กกพ.เตรียมการเปิดเสรีโซลาร์เซลล์ ไฟฟ้าพลังงานทดแทนเข้าเป้าดันชีวมวลไบโอก๊าซต่อ (1 ส.ค. 59)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 1 สิงหาคม 2559
กกพ.เตรียมการเปิดเสรีโซลาร์เซลล์ ไฟฟ้าพลังงานทดแทนเข้าเป้าดันชีวมวลไบโอก๊าซต่อ

กกพ.ฟุ้งรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้เกินเป้า โซลาร์เซลล์ค้างท่อผลิตเข้าระบบแล้วกว่า 600 เมกะวัตต์ เดือนหน้าเตรียมประกาศรับซื้อจากชีวมวล-ขยะ และไบโอก๊าซ ดันเปิดโซลาร์เซลล์เสรี ใครสนใจรัฐติดมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ให้ฟรี 10,000 บาท แต่ไม่รับซื้อไฟเข้าระบบ แพลนปลายปีประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากไบโอก๊าซลอตใหญ่ 400 เมกะวัตต์ ประเมินค่าไฟฟ้า Ft รอบใหม่ (ก.ย.-ธ.ค.) มีแนวโน้มปรับขึ้น

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงความคืบหน้าของการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนว่า ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP (Al-ternative Energy Development Plan 2558-2579) นั้น ล่าสุดมีการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนรวม 9,000 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายที่วางไว้ประมาณ 16,700 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 60 ของภาพรวม โดยในปีนี้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เข้าระบบได้รวมกว่า 600 เมกะวัตต์ ในส่วนของการเปิดเสรีผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Pilot Project) คาดว่าภายในเดือนสิงหาคมนี้จะนำรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเข้าหารือในที่ประชุมบอร์ด กกพ.หลังจากนั้นจะประกาศให้ผู้สนใจติดตั้งยื่นคำขอเข้ามา โดยเงื่อนไขของเปิดเสรีนั้นภาครัฐจะติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ราคา 10,000 บาทให้ฟรี ในกรณีที่มีการผลิตได้มากกว่าการใช้งานสามารถส่งไฟฟ้าเข้าระบบแต่จะไม่มีการรับซื้อ เนื่องจากเป็นโครงการนำร่องเพื่อที่จะทดสอบระบบว่าจะสามารถพัฒนาไปสู่การเปิดเสรีอย่างแท้จริงได้หรือไม่ ในกรณีที่อนาคตสายส่งสามารถรองรับได้

นอกจากนี้สำหรับโครงการรับซื้อไฟฟ้าที่เหลือคือ 1) โครงการชีวมวล แบบประมูล (Bidding) ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะต้องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2561 ประมาณ 36 เมกะวัตต์ (จากเดิมที่วางไว้ 80 เมกะวัตต์) ต้องเลื่อนการประกาศออกไปเป็นเดือนสิงหาคมเนื่องจากมีผู้ยื่นเสนอโครงการเข้ามารวม 600 เมกะวัตต์ จึงต้องใช้เวลาในการพิจารณาความเหมาะสมของโครงการจากด้านเทคนิค ด้านราคา และด้านเชื้อเพลิง คาดว่าจะประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติและข้อเสนอด้านเทคนิคได้ภายในวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม 2559 นี้ 2) โครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 50 เมกะวัตต์ ในรูปแบบ Feed in Tariff หรือ FiT และ 3) โรงไฟฟ้าขยะชุมชน 100 เมกะวัตต์ (เน้นพื้นที่ภาคกลาง) ในส่วนของโรงไฟฟ้าขยะนั้นจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็น และต้องหารือกับกระทรวงมหาดไทยในฐานะเจ้าภาพด้านการบริหารจัดการขยะก่อน รวมถึงต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนด้วย

"โซลาร์เซลล์เข้ามาเติมไฟฟ้าให้ระบบได้อย่างดีในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานได้ตามเป้าหมายของแผน AEDP แน่นอน แต่ยังมีประเด็นในเรื่องของการผลิตไฟฟ้าจากขยะ แม้ว่าจะมีปริมาณขยะในภาพรวมค่อนข้างมาก แต่หากมาโฟกัสเป็นรายพื้นที่ขยะที่พอจะป้อนเข้าโรงไฟฟ้าประมาณ 300-500 ตันต่อวันนั้นมีน้อยมาก บางพื้นที่จึงใช้วิธีการขนย้ายขยะจากพื้นที่อื่นมาแทน ทำให้ประชาชนต่อต้านมันจึงเกิดประเด็นปัญหาตามมาอีก"

นายวีระพลกล่าวเพิ่มเติมถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากไบโอก๊าซ (น้ำเสีย, มูลสัตว์) ว่า หลังจากที่ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมและชุมชนเรียบร้อยแล้ว จะเตรียมประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากไบโอก๊าซเพิ่มอีกประมาณ 400 เมกะวัตต์ ในช่วงปลายปี 2559 หรือต้นปี 2560 นี้ ตามที่ศักยภาพของระบบสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะรองรับได้ โดยประเมินว่าจะสามารถรับไฟฟ้าเข้าระบบเพิ่มในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ก่อนในช่วงต้นปี 2561

สำหรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ในรอบถัดไปคือ กันยายน-ธันวาคม 2559 นั้นอาจมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจัยหลักคือสถานการณ์ราคาพลังงานและอัตราแลกเปลี่ยน โดยราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้มาอยู่ที่ 31.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และราคาล่าสุดปรับขึ้นไปอีกครั้งที่ 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล (จากที่คาดการณ์ไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ราคา 29 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล) เท่ากับว่าราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงไปถึง 11 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เบื้องต้นอาจส่งผลกระทบต่อราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยไม่มาก แต่จะสะท้อนที่ราคาก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาเป็นหลัก ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จะเป็นไปตามราคาตลาดโลก ราคาก๊าซจึงปรับขึ้นสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ อาจจะกระทบ ประมาณ 20 บาท/ล้านบีทียู 

รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง ทุก 1 บาทจะกระทบค่าไฟฟ้า Ft ที่ 5-6 สตางค์/หน่วย จากปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้มีแนวโน้มปรับขึ้นค่า Ft จากรอบปัจจุบัน (พฤษภาคม-กันยายน) ที่เก็บในอัตรา 33.23 สตางค์/หน่วย