สนช.เร่งสรุปท่าเรือปากบารา ลุ้นไฟเขียวอีไอเอสร้างรถไฟเชื่อมสตูล – สงขลา (26 ก.ค. 59)

ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 26 กรกฎาคม 2559
สนช.เร่งสรุปท่าเรือปากบารา ลุ้นไฟเขียวอีไอเอสร้างรถไฟเชื่อมสตูล – สงขลา


สนช.เร่งสรุปท่าเรือปากบารา ลุ้นไฟเขียวอีไอเอสร้างรถไฟเชื่อมสตูล - สงขลา

กมธ.คมนาคมสนช.รับเป็นตัวกลางเคลียร์ปมปัญหาโครงการก่อสร้างท่าเรือนํ้าลึกปากบาราให้เป็นแลนด์บริดจ์เชื่อมสงขลา-สตูล หลังโดนต่อต้านมานาน “จเรศักณิ์” ไม่หวั่นมวลชนต้านเตรียมนำทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่หาข้อเท็จจริงก่อนสรุปผลรายงานรัฐบาลพิจารณา ด้านแกนนำเอ็นจีโอเสนอภาครัฐเผยข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน ล่าสุดมีลุ้นโครงการรถไฟเชื่อมสตูล-สงขลาเตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไฟเขียว 1 ส.ค.นี้


พล.ท.จเรศักณิ์ อานุภาพ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)การคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าได้เชิญกรมเจ้าท่า(จท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดจนผู้ที่ได้รับผลกระทบและต่อต้านโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่จังหวัดสตูลและสงขลา มานำเสนอข้อเท็จจริงของการพัฒนาโครงการดังกล่าวซึ่งแนวโน้มของการหารือและสอบถามข้อมูลทั้งสองฝ่ายในครั้งนี้เป็นไปในแนวทางที่ดี

โดยแกนนำของผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการดังกล่าวของรัฐบาลยืนยันว่าประชาชนไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจน ดังนั้นภาครัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องส่งข้อมูลที่ชัดเจนให้ประชาชนในพื้นที่ให้รับรู้รับทราบอย่างทั่วถึงจริงๆ โดยเฉพาะประเด็นที่ได้รับการสอบถามมายังหน่วยงานต่างๆไม่มีคำตอบให้ประชาชนได้ทราบข้อเท็จจริง

นอกจากนั้นที่ปรึกษาโครงการยังจะได้ความเห็นที่ชัดเจนจากหลายฝ่ายนำไปปรับปรุงข้อมูลผลการศึกษาให้ตรงตามความต้องการของทุกฝ่ายเพื่อนำไปชี้แจงในภาพรวมให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบต่อไป


“เบื้องต้นขณะนี้ได้ความชัดเจนแล้วว่า กมธ.คมนาคม ของสนช. จะเป็นตัวกลางประสานความร่วมมือของทุกฝ่ายเพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป ส่วนโครงการจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่หรือไม่อย่างไรนั้นยังต้องมีกระบวนการดำเนินงานอีกหลายขั้นตอนที่จะพิจารณา โดยโครงการนี้ถือว่าเป็นเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลในการเชื่อมฝั่งทะเลตะวันตกกับฝั่งทะเลตะวันออกของจังหวัดสงขลากับจังหวัดสตูล หลังจากนี้กรรมาธิการจะต้องตรวจสอบในรายละเอียดเชิงลึกมากขึ้นทั้งการลงพื้นที่และพบปะชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการนี้ เพราะที่ผ่านมาได้รับรายงานว่าเมื่อที่ปรึกษาลงพื้นที่พบว่าได้รับการต่อต้านจากกลุ่มเอ็นจีโอ ดังนั้นเมื่อสรุปความเห็นของทุกฝ่ายชัดเจนแล้วคงจะพอเห็นแนวทางต่อการพัฒนาโครงการดังกล่าวในเร็วนี้”

ปัจจุบันกรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างการจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) และการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์(SEA) สำหรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้วงเงิน 115 ล้านบาทเป็นระยะเวลา 20 เดือนโดยการรับฟังความเห็นครั้งที่ 3จะจัดในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 เมื่อผลการศึกษาแล้วเสร็จคงพอมองเห็นความเป็นไปได้ของโครงการเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอรัฐบาลพิจารณาต่อไป

ด้านนายสมบูรณ์ คำแหง แกนนำชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการนี้ กล่าวว่า ได้นำเสนอกรรมาธิการคมนาคมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งหมดว่าจะก่อสร้างโครงการอะไรบ้าง จะก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก แล้วก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงเท่านั้น หรือมีโครงการอื่นๆ ด้วย

“เรื่องนี้ในการชี้แจงต่อ กมธ.คมนาคม ผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)ยืนยันว่าจะได้นำเรื่องเส้นทางรถไฟเข้าพิจารณาการประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.) พิจารณาอนุมัติในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ กรณีนี้นับเป็นยุทธศาสตร์ของการเชื่อม 2 ฝั่งทะเลนั่นเองโดยได้นำเสนอไปยังหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องว่าให้เปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งหมดให้ชาวบ้านรู้จริงและทั่วถึง จะมาบอกว่าไม่ต้องกังวลมากจะก่อสร้างท่าเรือขนาดเล็ก จะขนตู้คอนเทนเนอร์กันด้วยรถไฟ โครงการจะเกี่ยวเนื่องกันอย่างไรบ้าง

โดยในการชี้แจงครั้งนี้แม้กระทั่งแกนนำฝ่ายสนับสนุนยังไม่ทราบเลยว่าจะมีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงทั้ง 2 ท่าเรือ ประการสำคัญ สผ. จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ กรณีผลการศึกษาอีไอเอ(EIA) หรืออีเอชไอเอ(EHIA) ซึ่งใช้งบราว 120 ล้านบาทไปดำเนินการกมธ.คมนาคม บางท่านยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าหากจะมีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงจะต้องมีการศึกษา EHIA อีกรูปแบบหนึ่งด้วย”


จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,177 วันที่ 24 – 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559