คมนาคมนำร่องพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์กรุงเทพฯ-ระยอง (1 ส.ค. 59)
สำนักข่าวไทย 1 สิงหาคม 2559
คมนาคมนำร่องพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์กรุงเทพฯ-ระยอง
ก.คมนาคม 1 ส.ค. – นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ได้หารือร่วมกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามความคืบหน้าการให้กระทรวงคมนาคมศึกษาแนวทางการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์แนวเส้นทางโครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อสร้างรายได้ตอบแทนจากโครงการ
นายสมคิด กล่าวว่า วันนี้มีความชัดเจนเรื่องการศึกษาเบื้องต้นสำหรับรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา กรุงเทพฯ-ระยอง กรุงเทพฯ –หัวหิน และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยโครงการที่จะสามารถนำมาพัฒนานำร่องเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์จะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ซึ่งขณะนี้จะมีการพิจารณารายละเอียดโครงการของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) และคาดว่าการก่อสร้างโครงการจะเสนอให้ ครม.พิจารณาภายในเดือนกันยายนนี้ หลังจากนั้นโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์จะสามารถดำเนินการ และเชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปีนี้เช่นเดียวกัน
สำหรับโครงการนำร่องมอบหมายให้สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ทำแผนรายละเอียดเพิ่มก่อนรายงานให้ทราบในอีก 2 สัปดาห์ เพื่อนำผลศึกษารายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ และเมื่อมีข้อมูลชัดเจนแล้วการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์จะสามารถเปิดให้เอกชนเข้ามาประกวดราคาดำเนินการได้ หากกำหนดจุดสถานีที่จะพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ชัดเจนว่ามีสถานีใดบ้างจะทำให้ทราบมูลค่าโครงการและนำเสนอให้เอกชนดำเนินโครงการ ส่วนเส้นทางอื่น ๆ จะดำเนินการในอนาคต
นายสมคิด ย้ำการพัฒนาระบบคมนาคมรูปแบบอื่น เช่น โครงการมอเตอร์เวย์ การพัฒนาพื้นที่ที่ผ่านมามีการทำจุดพักรถ ซึ่งได้ให้นโยบายไปว่าการพัฒนาจุดพักรถต้องสามารถผลักดันให้เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ด้วย การนำสินค้าโอทอปหรืออาหารต่าง ๆ ที่เป็นของในพื้นที่ต้องนำมาจำหน่ายในจุดพักรถเหล่านี้ ไม่ใช่นำอาหารฟาสฟู้ดส์มาจำหน่ายจุดพักรถอย่างเดียว จึงต้องมีการเปลี่ยนแนวคิด
ขณะที่นายอาคม กล่าวว่า โครงการที่นำร่องกรุงเทพฯ-ระยอง ถือเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพ มีสถานีที่สามารถนำมาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลายสถานี เช่น สถานีลาดกระบัง พัทยา ศรีราชา และระยอง ขณะที่รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหัว จะมีสถานีราชบุรี สถานีหัวหิน สถานีเพชรบุรี ที่สามารถนำมาพัฒนาได้
ทั้งนี้ การหารือวันนี้ในส่วนของกรมโยธาธิการเสนอแนวคิดพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รถไฟความเร็วสูงนอกจากเวนคืนแล้ว ยังสามารถใช้วิธีจัดรูปที่ดิน ซึ่งจะพิจารณาที่ดินของรัฐนำมารวมกับที่ดินของประชาชนหรือเอกชน เพื่อพัฒนาให้เกิดมูลค่าร่วมกัน ที่ดินภาครัฐก็มีที่ราชพัสดุมีศักยภาพหลายแห่ง.-สำนักข่าวไทย