โครงการเตาเผาขยะ"เนโดะ"1.8พันล.ชะงัก ติดเงื่อนไขโรงไฟฟ้าFeed in Tariff-เอกชนถอดใจ (24 ก.ค. 59)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 24 กรกฎาคม 2559
โครงการเตาเผาขยะ"เนโดะ"1.8พันล.ชะงัก ติดเงื่อนไขโรงไฟฟ้าFeed in Tariff-เอกชนถอดใจ
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เบรกโครงการเตาเผาขยะ NEDO ความร่วมมือกระทรวงอุตสาหกรรม-ญี่ปุ่น มูลค่า 1,800 ล้านบาท หวังต่อยอดใช้เชื้อเพลิงขยะผลิตไฟฟ้า เหตุผิดเงื่อนไขขอรับส่งเสริมอัตราค่าไฟฟ้าแบบ Feed in Tariff เพราะไม่มีระบบคัดแยกปรับปรุง (RDF) ขยะอุตสาหกรรม-ขยะชุมชน หวั่นถ้ายอมผ่อนผันให้เผาขยะรวมจะได้ค่าความร้อนไม่พอผลิตกระแสไฟฟ้าแน่
กระทรวงอุตสาหกรรม และองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น (NEDO) ได้มีความร่วมมือในการศึกษาความเหมาะสมของโครงการเตาเผาขยะขนาด 500 ตัน ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า NEDO จะเป็นผู้สนับสนุนเตาเผาขยะ ขณะที่ผู้ประกอบการที่สนใจจะตั้งโรงงานจะต้องเป็นผู้ลงทุนติดตั้งเตาเผาและก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอง โดยผลการศึกษาระบุว่า มูลค่าโครงการจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,800 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย จังหวัดสระบุรี นับเป็นโครงการนำร่องเพื่อกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมในประเทศ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถดำเนินโครงการได้
นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า โครงการเตาเผาขยะได้ผ่านการศึกษาความเหมาะสมแล้ว แต่ยังติดปัญหาในเรื่องของเงื่อนไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ภายใต้มาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนใช้อัตราค่าไฟฟ้ารูปแบบ Feed in Tariff โดย กฟภ.ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่า เตาเผาขยะจะต้องแยกเตาเผาออกเป็น 2 เตา คือ เตาเผาขยะอุตสาหกรรม 70% กับเตาเผาขยะชุมชน 30%
พร้อมทั้งห้ามมิให้ทำการเผาขยะอุตสาหกรรม กับขยะชุมชนรวมกัน ในขณะที่เทคโนโลยีของ NEDO เป็นเตาเผารวม หรือ Combination เพื่อให้ได้กำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุดที่ 10 เมกะวัตต์ (MW) ดังนั้นหากจะต้องทำการแยกเตาเผาขยะตามเงื่อนไขของ กฟภ. โครงการก็จะมีความเสี่ยงด้านปริมาณขยะที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงมีไม่เพียงพอในการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยีข้างต้น ส่งผลให้ NEDO ตัดสินใจชะลอโครงการเตาเผาขยะออกไป และทางกระทรวงอุตสาหกรรมคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อโครงการที่จะตั้งอยู่ในโรงกำจัดกากอุตสาหกรรมใน 6 ภูมิภาค 15 จังหวัด ตามที่กำหนดไว้ในแผนจัดการกากอุตสาหกรรมปี 2558-2562 เพื่อรองรับปริมาณขยะกากอุตสาหกรรมในช่วง 20-30 ปีข้างหน้า ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเองก็ได้ประกาศให้เรื่องการกำจัดขยะเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องมีการเร่งดำเนินการ
"ถามว่าเราไม่รับเตาเผาจาก NEDO ได้หรือไม่ มันก็ได้ แต่อย่าลืมว่าปัจจุบันเตาเผาขยะที่มีอยู่ในประเทศกว่า 1,694 แห่งนั้นก็เป็นเตาเผาขยะรวมอยู่แล้ว และสามารถต่อยอดผลิตไฟฟ้าได้ แต่เงื่อนไขของกระทรวงพลังงานกลับทำให้ไม่มีใครตัดสินใจลงทุน แผนที่ภาครัฐได้วางไว้ว่าจะนำกากขยะเข้าสู่ระบบก็อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย" นายจุลพงษ์กล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานกล่าวในกรณีนี้ว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่สนใจลงทุนในโครงการเตาเผาขยะดังกล่าว จะต้องดำเนินการ "ปรับปรุงคุณภาพขยะ" เพื่อให้ประสิทธิภาพของเตาขยะสามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นั่นหมายถึง
ผู้ประกอบการรายใดที่ต้องการเตาเผาขยะจาก NEDO จะต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อติดตั้งเทคนิค RDF (Refuse Derived Fuel) ด้วย จึงจะได้อัตราค่าไฟฟ้าแบบ Feed in Tariff เนื่องจากเทคนิค RDF จะมีการแยกขยะก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการเผา เพราะหากมีขยะเปียกจากชุมชนหรือส่วนประกอบอื่น ๆ เข้ามาในเตาเผา อาจทำให้ไม่ได้ "ค่าความร้อน" ตามที่ควรจะเป็น หรือประมาณ 4,500 กิโลแคลอรี/กิโลกรัม ซึ่งวิธีนี้กระทรวงพลังงานมองว่าจะช่วยป้องกันไม่ให้มีการดำเนินการ "แอบ" ใช้เชื้อเพลิงทดแทนขยะประเภทอื่น ๆ อันจะเป็นการผิดเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ด้วย
"เรากำหนดเงื่อนไขไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า โรงไฟฟ้าขยะควรจะต้องมีระบบ RDF เพื่อคัดแยกขยะที่ไม่สามารถเผาได้ออกไปก่อน ซึ่งมันจะต้องลงทุนเพิ่ม ไม่ใช่ว่าเอาเตาเผาขยะของ NEDO มาติดตั้งแล้วจะใช้ได้เลย ตรงนี้จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญ เพราะผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการไม่อยากจะลงทุนเพิ่ม แต่มันจำเป็นในการผลิตไฟฟ้า เพราะหากเผารวมแล้วได้ค่าความร้อนแค่ 800-1,000 กิโลแคลอรี/กิโลกรัม ระบบก็ชัตดาวน์แล้ว โรงไฟฟ้าก็จะมีปัญหาแน่นอน"
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 68,261 แห่ง ขณะที่มีโรงกำจัดกากอุตสาหกรรมรวม 1,694 โรง หากเทียบแล้วมีสัดส่วนโรงงานทั่วประเทศต่อโรงกำจัดกากอยู่ที่ 40 : 1 โดยเมื่อแยกเป็นรายภาคจะพบว่า ภาคอีสานอยู่ที่ 101 : 1 ภาคเหนือ 102 : 1 ภาคตะวันตกอยู่ที่ 60 : 1 ดังนั้นโครงการขยายเตาเผาขยะเพื่อกำจัดกากอุตสาหกรรมควรมีการขยายเพิ่มเติมเพื่อรองรับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นในอนาคต