ความสุขของเด็กหนุ่มในลำห้วยพิษ (26 ก.ค. 59)

Green News TV 26 กรกฎาคม 2559
ความสุขของเด็กหนุ่มในลำห้วยพิษ

… ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

ยังไม่ทันที่รถตู้ของคณะผู้มาเยือนจะจอดสนิท เด็กหนุ่มตัวเปียกโชกเดินยิ้มแฉ่งก็มารอให้การต้อนรับอยู่ภายนอกแล้ว

“สวัสดีครับพี่ สวัสดีครับ” เขาหย่อนฝีเท้าลงตามจังหวะของรถที่กำลังจะหยุดนิ่งใต้ร่มไม้ใหญ่ในหมู่บ้านคลิตี้ล่าง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ขณะที่สองมือยังอยู่ในท่าประนม

“พี่มาทำไมครับ มาทำอะไรครับ มาทำไมครับ” เขาเร่งเร้าใครบางคนที่กำลังก้าวลงจากรถ

“ก็มาเยี่ยมโจไง … แต่ขอไปกินข้าวที่วัดกันก่อนนะ” ใครคนนั้นตอบ ทำให้ผมรู้ว่าเด็กหนุ่มคนนี้ชื่อ “โจ”

แทบจะในทันทีที่สวนคำ โจก็ปรี่ตัวเองขึ้นมานั่งอยู่ในรถตู้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“ไปด้วย” โจบอก

ตลอดระยะทางสั้นๆ เพียง 3-4 นาที โจแสดงตัวต่อคณะผู้มาเยือนอย่างไม่มีอำพราง เขาชี้โบ๊ชี้เบ๊และพูดไม่หยุด เล่นและทักทายทุกคนทั้งๆ ที่เพิ่งเจอกันเป็นครั้งแรก แม้สำนวนจะติดขัด ออกเสียงได้ไม่ชัด แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคต่อมิตรภาพที่กำลังจะบังเกิด

โจเป็นเด็กหนุ่มที่มีบุคลิกเหมือนเด็กน้อย หลายคนบอกว่าเขาแตกต่างออกไปจากเรา

แน่นอนว่าผมเห็นด้วย แต่บางครั้งก็ไม่

โจเล่าว่าตัวเองอายุ 9 ขวบ ซึ่งหากถามเขาในอีก 10 ปีข้างหน้า ก็อาจจะได้รับคำตอบว่า 9 ขวบเหมือนเดิม ซึ่งจากการสืบสาวราวเรื่องแล้วพบว่าปัจจุบันโจอายุ 16-17 ปี ที่น่าสนใจก็คือในชุมชนกะเหรี่ยงแห่งนี้ ไม่มีใครไม่รู้จักโจ

โจเป็นผลผลิตของพิษตะกั่วซึ่งปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมชุมชนคลิตี้ล่าง วันที่โจเกิดเป็นวันเดียวกับที่คณะแพทย์และคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา ลงพื้นที่มาเยี่ยมยามชาวบ้าน โจจึงได้รับเกียรติจาก สว.เป็นผู้ทำคลอด และถูกขนานนามว่า “โจ สว.” ตั้งแต่บัดนั้น

“เด็กคนนี้จะเป็นกรณีศึกษาที่ยังมีชีวิต เราจะติดตามเขาเพื่อพิสูจน์ว่าพื้นที่แห่งนี้มีพิษตะกั่วจริงหรือไม่” แพทย์จากกระทรวงสาธารณสุข กล่าวไว้เมื่อประมาณปี 2540 เศษๆ และนั่นเป็นครั้งเดียวที่เขาและคณะแพทย์ได้เจอกับโจ

โจเติบโตขึ้นมาในหมู่บ้านอย่างเป็นหนึ่งเดียวกับสารตะกั่วในร่างกาย เขาไม่เคยล่วงรู้เลยว่าตัวเองกำลังป่วย และทุกวันนี้โจก็ยังดื่มน้ำ-เล่นน้ำจากลำห้วยคลิตี้สม่ำเสมอ

“มันเย็นดีครับ ผมชอบ” เขายิ้มแฉ่งแบบเดียวกับที่พบกันในแว่บแรก

“อยู่บ้านมีความสุขดีไหมโจ” ผมลองถาม “มีครับ” โจตอบระหว่างเรานั่งท้ายรถกระบะสำรวจพื้นที่ประกอบกิจการเหมืองตะกั่ว ต้นตอของมลพิษในหมู่บ้าน

“ทำไมถึงมีล่ะ?”

“มีน้ำตก มีปลาด้วย เยอะเลย มีต้นไม้ เย็น … สบาย” เขามองหน้า ฉีกยิ้มหนึ่งที แล้วเจื้อยแจ้วต่อ “บ้านพี่มีไหมครับ มีไหมครับ ต้นไม้ น้ำตก พี่ชอบไหมครับ …”

แทบไม่มีเว้นวรรคตอนให้แลกเปลี่ยน เขายังพูดต่อไป

“… ตอนดึกเย็น ต้องห่มผ้า แม่ซื้อผ้าห่มให้ มีน้ำ โชคดีที่มีน้ำ”

ความเงียบเข้ามาทำหน้าที่เพียงครู่เดียว โจก็หันมาสะกิด “พี่ครับ ดูนี่ๆ” เขาดึงคอเสื้อลงมาทาบบ่า

“โดนผึ้งต่อย … เจ็บ … แต่เดี๋ยวหายใช่ป่ะพี่ เจ็บแปปเดียวก็หายใช่ป่ะครับ?”

วันสุดท้าย คณะมีกำหนดการเดินทางกลับในช่วงเที่ยง แต่โจมาปลุกเราตั้งแต่เช้าตรู่

“พี่ๆ เอาข้าวไปวัดกัน” ในมือของเขามีข้าวไร่ร้อนๆ 1 ถ้วย

“เอาข้าวไปให้พระ แล้วไปเล่นน้ำกัน ไปใช่ป่ะพี่?” ผมบอกให้โจล่วงหน้าไปก่อนเลย

เป็นความจริงที่ว่าโจกำลังป่วย ร่างกายมีสารตะกั่วไม่ต่ำกว่า  20 ไมโครกรัม/เดซิลิตร จากมลพิษที่เขาและชุมชนไม่ได้ก่อ

แต่ในแง่ของหัวใจ … เชื่อว่าโจคงแข็งแรงกว่าใครหลายคน

“พี่ครับๆ มาหาผมอีกนะ”

คนเฒ่าคนแก่อวยพรให้คณะผู้มาเยือน เราต่างโอบกอดและกล่าวคำอำลา

รถตู้แล่นออกจากป่าทึบ หวนคืนสู่เมืองกรุงอันศิวิไลซ์

————————————————–
หมายเหตุ : ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษาเมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ให้บริษัทตะกั่ว คอนเซนเตรทส์ จำเลยที่ 1 และนายคงศักดิ์ กลีบบัว กรรมการผู้จัดการบริษัท จำเลยที่ 2 ร่วมกันจ่ายเงินชดเชยจำนวน 20.2 ล้านบาท ให้กับชาวกะเหรี่ยงคลิตี้ล่าง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี จำนวน 8 ราย ซึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีโรงแต่งแร่ประกอบกิจการจนก่อให้เกิดมลพิษปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้

นอกจากนี้ ศาลฎีกายังได้สั่งให้จำเลยทั้งสองรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยจนกว่าจะกลับคืนสู่ธรรมชาติ และยังให้สิทธิโจทก์ทั้ง 8 ราย ร้องต่อศาลให้สั่งเพิ่มเงินชดใช้ได้ในระยเวลา 2 ปี หากพบการเจ็บป่วยจากพิษตะกั่ว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทได้ล้มละลายไปแล้ว และกรรมการผู้จัดการก็ได้เสียชีวิตแล้ว แต่มีนางสุลัดดา กลีบบัว เป็นผู้รับมรดกความแทน จากนี้จึงต้องเข้าสู่กระบวนการบังคับคดีเพื่อสืบหาทรัพย์มาชดใช้ให้กับผู้เสียหายและฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ต่อไป

อนึ่ง ลำห้วยคลิตี้ถูกปนเปื้อนตั้งแต่ปี 2532 จากนั้นในปี 2556 ชาวกะเหรี่ยง 8 ราย ซึ่งมีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่ามีพิษตะกั่วเรื้อรัง ตัดสินใจฟ้องบริษัทผู้ก่อมลพิษ รวมระยะเวลาต่อสู้คดีนานถึง 13 ปี