หวั่นโรงไฟฟ้ากระบี่ไม่ได้มาตรฐาน เหตุค่าก่อสร้างต่ำกว่าเกณฑ์เกือบครึ่ง (31 ก.ค. 59)

Green News TV 31 กรกฎาคม 2559
หวั่นโรงไฟฟ้ากระบี่ไม่ได้มาตรฐาน เหตุค่าก่อสร้างต่ำกว่าเกณฑ์เกือบครึ่ง

“กรีนพีซ” ร่อนแถลงการณ์จี้ “กฟผ.-รัฐบาล” ล้มโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ เหตุเอกชนยื่นซองเสนอราคาก่อสร้างต่ำกว่าเกณฑ์สร้างโรงไฟฟ้าแบบมีประสิทธิภาพกว่าครึ่ง

กรีนพีซ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2559 เรียกร้องให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และรัฐบาลยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ขนาด 880 เมกะวัตต์ และท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหิน ภายหลังพบว่ากลุ่มกิจการค้าร่วมพาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น ออฟ ไชน่า และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ซึ่งเสนอราคาก่อสร้างต่ำสุดที่ 3.2 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นราคาที่ต่ำกว่าที่องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 600 เมกะวัตต์ ที่มีการควบคุมมลพิษที่เข้มงวด จะมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ที่ 6.028 หมื่นล้านบาท

น.ส.จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า แม้ กฟผ.จะอ้างว่าการเปิดซองประมูลสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่เป็นการดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุน และไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่สิ่งที่ชัดเจนคือตั้งแต่เปิดรับซองในเดือน ส.ค.2558 จนถึงปัจจุบัน มีความพยายามสร้างแรงกดดันต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ผ่านรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) อันจะส่งผลให้รัฐบาลอนุมัติโครงการ

น.ส.จริยา กล่าวว่า นอกจากนี้การพิจารณาโดยเลือกราคาต่ำที่สุด ยังสร้างความกังวลถึงประสิทธิภาพและการกำกับดูแลผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เนื่องจาก IEA ระบุไว้ว่าในกรณีของโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 600 เมกะวัตต์ที่มีการควบคุมมลพิษที่เข้มงวด จะมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ที่ราว 6.028 หมื่นล้านบาท ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ขนาด 870 เมกะวัตต์ ถูกเสนอไว้เพียงที่ 3.2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

“หากบริษัทพาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น ออฟ ไชน่า ชนะการประมูล บริษัทจะต้องตระหนักว่าการดำเนินโครงการนั้นขัดต่อนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของตน ที่หลีกเลี่ยงการพัฒนาโครงการพลังงานในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตมรดกโลก ถิ่นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในภาวะคุกคาม และพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ตั้งอยู่ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และท่าเทียบเรือก็ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่”น.ส.จริยา กล่าว

น.ส.จริยา กล่าวอีกว่า ในส่วนของการแต่งตั้งคณะกรรมการไตรภาคีโดยคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการพลังงานหมุนเวียน ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใน จ.กระบี่ นั้นยังจะกลายเป็นเพียงพิธีกรรม และปิดโอกาสทางนโยบายที่เอื้อให้ข้อเรียกร้องภาคประชาชนเกิดขึ้นจริง