ตัวแทน "คนต้านเหมือง" ทั่วประเทศ บุกจี้รัฐบาล - สนช. เร่งถอดถอน "ร่าง พ.ร.บ. แร่ ฉบับ คสช." (3 ส.ค. 59)
กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) 3 สิงหาคม 2559
ตัวแทน "คนต้านเหมือง" ทั่วประเทศ บุกจี้รัฐบาล - สนช. เร่งถอดถอน "ร่าง พ.ร.บ. แร่ ฉบับ คสช."
ตัวแทนองค์กรประชาชนหลายสิบองค์กร รวมถึงผู้ประสบปัญหาและได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ จากหลายพื้นที่ทั่วประเทศกว่าร้อยคน ในนาม "กลุ่มเครือข่ายคัดค้าน พ.ร.บ. แร่" บุกยื่นหนังสือคัดค้าน "ร่าง พ.ร.บ. แร่ ฉบับ คสช." ต่อรัฐบาล และสนช. เพื่อให้พิจารณาถอนร่าง พ.ร.บ.แร่ ฉบับดังกล่าว
เมื่อเวลาประมาณ 10.15 น. ของวันที่ 2 สิงหาคม 2559 ตัวแทนองค์กรประชาชนหลายสิบองค์กร รวมถึงตัวแทนผู้ประสบปัญหาและได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ จากหลายพื้นที่ทั่วประเทศกว่าร้อยคน ในนาม “กลุ่มเครือข่ายคัดค้าน พ.ร.บ. แร่” ได้รวมตัวกันบริเวณหน้าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ กพร. เพื่อยื่นหนังสือคัดค้าน "ร่าง พ.ร.บ. แร่ ฉบับ คสช." ต่อรัฐบาล เพื่อให้พิจารณาถอนร่าง พ.ร.บ.แร่ ฉบับดังกล่าว ซึ่ง สนช. กำลังพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญ โดยมีนางสุปราณี จันทรัตนวงศ์ ผู้ช่วย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นตัวแทนรับข้อเรียกร้อง
ทั้งนี้ เหตุผลในหนังสือคัดค้านดังกล่าวระบุว่า
1. ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ในปัจจุบัน และอาจทำให้ปัญหามีความรุนแรงมากขึ้น โดยขาดมาตรการควบคุมดูแล และป้องกันคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่เหมาะสม จากสถานการณ์ในปัจจุบัน และขาดการบูรณาการกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2. การให้อำนาจหน่วยงานในการกำหนดเขตทรัพยากรแร่ หรือ Mining Zone เพื่อให้พื้นที่ทำเหมืองแร่มีสถานะเหนือกฎหมายอื่น รวมทั้งสามารถกำหนดให้พื้นที่ชุมชน และพื้นที่ที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศวิทยา หรือพื้นที่ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ทางโบราณวัตถุ โบราณสถานเป็นเขตทรัพยากรแร่ได้
3. การลดขั้นตอนการขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ให้สามารถอนุมัติได้อย่าง รวดเร็ว โดยเฉพาะ การลดขั้นตอนกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ ความคิดเห็นเพื่อพิจารณาอนุมัติอนุญาต
4. การกำหนดให้จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สำหรับพื้นที่ที่มีแร่อุดมสมบูรณ์ไว้เป็นการล่วงหน้าแล้วเปิดให้เอกชนประมูล เพื่อเข้ามาทำเหมืองแร่โดยไม่ต้องศึกษาอีก เป็นการขัดกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม และจะนำไปสู่การสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
5. การไม่มีบทบัญญัติที่ให้ประชาชนและชุมชนรอบเหมืองสามารถยับยั้งหรือ ยุติการทำเหมือง ในกรณีที่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ รวมทั้งไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง กองทุนฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ กองทุนชดเชยมูลค่าความเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม กองทุนฟ้องคดีในกรณีพิพาทจากการทำเหมือง
6. การสูญเสียผลประโยชน์ของชาติ โดยในร่างกฎหมายยังไม่มีบทบัญญัติว่าการเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าภาคหลวงแร่และ สัญญาการชำระค่าภาคหลวงแร่ การบันทึกและการจัดทำฐานข้อมูลการชำระค่าภาคหลวงแร่ เพื่อให้รัฐสามารถเก็บค่าภาคหลวงแร่ได้ตามมูลค่าจริงที่ผู้ประกอบได้จากการ ทำเหมือง
7. ขาดการเชื่อมโยงกับข้อกำหนดหรือกฎหมายในระดับสากล สำหรับการกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลการนำเข้าและส่งออกแร่ออกนอกราชอาณาจักร
ต่อมา เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. กลุ่มเครือข่ายฯ ได้เดินเท้าจาก กพร. ไปยังรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านต่อ สนช. ทั้งนี้ เมื่อถึงหน้าอาคารรัฐสภา ทางกลุ่มเครือข่ายฯ ได้รับแจ้งว่า อนุญาตให้ตัวแทนกลุ่มจำนวน 50 คน เข้าไปด้านในรัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือและร้องเรียน โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 เป็นผู้รับหนังสือ
ทั้งนี้ นายสุรชัย ได้กล่าวว่า ตามหลักการแล้ว ผู้ที่เสนอกฎหมายต้องเป็นผู้ถอน ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ดังนั้น ครม.จะต้องเป็นผู้ขอถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ออกจากการพิจารณาเอง ส่วน สนช. ไม่มีสิทธิ์ถอนออก ทำได้เพียงปรับปรุงเนื้อหาสาระของร่างกฎหมายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตนจะนำเรื่องนี้จะเข้าที่ประชุมวิป สนช. และวิปรัฐบาล เพื่อแจ้งให้ทราบว่าภาคประชาชนมีความเห็นอย่างไรต่อสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว รวมทั้งจะส่งหนังสือร้องเรียนต่อไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งล่าสุดคณะกรรมาธิการฯ ได้ขอขยายเวลาการพิจารณาไปถึงเดือน ก.ย.
ภายหลังจากการยื่นหนังสือและอ่านแถลงการณ์ ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายฯ ได้ออกมาแจ้งผลการร้องเรียนให้ประชาชนที่รออยู่ด้านนอกทราบ รวมทั้งได้มีการหารือร่วมกันถึงแนวทางการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้
โดยระบุว่าหากทางนายกรัฐมนตรี และ ครม. ไม่มีการถอดถอน พ.ร.บ. ฉบับนี้ออก ทางกลุ่มก็ยืนยันที่เดินหน้าคัดค้านต่อไป โดยอาจจมีแนวทางการเคลื่อนไหวที่รุกคืบมากยิ่งขึ้นเพื่อกดดันให้มีการถอดถอนร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เนื่องจากเนื้อหาและสาระสำคัญส่งผลกระทบอย่างมาก ทั้งต่อสภาพแวดล้อมและสิทธิตลอดจนคุณภาพชีวิตของประชาชน