ยื่น กสม.สอบโครงการผันน้ำ ‘โขง เลย ชี มูล’ เหตุไม่มีส่วนร่วม-มั่วข้อมูล-ไร้มาตรการเยียวยา (24 ก.ค. 59)

Green News TV 24 กรกฎาคม 2559
ยื่น กสม.สอบโครงการผันน้ำ ‘โขง เลย ชี มูล’ เหตุไม่มีส่วนร่วม-มั่วข้อมูล-ไร้มาตรการเยียวยา

เครือข่ายประชาสังคม จ.เลย ยื่นหนังสือถึงคณะอนุกรรมการสิทธิด้านชุมชนฯ เรียกร้องให้ตรวจสอบโครงการผันน้ำโขงเลยชีมูล

นายชาญณรงค์ วงศ์ลา เครือข่ายประชาสังคมจังหวัดเลย ยื่นหนังสือต่อประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2559 เรียกร้องให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิชุมชนจากโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล

สำหรับข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ ที่ต้องการให้ กสม.ตรวจสอบ ประกอบด้วย 1.รายละเอียดของโครงการ กระบวนการและขั้นตอนการดำเนินการ ทางเลือกอื่นๆ และมาตรการแก้ไขเยียวยา รวมถึงผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากโครงการ 2.กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน 3.การประเมินความคุ้มค่าของโครงการและความผิดพลาดล้มเหลวของโครงการในอดีต

นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ยังได้แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโครงการ แต่พร้อมสนับสนุนแนวทางการบริหารจัดการน้ำระดับชุมชนแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และขอให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารก่อนจะมีการดำเนินโครงการใดๆ  ที่สำคัญคือเรียกร้องให้หยุดคุกคามการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนและภาคประชาสังคมทุกรูปแบบ

นายชาญณรงค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางโครงการได้ชี้แจงข้อมูลแต่กับผู้ใหญ่บ้าน กำนัน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล แต่ไม่เคยชี้แจงให้ชุมชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงผู้ที่อาจได้รับผลกระทบให้รับทราบ ทำให้ภาคประชาสังคมและประชาชนใน จ.เลย รู้สึกกังวลและเคลือบแคลงในหลายประเด็น จึงนำไปสู่การยื่นหนังสือในครั้งนี้

นายชาญณรงค์ กล่าวอีกว่า ข้อกังวลของชาวบ้าน จ.เลย เริ่มตั้งแต่การสูญเสียแหล่งทำมาหากินเพราะแม่น้ำโขงจะได้รับผลกระทบ ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง ปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลา พื้นที่ก่อสร้างโครงการคือ จ.เลย กลับได้รับประโยชน์น้อยที่สุดใน 19 จังหวัดภาคอีสาน ไม่มีการจัดทำแผนหรือมาตรการเยียวยาผลกระทบ

สำหรับโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้รื้อฟื้นโครงการที่ศึกษาความเป็นไปได้แล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2535 ขึ้นมาใหม่ โดยเตรียมทุ่มงบ 2.689 ล้านล้านบาท ปรับปรุงแม่น้ำเลย ขุดคลองชักน้ำ เจาะอุโมงค์ 24 แถว รวมทั้งขุดคลองชลประทานทั้งสายหลักและสายย่อย เพื่อกระจายน้ำไปสู่ลุ่มน้ำชีและมูล

พร้อมกันนี้ยังให้ กรมชลประทาน พิจารณาดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก จ.เลย เป็นการเร่งด่วน วางเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 4.98 ล้านไร่ กำหนดแผนพัฒนาโครงการเป็น 3 ระยะ รวมเวลา 42 ปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการแผนระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2576) เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำด้วยการสูบน้าจากแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ลงสู่ลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูลตอนบน ครอบคลุมพื้นที่ 0.96 ล้านไร่

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 12  ระบุว่า โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักจะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย และจะช่วยเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนถึง 7.25 หมื่นไร่ ในฤดูแล้ง 1.81 หมื่นไร่ โดยผลการศึกษาเบื้องต้นระบุว่า จะมีชาวบ้าน 44 หมู่บ้าน 9,287 ครัวเรือน ใน 7 ตำบล ของ อ.เชียงคาน เกษตรกรจะมีรายได้สุทธิจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยไร่ละ 4,600 บาท

ภาพจาก: Pantip.com