"ลองบี"แสบสำแดงเท็จลอบนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าไทย (1 ส.ค. 59)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 1 สิงหาคม 2559
"ลองบี"แสบสำแดงเท็จลอบนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าไทย
"กรมโรงงานฯ" ตื่นคุมเข้มธุรกิจกำจัดของเสียข้ามประเทศ ย้ำไทยไม่ใช่ที่ทิ้งขยะหลัง "Long Bee" ทำผิดอนุสัญญาบาเซล ลักลอบขนขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์เกือบ 200 ตัน จากโอซากา ญี่ปุ่นมาไทย
นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กรอ.และกรมศุลกากรได้ตรวจพบว่า บริษัท Long Bee Products (Thailand) ประกอบธุรกิจกำจัดขยะนำเข้าจากต่างประเทศ ได้มีการแจ้งสำแดงผิดประเภทตามที่ขออนุญาต และผิดตามข้อตกลงอนุสัญญาบาเซล จึงถือเป็นการลักลอบนำขยะจากเมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่นมากำจัดในประเทศไทย ดังนั้น จึงต้องส่งสินค้าดังกล่าวคืนประเทศต้นทางจำนวน 7 ตู้คอนเทนเนอร์ ปริมาณ 196.11 ตัน จากทั้งหมด 8 ตู้ เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2557 ขณะเดียวกัน ได้ลงโทษบริษัทตามกฎหมายศุลกากรแล้ว และบริษัทดังกล่าวไม่สามารถดำเนินธุรกิจในญี่ปุ่นได้อีกต่อไป และจะต้องทำการเรียกร้องค่าใช้จ่าย 4 ล้านบาทในการวางตู้คอนเทนเนอร์ไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี นานถึง 2 ปี
"นี่ถือเป็นรายแรกและลอตใหญ่ที่หลุดเข้ามาถึงท่าเรือแหลมฉบังและตรวจจับได้ เพราะเครื่องเอกซเรย์ตู้ไม่สามารถเห็นได้ 100% และเราใช้วิธีสุ่มตรวจ ต่อไปนี้ต้องทำเข้มขึ้น เมื่อทำผิดต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่ยอมรับว่ากระบวนการมันยากและนาน ครั้งนี้จึงถือเป็นความพยายามของรัฐที่ต้องคุมเข้ม เพราะประเทศไทยไม่ใช่ที่ทิ้งขยะ"
ขณะเดียวกัน มีบริษัทไทยที่ถูกตั้งข้อหาลักลอบและนำเข้าขยะผิดประเภทส่งไปยังประเทศฮอลแลนด์เช่นกัน คดีค้างนานกว่า 5 ปี ก่อนหมดอายุความจึงให้สถานทูตไทยที่ฮอลแลนด์ช่วยตรวจสินค้าว่าผิดจริงหรือไม่ ก่อนตัดสินว่าจะต้องนำกลับไทยหรือกำจัดที่ต่างประเทศได้ ปัญหาคือบริษัทที่ทำผิดต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ไม่ใช่รัฐบาลไทย
"เราพยายามตามผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวมารับโทษ แต่พบว่าเป็นนักลงทุนอินเดียที่ขายหุ้นไทยไปแล้ว และยังพบว่ามีประวัติการทำธุรกิจแบบผิดกฎหมายในหลายประเทศ จากนี้ในอนุสัญญาบาเซลจะทำประวัติผู้ประกอบธุรกิจนี้และขึ้นบัญชีแบล็กลิสต์เอาไว้ นอกจากนี้ ไทยยังถูกอินโดนีเซียฟ้องในลักษณะเดียวกัน ยังคงรอการพิสูจน์ข้อเท็จจริง"
นายศักดา พันธ์กล้า รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า จากการตรวจ 8 ตู้คอนเทนเนอร์สินค้าสำแดงเป็นเศษโลหะ เศษทองแดง และเศษอะลูมิเนียม ถูกต้องเพียง 1 ตู้เท่านั้น ที่เหลืออีก 7 ตู้ตรวจพบเป็นซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว เป็นสินค้าที่เข้าข่ายการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดน จัดเป็นของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซล และเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 โดยการนำเข้าต้องได้รับอนุญาตจาก กรอ. ทำให้ผู้นำเข้ามีความผิดตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 รวมถึงมีความผิดฐานสำแดงชนิดสินค้าเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 เนื่องจากบริษัท Long Bee รับกำจัดขยะประเภทเศษโลหะ ทองแดง อะลูมิเนียมไม่ใช่เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์
นายสมคิด วงศ์ไชยสุวรรณ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมกล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมศุลกากร กรมควบคุมมลพิษ และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้ส่งของเสียอันตรายทั้งหมดกลับไปยังประเทศญี่ปุ่นแล้ว หลังจากนั้น กระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น จะดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ส่งออกต่อไป ทั้งนี้ ความพยายามในการส่งกลับสินค้าเพื่อเป็นการปฏิบัติตามข้อกำหนดของอนุสัญญาบาเซล และเป็นการแสดงถึงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นในการยุติปัญหา รวมถึงป้องกันการลักลอบเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายระหว่างประเทศแบบผิดกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลไทยยืนยันที่ต้องสร้างมาตรฐานการบริหารจัดการของเสียของไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ "อนุสัญญาบาเซล" เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของเสียอันตรายและการกำจัด มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายระหว่างประเทศให้มีการบริหารจัดการของเสียอันตราย ซึ่งรวมถึงการดำเนินการกำจัด และการดำเนินการเพื่อหมุนเวียนนำทรัพยากรกลับมาใช้ประโยชน์ โดยให้ดำเนินการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันอนุสัญญาบาเซลมีภาคี 183 ประเทศ โดยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีสมาชิกเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2540 และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. 2551
และสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากปัญหาการลักลอบนำของเสียอันตรายไปทิ้ง หรือกำจัดทำลายในประเทศด้อยพัฒนา โดยข้อตกลงควบคุมการนำเข้า การส่งออก การนำผ่าน พร้อมทั้งการจัดการของเสียอันตรายให้มีความปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ป้องกันการขนส่งที่ผิดกฎหมาย จะต้องแจ้งขอคำยินยอมล่วงหน้ากับประเทศปลายทางก่อน