กสม. ติงรัฐทบทวนเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หวั่นปชช.ถูกแย่งยึดทรัพยากร (29 ก.ค. 59)

ประชาไท 29 กรกฎาคม 2559
กสม.ติงรัฐทบทวนเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หวั่นปชช.ถูกแย่งยึดทรัพยากร

กรรมการสิทธิฯ ติงรัฐทบทวนเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก แนะต้องฟังเสียงประชาชน นักวิชาการวิตกเกิดการแย่งยึดจากชาวบ้านทั้งทรัพยากรน้ำและไฟฟ้า

กรณีการเร่งรัดผลักดันโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ของรัฐบาลกำลังจะเป็นอีกหนึ่งอภิโครงการด้านเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นประเด็นท้าทายของประชาชนภาคตะวันออกในมิติสิทธิมนุษยชน

ในงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนพบประชาชน ภาคกลาง ที่จัดขึ้นที่พัทยา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 27-29 กรกฎาคมที่ผ่านมา เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุยชน กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีประชาชนหรือชุมชนส่งคำร้องมายังคณะกรรมการสิทธิ อย่างไรก็ตาม ในกรณีของชลบุรีขณะนี้มีเครือข่ายภาคประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้อยู่แล้ว

“ส่วนตัวอยากเห็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสหประชาชาติได้จัดประชุมเมื่อปีที่แล้ว ท่านนายกฯ ก็ไปด้วย และรู้สึกประทับใจสองเป้าหมายคือเราต้องใช้ทรัพยากรทางทะเลและบนบกอย่างสมดุลและยั่งยืน คือการโตทางเศรษฐกิจต้องไม่เอาทรัพยากรทางทะเลและบนบกมาใช้อย่างล้างผลาญ แต่ที่เห็นขณะนี้ รัฐบาลไทยทุกยุคสมัยจะเน้นเรื่องเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งสวนทางกัน”

“การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกต้องทบทวน และต้องมาจากสองเรื่องที่เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน คือการให้ข้อมูลรอบด้านว่ารัฐบาลคิดอะไร ภาคธุรกิจคิดอะไร แล้วชาวบ้านจะเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจและวางแผน ส่วนตัวอยากเห็นแผนบูรพาวิถีที่ทำขึ้นมาโดยภาคประชาชนและนักวิชาการบนฐานทางข้อมูลและวิชาการที่เป็นศักยภาพและอัตลักษณ์ของภาคตะวันออก รัฐบาลต้องฟังและนำไปปฏิบัติ แผนพัฒนาในแต่ละจังหวัด แต่ละภาค ประชาชนควรเป็นผู้ตัดสินใจเอง ไม่ใช่แค่รัฐและนายทุน”

ด้านวีรวิทย์ วิวัฒนวานิช อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราและอดีตที่ปรึกษา บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลเพียงว่า เรื่องนี้ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีมติคณะรัฐมนตรีให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปเขียนโครงการภายใน 90 วัน จึงยังไม่มีรายละเอียด

ด้านนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมภาคตะวันออกที่ติดตามประเด็นนี้อย่างสมนึก จงมีวศิน แสดงความเป็นห่วงว่าจะเกิดการแย่งยึดฐานทรัพยากรในภาคตะวันออก

“ตอนนี้ 11 จังหวัดภาคตะวันออก 8 จังหวัดขาดน้ำปีละ 519,000 คิวต่อปี ตอนนี้เรามีนิคมเพิ่มขนาดนี้ ตัวอีสเทิร์น ซีบอร์ด ก็ขยายแล้วยังจะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษอีก ผมถามว่าจะใช้น้ำเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ แล้วจะเอาน้ำที่ไหนใช้ ขณะที่โรงไฟฟ้าทุกวันนี้คนก็ต่อต้านเยอะ ต้นทุนถูกที่สุดคือโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่จะต้องมีโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ นอกจากเขาจะเอาฐานทรัพยากรของเราไปแล้ว ยังสร้างมลพิษด้วย”

โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ภาครัฐกำลังเร่งผลักดัน โดยภาครัฐและเอกชนจะระดมเงินลงทุนขั้นต่ำ 1.5 ล้านล้านบาทภายใน 5 ปี ตั้งเป้าว่าจะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 แสนล้านบาท การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 4 แสนล้านบาท รวมไปถึงการลงทุนเมืองใหม่ โรงพยาบาล โรงเรียน ที่อยู่อาศัย และด้านการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพอีกประมาณ 6 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ยังมอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ สำหรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้น เช่น การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับนักวิจัย หรือการให้ชาวต่างประเทศที่เข้าลงทุนสามารถเช่าที่ดินได้ยาวนานถึง 99 ปี เป็นต้น