ศาลชี้ "หลักฐานไม่ชัด" – ยกฟ้อง "เหมืองทองเลยฟ้องประธานสภาอบต." (27 ก.ค. 59)
กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เรียบเรียง 27 กรกฎาคม 2559 (ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก "กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด")
ศาลชี้ "หลักฐานไม่ชัดเจน" - ยกฟ้อง "เหมืองทองเลยฟ้องประธานสภาอบต."
ผู้สื่อข่าวจาก "กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด" รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ค 59 เวลา 09.00 น. ประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน อ.วังสะพุง จ.เลย เกือบร้อยคนได้เดินทางมายังศาลจังหวัดเลย เพื่อฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.687/2558 ที่บริษัททุ่งคำ จำกัด ได้ฟ้องนายสมัย ภักดิ์มี ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในกรณีที่ประธานสภาฯ ไม่นำเรื่องการขอต่อใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ เข้าที่ประชุมสภา อบต.เขาหลวง
ต่อมาเวลา 09.50 น. ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานทางฝ่ายโจทก์ไม่ชัดเจน ไม่สามารถรับฟังได้ว่านายสมัย ภักดิ์มี ประธานสภาอบต.เขาหลวง ผิดจริง
ทั้งนี้ ตามคำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 58 บริษัททุ่งคำ จำกัด โดยนายสราวุธ สารวงษ์ ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ ฟ้องนายสมัย ภักดิ์มี เป็นจำเลย ในข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยระบุว่า โจทก์ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำและทองแดง ณ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 55 ได้ยื่นขอต่อใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ต่อสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย เนื่องจากหนังสืออนุญาตให้โจทก์เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวน แห่งชาติของโจทก์ใกล้จะสิ้นอายุ (26 ธ.ค. 2555) ซึ่งตามระเบียบกรมป่าไม้ กำหนดว่า โจทก์จะต้องไม่มีปัญหากับราษฎรในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงและต้องได้รับความ เห็นชอบจากสภาตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลท้องที่ที่ที่ดินตั้งอยู่
แต่เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 55 หลังจากที่โจทก์ยื่นเรื่องต่อ อบต.เขาหลวงเพื่อให้ได้รับความเห็นชอบแล้ว จำเลยซึ่งมีหน้าที่จัดการนำเรื่องของโจทก์เสนอเข้าที่ประชุม อบต.เขาหลวง แต่จำเลยหาได้กระทำเช่นนั้นไม่ กลับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว และจำเลยยังเป็นแกนนำพาชาวบ้านในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ที่ตั้ง ของบริษัทโจทก์มาชุมนุมประท้วงการทำงานของโจทก์ โดยมีเจตนาเพื่อที่จะไม่ให้โจทก์ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เป็นการปฏิบัติหรือละเวันการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 . คดีดังกล่าวนี้ได้ผ่านขั้นตอนการสืบพยานฝ่ายโจทก์และจำเลยเรียบร้อยแล้ว และรอฟังคำพิพากษาในวันนี้ (26 ก.ค. 59)
ทั้งนี้ ตามมาตรา 157 ว่าด้วยความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้สื่อข่าว “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” ได้รายงานบรรยากาศการฟังคำพิพากษาคดีว่า มีกลุ่มประชาชนฅนรักบ้านเกิดเข้ารับฟังคำพิพากษาด้วยความคาดหวังว่าศาลจะยกฟ้องคดีดังกล่าว เนื่องจากประเด็นปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องการเมือง ทว่าบริษัทได้ได้นำเข้าสู่พื้นที่ของศาลสถิตย์ยุติธรรม ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ควรได้รับการแก้ไขทางการเมือง อีกทั้งกลุ่มชาวบ้านไม่ต้องการให้ต่ออายุการอนุญาตใช้พื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากประกอบกิจการเหมืองทองคำ ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงทางอาหาร และสุขภาพของชาวบ้าน
อนึ่ง ทางบริษัททุ่งคำ จำกัด ได้ฟ้องร้องประธาน อบต.เขาหลวง เป็นคดีความอีก 1 คดี ในข้อหาเดียวกันนี้ คือ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เป็นคดีดำหมายเลข อ.244/2559 ภายหลังจากที่นายสมัยในฐานะประธานสภา อบต.เขาหลวง ได้นำเรื่องการขอต่ออายุหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่า สงวนแห่งชาติ เพื่อทำเหมืองทองคำของบริษัทฯ เข้าสู่การประชุมสภา อบต.เขาหลวง และได้มีการนำเหตุผลการคัดค้านของกลุ่มฅนรักบ้านเกิดเข้ามาพูดคุยด้วย ขณะที่สมาชิก อบต.เขาหลวงโซนบนจำนวน 16 คน ได้อ้างการพัฒนาและจ้างงานชาวบ้านในพื้นที่ จึงต้องการให้บริษัทดำเนินกิจการต่อไป และขอให้มีการลงมติเห็นชอบ ซึ่งได้นำไปสู่ความวุ่นวาย จนทำให้ต้องปิดประชุมสภา อบต.เขาหลวง
อย่างไรก็ตาม ได้มีความพยายามที่จะเปิดประชุมสภา อบต.เขาหลวง เพื่อพิจารณาเรื่องนี้อีกอย่างน้อย 4 ครั้ง โดยสมาชิกอบต.โซนบนจำนวน 16 คน พยายามให้มีการเปิดประชุมเพื่อขอมติความเห็น พร้อมร้องขอให้มีการประชุมลับ ทำให้เกิดปัญหากับชาวบ้านที่ต้องการเข้าร่วมประชุมด้วยในฐานะผู้ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาดังกล่าว จึงมีการนำเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร จำนวนหลายร้อยคนเข้ามาควบคุมพื้นที่ในการประชุมสภา อบต.เขาหลวง ครั้งต่อๆ มา
ทั้งนี้ ในการประชุมสภา อบต.ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2559 ได้เกิดความวุ่นวาย และต่อมาสมาชิก อบต.เขาหลวงโซนบน 16 คนได้ฟ้องร้องชาวบ้านต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.วังสะพุง ในข้อหาข่มขืนใจและทำร้ายร่างกาย