสาหกรรม ติดตามความคืบหน้าการปรับบทบาท และภารกิจของสถาบันต่างๆ ภายใต้สังกัดกระทรวงรองรับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน โดยปรับโครงสร้างการทำงานให้เป็นองค์กรที่มีการบูรณาการร่วมกับภาคเอกชน ไม่ได้ทำงานตามนโยบายกระทรวงเท่านั้น

กรณีการใช้กฎหมายป่าไม้กับพื้นที่บุกรุกป่าสงวนฯ 2 งานในพื้นที่แหล่งแร่ทองคำจังหวัดเพชรบูรณ์ มีการปฏิบัติการณ์ในวันที่ 6 มกราคม 2559

ปลดล็อคผังเมืองให้ โรงไฟฟ้า โรงผลิตหรือจำหน่ายก๊าซที่ไม่ใช่ก๊าซธรรมชาติ โรงบำบัดน้ำเสีย เตาเผาขยะ โรงงานคัดแยกและฝังกลบ โรงงานรีไซเคิล ยกเว้นอีไอเอ โรงผลิตไฟฟ้าจากขยะ ตามแผนการจัดการกากอุตสาหกรรมปี 2558-2562 ซึ่งจะมีการใช้ขุมเหมืองเก่าเป็นที่ทิ้งขยะอุตสาหกรรมและขยะอุตสาหกรรมนำเข้า รวมถึงใช้ขุมเหมืองเก่าเป็นที่เก็บกักน้ำ โดยนำร่องไปแล้วหลายพื้นที่ในขุมเหมืองเก่าของบริษัทในเครือปูนซีเมนต์ไทย

หรือ อำนาจมาตรา 44 แผนแม่บทป่าไม้ฯ การแก้กฎหมายนับร้อยเพื่อใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่ออุตสาหกรรม เช่น กฎหมายแร่ กฎหมายป่าไม้ ให้ต่างชาติเช่าที่ดินได้ 99 ปี ดันร่างกฎหมายจีเอ็มโอ ห้ามประมงเรือเล็กออกนอกทะเลชายฝั่งเกิน 3 ไมล์ เป็นต้น

การสถาปนาทุนเพื่อครอบครองอำนาจในการบริหารระบบเศรษฐกิจของประเทศในทุกสาขาอย่างเป็นทางการ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในยุคสมัยใดของประเทศไทย

ในแวดวงนักเคลื่อนไหวกำลังมองว่า นี่คือการยกระดับของกลุ่มทุนไทยสู่ทุนข้ามชาติ เพื่อจับมือกับกลุ่มทุนบรรษัทข้ามชาติกินรวบทรัพยากรทั้งในประเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน อาเซียน รวมถึงประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรของโลก

ส่วนปัญหาการเมือง รัฐทหาร ประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญใหม่ ที่กระแสคัดค้านกำลังกลับมา ก็เป็นเพียงฆ้อนหนึ่งด้ามที่สร้างขึ้นจากตัวละครและฉากละครหลายๆ ฉาก เพื่อการเจรจาต่อรอง ก่อนจะส่งมอบให้คนไทย โดยไม่ได้แยแสต่อผลในตอนท้าย เพราะอำนาจทุกทางได้ถูกทุนใหญ่ในชาติกุมไว้สิ้นแล้ว