เตือนโซล่าเซลล์หมดอายุกลายเป็น ‘ขยะพิษ’ สกว.หวั่นอีก 40 ปี ซากอันตรายพุ่ง 6 แสนตัน (29 ก.ค. 59)

Green TV News 29 กรกฎาคม 2559
เตือนโซล่าเซลล์หมดอายุกลายเป็น ‘ขยะพิษ’ สกว.หวั่นอีก 40 ปี ซากอันตรายพุ่ง 6 แสนตัน

นักวิชาการวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ระบุ โซล่าเซลล์หมดอายุกลายเป็นขยะพิษอันตราย หวั่นแผนพลังงานแสงอาทิตย์อีก 20 ปี ทำให้เหลือซากแผงวงจรทะลุ 6 แสนตัน

ผศ.พิชญ รัชฎาวงศ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการขยะ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าชุดโครงการวิจัยร่วมสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เรื่องการจัดการแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่หมดความคุ้มค่าในการผลิตไฟฟ้า เปิดเผยว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ไม่ใช่พลังงานสะอาด 100% เพราะโซล่าเซลล์มีอายุการใช้งานเฉลี่ยราวๆ 20 ปี เมื่อหมดอายุขัยก็จะกลายเป็นขยะพิษ ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้จัดให้เป็นของเสียอันตรายแล้ว

ผศ.พิชญ กล่าวว่า ประเทศไทยตั้งเป้าส่งเสริมการติดตั้งโซล่าเซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนให้ได้ถึง 6,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2579 หรืออีก 20 ปี ซึ่งประเมินกันว่าเมื่อโซล่าเซลล์หมดอายุการใช้งานในอีก 20 ปีถัดไป จะทำให้มีปริมาณของเสียสูงถึง 6 แสนตัน

สำหรับของเสียเหล่านี้ มีองค์ประกอบที่อาจจะเกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้แก่ สารจำพวกโลหะหนักหรือพลาสติกต่างๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องเริ่มศึกษาวิธีบริหารจัดการวางแผนทางเลือกที่เหมาะสม โดยพิจารณาทั้งหลักการบริหาร กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม

นายสันต์ สัมปัตตะวนิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และนักวิจัยโครงการฯ กล่าวว่า ขยะจากแผงโซล่าเซลล์สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ระหว่างการติดตั้ง ที่อาจเกิดความเสียหายเนื่องจากกระทำโดยผู้ที่ไม่ชำนาญการ หรือระหว่างการใช้งานทั้งจากเหตุไม่คาดคิดและการดูแลรักษา สุดท้ายคือแผงที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุการใช้งาน ซึ่งสาเหตุเหล่านี้จะมีความแตกต่างกันในเรื่องความสมบูรณ์ของแต่ละชิ้นส่วน แต่ทั้งนี้การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทยส่วนใหญ่ยังเป็นแบบง่ายๆ ราคาไม่สูงมากนัก

“การจัดการที่มีคุณภาพด้วยกระบวนการที่จะทำให้องค์ประกอบของวัสดุแยกออกจากกัน โดยที่เกิดความเสียหายน้อยที่สุดเพื่อนำไปรีไซเคิลจำเป็นจะต้องใช้เงินทุนและเทคโนโลยีมากขึ้น แต่ปัญหาคือใครควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น วิธีการ กฎหมาย หรือการบังคับใช้ใดที่จะเหมาะสมกับประเทศไทย เหล่านี้เป็นประเด็นที่จะต้องถกเถียงกันเพื่อหาข้อสรุปต่อไป” นายสันต์ กล่าว

รศ.สมชัย รัตนธรรมพันธ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาฯ และนักวิจัยโครงการฯ กล่าวว่า ปัญหาโซล่าเซลล์นั้นเช่นเดียวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หากกำจัดโดยการเผาก็สูญเสียทั้งพลังงานและงบประมาณ ทั้งยังสร้างสารคาร์บอนไดออกไซด์และไดออกซิน หากนำไปฝังกลบก็จะเกิดการแพร่กระจายของโลหะหนัก ทั้งตะกั่วและแคดเมียมตามดินและแหล่งน้ำธรรมชาติ จนอาจเกิดวิกฤตสูญเสียแหล่งอาหารและน้ำในอนาคต

รศ.สมชัย กล่าวว่า สำหรับกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือประเทศเยอรมนี ด้วยหลักการจัดการที่ให้ผู้ก่อขยะเป็นผู้รับผิดชอบ กล่าวคือให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายต้องมีหน้าที่เรียกคืนและรวบรวมนำเอาอุปกรณ์เหล่านี้ กลับมาดำเนินการแยกชิ้นส่วน รีไซเคิล หรือส่งต่อไปยังแห่งอื่นๆ จึงส่งผลให้ภาคเอกชนออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้มากขึ้นตามไปด้วย รวมถึงมีการรวมตัวกันก่อตั้งองค์กรอิสระเพื่อบริหารจัดการ โดยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ได้มีการรวมไปในราคาของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้น ดังนั้นผู้บริโภคจึงมีส่วนในการรับผิดชอบด้วยเช่นกัน

“แต่สำหรับประเทศไทยจะใช้แบบใดนั้น อาจต้องย้อนกลับมาวิเคราะห์และร่วมกันตกผลึกเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ” รศ.สมชัย กล่าว