ขานรับ HIA ฉบับ2 สช.ชี้ ไม่ใช่เครื่องมือขัดขวางการพัฒนาประเทศ (29 ก.ค. 59)

ประชาไท 29 กรกฎาคม 2559
ขานรับ HIA ฉบับ2 สช.ชี้ ไม่ใช่เครื่องมือขัดขวางการพัฒนาประเทศ

ขานรับ HIA ฉบับใหม่ สช. วางกรอบนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะชุมชน สช.ชี้ HIA ฉบับ 2 เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน ลดความขัดแย้งในพื้นที่ที่มีผลจากนโยบายหรือโครงการพัฒนาทั้งของภาครัฐและเอกชน

29 ก.ค.2559 เวลา 10.30 น. ที่ อาคารสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) จัดเสวนา ‘สตาร์ทอัพประกาศ HIA ฉบับใหม่ใครได้ ใครเสีย’ โดย นพ.นพดล ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบบ้านสุขภาพ, เดชรัต สุขกำเนิด มูลนิธินโยบายสุขภาวะ, รศ.นพ.พงศ์ วิวรรธนะเดช หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, และ กัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำบางปะกง ดำเนินรายการโดย ประวีณมัย บ่ายคล้อย

นพ.พลเดช กล่าวว่า การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA (Health Impact Assessment) เป็นกระบวนการตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่สนับสนุนให้เกิดสุขภาวะที่ดีและสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลผลกระทบต่างๆ ทั้งในเชิงบวกและลบ จากนโยบายสาธารณะ ยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการหรือกิจกรรมร่วมกัน อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการดำเนินงาน ร่วมสร้างทางเลือกในการพัฒนาหรือการจัดการพื้นที่ ร่วมตัดสินใจอย่างสมานฉันท์ ตลอดจนร่วมติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลในระยะยาวต่อไป

'ขณะนี้ ทุกภาคส่วนในสังคมมีความตื่นตัวและเข้าใจในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพมากขึ้น หลังจากที่หลักเกณฑ์ HIA มีผลบังคับใช้มากว่า 7 ปี ทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน หน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันทางวิชาการ/วิชาชีพ ต่างเห็นตรงกันว่า กระบวนการ HIA ได้เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีเวทีกลางที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการร่วมกันอย่างเป็นระบบ มีเหตุมีผล ช่วยลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ นำไปสู่การหาทางออกร่วมกัน เพื่อสุขภาวะที่ดีของชุมชน' นพ.พลเดช กล่าว


ภาพ เดชรัต สุขกำเนิด

เดชรัต กล่าวว่า เนื้อหาในประกาศ HIA ฉบับที่ 2 เกิดจากการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งทุกฝ่ายเห็นความสำคัญและประโยชน์ร่วมกัน โดยหลักเกณฑ์ใหม่จะดำเนินการใน เชิงรุก มากขึ้น ตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มนโยบายสาธารณะหรือโครงการ ด้วยการ ก่อขบวน ชักชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียมาออกแบบและวางแผนการทำ HIA เพื่อให้เกิดการยอมรับผลร่วมกัน ไม่ใช่ปล่อยให้มีการตัดสินใจไปแล้วจึงประเมินผลกระทบเหมือนที่ผ่านมา รวมถึงเมื่อมีข้อร้องเรียนในระหว่างที่ดำเนินโครงการ และ/หรือเมื่อแล้วเสร็จ ก็สามารถจัดทำ HIA ได้เช่นเดียวกัน

เดชรัต กล่าวต่อว่า หลักเณฑ์ฉบับที่ 2 ให้ความสำคัญกับ 4 หลักการ 1.ต้องทำร่วมกัน รวมถึงการประเมินผลกระทบด้วยชุมชน 2.ทำได้ทุกขั้นตอน ไม่ใช่เฉพาะก่อนเริ่มดำเนินโครงการ เมื่อศึกษาเรียนรู้ปรับปรุงได้ทั้งโครงการ 3.เพื่อความยั่งยืนสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การเหนี่ยวรั้งการพัฒนาแต่ถูกทิศถูกทาง 4.ทำเชิงรุก ไม่ได้หมายความว่าต้องไปรอขออนุญาตขออนุมัติโครงการ เราไม่จำเป็นต้องรอเรามีปัญหาเกิดขึ้นเราก็เริ่มต้นการดำเนินโครงการได้เลย โดยเสนอเรื่องที่ควรชวนกันก่อขบวนเพื่อการทำ HIA ได้แก่ แนวโน้มที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในอนาคต มีทางเลือกทางนโยบายที่หลากหลาย มีทางเลือกใหม่ๆที่เกิดขึ้นในอนาคต มีความเห็นและผลกระทบที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม เกิดการเปลี่ยนแปลงในปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพ และฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานร่วมกันได้ โดยยกตัวอย่างประเด็นที่น่าสนใจ เช่น  โครงการพัฒนาริมน้ำเจ้าพระยา การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ การขนส่งในอนาคต การจัดผังเมืองและออกแบบเมือง เราจะใช้โอกาสเชิงรุกที่จะลดความเสียหายเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้อย่างไร ต้องมีการประเมินผลกระทบให้รอบด้าน ระบบหลักประกันสุขภาพล่วงหน้า ระบบสวัสดิการสังคมในอนาคต การเจรจาและการทำข้อตกลงทางการค้า เรื่องไหนควรถ้วนหน้า

เดชรัต กล่าวถึงเรื่องการประเมินผลกระทบนั้นไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดโครงขึ้นก่อนถึงจะทำกระบวนการได้ แต่ HIA สามารถใช้ได้ในทุกกระบวนการและเกี่ยวกับนโยบายที่อาจสร้างผลกระทบด้วยไม่ใช่แค่เฉพาะโครงการนั้นๆอย่าง EIA หรือ EHIA ซึ่ง HIAไม่เกี่ยวข้องกับการอนุญาต/ไม่อนุญาตโครงการ แต่เป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกันโดยทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดย สช.ต้องมีภารกิจที่จะเป็นสะพานเชื่อมที่จะเอาคนที่มีข้อมูลหรือเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ และไม่ใช่แค่เรียกคนแต่ละกลุ่มมาคุยกันเท่านั้น แต่ต้องนำข้อมูลมานำเสนอทางเลือกร่วมกันด้วย โดยการทำงานเหล่านี้ผู้ที่ทำ HIA จะต้องระวัง 6 ข้อจำกัด คือ 1.เวลาจำกัด 2.ทางเลือกจำกัด 3.จำกัดคนเข้าร่วม 4.รูปแบบจำกัด 5.ข้อมูลถูกจำกัด 6.การตัดสินใจจำกัด สิ่งเหล่านี้จะทำให้ HIA รวบรวมข้อมูลที่ไม่มีประสิทธิภาพและจะทำให้เพิ่มปัญหามากกว่าลดปัญหา

'ปัญหาของ HIA ฉบับเดิม คือ หลายภาคส่วนต่างฝ่ายต่างดำเนินการ จึงมีการก่อรูปโครงสร้างใหม่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการกำหนดนโยบาย แผนงานต่างๆ ให้เกิดการยอมรับ เปิดรับข้อมูลรอบด้าน ทั้งด้านของผู้พัฒนาโครงการและของชุมชน อย่ามองว่าแข็งหรือผ่อนปรนมากขึ้น เพราะ สช. ไม่มีอำนาจในการบังคับให้หน่วยงานต้องปฏิบัติตาม แต่สิ่งสำคัญคือ ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการนำหลักเกณฑ์ HIA ไปประยุกต์ใช้ ระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วน ให้เกิดประสิทธิผล เกิดประโยชน์ต่อนโยบายโดยภาพรวม' เดชรัต กล่าว


ภาพ นพ.วิพุธ พูลเจริญ

นพ.วิพุธ กล่าวว่า ปัจจุบันแนวทางการพัฒนานโยบายสาธารณะ แผนงาน โครงการ หรือกิจกรรม ตลอดจนการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร หรือกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม ได้มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจึงได้ปรับปรุง ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ฉบับที่ 1 ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2552 ให้ทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์และบริบททางสังคม สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่มุ่งสู่สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันมากยิ่งขึ้น พร้อมปรับปรุงโครงสร้างการทำงาน การผลิตบุคลากร ให้สอดรับกับหลักเกณฑ์วิธีการใหม่นี้ด้วย

'ประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2559 ได้เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หน่วยงาน องค์กรต่างๆ สามารถนำประกาศหลักเกณฑ์ HIA ฉบับใหม่ไปประยุกต์ใช้เป็นกรอบแนวทางในการกำหนดนโยบาย แผนงาน โครงการหรือกิจกรรมได้ โดยคำนึงถึงประเด็นผลกระทบทางสุขภาพในทุกมิติ ภายใต้กรอบปัจจัยทางสังคมกำหนดสุขภาพ (Social Determinants of Health) ในทุกนโยบาย หรือที่เรียกว่า Health in all olicies'

นพ.วิพุธ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จะลงไปผนึกกำลังร่วมมือกับหน่วยงานผู้กำหนดโยบายและภาคส่วนต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้มีการนำหลักเกณฑ์และวิธีการตามประกาศ HIA ฉบับที่ 2 ไปประยุกต์ใช้มากขึ้น โดยขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการใช้แล้วในเรื่องการศึกษาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาภายในประเทศจากโครงการศึกษาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกหรือ TPP ที่เป็นการทำ HIA ในระดับนโยบาย ในส่วนของ HIA ระดับโครงการก็ได้มีการประยุกต์ใช้ในหลายโครงการที่มีการร้องขอตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เช่น โครงการท่าเทียบเรือ โครงการเหมืองแร่ โครงการโรไฟฟ้าจากขยะ

กัญจน์ กล่าวว่า ขณะนี้ชุมชนอำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา กำลังศึกษาศักยภาพของชุมชนและผลกระทบที่อาจจะเกิดจากโครงการโกดังและท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้าริมแม่น้ำบางปะกง และจากการศึกษาโดยกระบวนการเอชไอเอ พบว่า แม่น้ำบางปะกงที่เป็นแหล่งผลิตกุ้ง เคย และมีอาชีพต่อเนื่องที่สร้างรายได้ให้กับคนทั้งครอบครัว โดยบางครอบครัวไม่ต้องไปประกอบอาชีพอื่นเลยเพราะแม่น้ำเลี้ยงพวกเขาได้ เช่น อาชีพประมงชายฝั่งที่หาอยู่หากินด้วยอุปกรณ์ประมงพื้นบ้าน เช่น ซั่ง โป๊ะ ก่ำ มีป่าจากและอาชีพทำตับจาก ขุดปูทะเล เลี้ยงปลาในกระชังริมแม่น้ำ ล่องเรือท่องเที่ยว และยังพบป่าโกงกางและค้างคาวแม่ไก่ริมน้ำอีกด้วย ซึ่งหากแม่น้ำบางปะกงเปลี่ยนแปลงย่อมกระทบต่อพวกเขาอย่างแน่นอน

'การทำ HIA ครั้งนี้ มีทีมงานที่เป็นชาวบ้านและคนในชุมชนทั้งหมด โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยหัวใจหลักของการประเมินครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างการพัฒนาแม่น้ำบางปะกงอย่างยั่งยืน' กัญจน์ กล่าว


ภาพ รศ.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช

รศ.นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า ในส่วนของพื้นที่ภาคเหนือมีโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลต่อสุขภาวะของประชาชนเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมา ได้นำกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพไปใช้ในพื้นที่บริเวณ นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และความร่วมมือจากชาวบ้านใน 4 ตำบลรอบนิคมฯ ได้แก่ บ้านกลาง มะเขือแจ้ เหมืองง่า และเวียงยอง โดยมี การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน (Community-Based Health Impact Assessment-CHIA) และ เครื่องมือระบาดวิทยาภาคประชาชน (Popular epidemiology) เฝ้าระวังปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้น ประยุกต์ใช้ในการประเมินความเชื่อมโยงระหว่างต้นเหตุของปัญหากับภัยคุกคามสุขภาพที่เกิดขึ้นใน 4 ตำบลร่วมกัน ส่งผลให้ชุมชนเกิดความเข้าใจ รับรู้ต้นเหตุของปัญหาสุขภาพ เช่น โรคมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง และหอบหืด ไม่ได้เกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่กิจกรรมของชาวบ้านเองก็มีส่วนด้วย เช่น การเผาไม้-หญ้าแห้ง โรงงานเฟอร์นิเจอร์ในชุมชน ยาฆ่าแมลง โรงสีข้าว การเผาศพ การใช้สารเคมีในสวนลำไย การล้างถังสารเคมีจากนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น

'การดำเนินการในครั้งนี้ ให้ ชุมชนได้มีส่วนร่วมทุกขั้นตอน กำหนดประเด็นปัญหา หาสาเหตุ ตรวจสอบ การทดสอบในห้องปฎิบัติการ นำเสนอแนวทางแก้ไข มีการอบรมเรื่องระบาดวิทยา ประกอบกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ความจริง ทำให้ชาวบ้านถึงเข้าใจผลกระทบดีขึ้น เรียนรู้ถึงสาเหตุอย่างรอบด้าน ไม่ใช่เพียงแต่โทษคนอื่น ไม่ใช้อคติ หรือความรู้สึกในการตัดสินเหมือนในอดีต' รศ.นพ.พงศ์เทพ กล่าว

 

การประเมินด้านผลกระทบทางสุขภาพ หรือ HIA (Health Impact Assessment)คือ กระบวนการวิเคราะห์และคาดการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบาย แผนงาน/ยุทธศาสตร์ โครงการหรือกิจกรรมของรัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาหรือการลงทุนเพื่อการสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบในทางบวกหรือทางลบ ที่มีต่อสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วมากว่า 7 ปี

HIA มุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในสังคม เพื่อสนับสนุนในการตัดสินใจร่วมกัน และทางเลือกเชิงนโยบายที่จะเป็นผลที่ดีต่อสุขภาพประชาชน ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 และประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบาย สาธารณะ

HIA ต่างจาก EIA หรือ EHIA อย่างไร ทั้ง 3 รูปแบบมีความเหมือนในเรื่องเป้าหมายคือส่งเสริมการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่ง แวดล้อมและสุขภาพของประชาชน แต่แตกต่างกันที่อำนาจบังคับใช้ ขอบเขตและแนวทางปฏิบัติ
HIA เป็นกระบวนการส่งเสริมศักยภาพให้กับภาคประชาชน เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในกระบวนการพัฒนาทุกระดับ นโยบาย แผนงาน โครงการกิจกรรมเพื่อสาธารณะ ตั้งแต่การเข้าถึงข้อมูล แลกเปลี่ยนข้อมูล ร่วมเรียนรู้ จนนำไปสู่การตัดสินใจร่วมในการดำเนินการ ติดตามประเมินผลร่วมกันระหว่างภาคประชาชนกับภาครัฐหรือเอกชน หรือส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยการจัดเวทีรับฟังความเห็นช่วยยุติความขัดแย้งด้วยข้อมูลข้อเท็จจริง

EIA หรือรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม, EHIA หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ เป็นกฎหมายหลักที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาต โดยกำหนดว่า โครงการประเภทใด เช่น เขื่อน เหมืองแร่ โรงไฟฟ้า ถนน สนามบิน โรงงานอุตสาหกรรรม ฯลฯ และมีลักษณะ ขนาดใดบ้างที่เข้าข่ายต้องมีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบฯ และหากมีผลกระทบจะต้องเสนอมาตรการแก้ไข ควบคุม ป้องกันและติดตามเพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติอนุญาตด้วย ซึ่งการประเมินผลกระทบฯ ทั้ง 2 รูปแบบ มีขอบเขตการประเมินผลกระทบเป็นเพียงเฉพาะรายงานหรือโครงการกิจกรรมนั้น ถึงแม้ว่าในพื้นที่ที่ตั้งโครงการหรือกิจกรรม จะมีโครงการหรือกิจกรรมเช่นเดียวกับที่อื่นๆที่มีส่งผลกระทบอยู่แล้ว เครื่องมือนี้ก็ไม่สามารถประเมินผลกระทบในภาพรวมได้ อีกทั้งยังไม่สามารถนำมาใช้ในการประเมินนโยบายหรือแผนงานในระดับชาติได้