ขมวดปม!งานปรับปรุงแหล่งน้ำก.ทรัพย์818ล.ตั้งงบแห่งละ5แสน-เงินทอนผู้รับเหมาโผล่? (21 ก.ค. 59)
สำนักข่าวอิศรา 21 กรกฎาคม 2559
ขมวดปม!งานปรับปรุงแหล่งน้ำก.ทรัพย์818ล.ตั้งงบแห่งละ5แสน-เงินทอนผู้รับเหมาโผล่?
"..ประเด็นที่ สตง.ให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ การดำเนินงานโครงการนี้ เคยถูกทักท้วงไปแล้ว แต่สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 9 ก็ยังคงเพิกเฉยดำเนินการต่อไป จนกระทั่งมีการตรวจสอบพบว่างานที่ว่าจ้างผู้รับเหมามีปัญหาเกือบทุกสัญญา.."
การดำเนินงานโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำ ของ กรมทรัพยากรน้ำ ปี 2559 จำนวน 1,689 แห่ง รวมวงเงินกว่า 818 ล้านบาท ของกรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งถูกจับตามองเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินงาน กลับมาอยู่ในความสนใจของสาธารณชนอีกครั้ง
เมื่อล่าสุด สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ได้เข้าตรวจสอบการดำเนินงานโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำของกรมทรัพยากรน้ำ ปี 2559 ของ สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 9 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร แพร่ น่าน และอุตรดิตถ์ พบว่า มีการทำโครงการถึง 395 โครงการ แต่มีเอกสารและแบบแปลนถูกต้องเพียงแค่ 40 โครงการ ส่วนอีก 355 โครงการ ไม่ถูกต้อง สอดคล้องกับข้อมูลของรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่เคยทักท้วงไว้ก่อนหน้านี้ ว่า โครงการมีความไม่ถูกต้องชัดเจน เพียงพอต่อการจัดทำโครงการ
ขณะที่ สตง.ได้เคยทำหนังสือแจ้งให้ทำระงับยับยั้งการจัดทำโครงไว้แล้ว แต่ปัจจุบันสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 9 ก็ยังเพิกเฉย ไม่ได้ดำเนินการตามที่ สตง.แจ้งไปแต่อย่างใด
(อ่านประกอบ : พบสร้างผิดแบบ355สัญญา! สตง.ลุยเช็คบิลตั้งงบแห่งละ5แสนปรับปรุงแหล่งน้ำก.ทรัพย์ 818 ล.)
เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการดำเนินงานโครงการนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอให้เห็นแบบชัดๆ ดังนี้
@ พิรุธแรง! ผู้รับเหมารายเดียวคว้า20สัญญา
ในช่วงเดือนพ.ค.2559 สำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายหนึ่ง ว่า การดำเนินงานโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำของกรมทรัพยากรน้ำ ปี 2559 ทั่วประเทศ จำนวน 1,689 แห่ง รวมวงเงินกว่า 818 ล้านบาท ของกรมทรัพยากรน้ำ กำลังถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าตรวจสอบ ภายหลังถูกร้องเรียนว่า การดำเนินงานโครงการฯ นี้ มีความเร่งรีบมากเกินไป โดยมีการจัดทำแผนโครงการภายใน 2 เดือน (ก.พ.-มี.ค.2559) และทำในพื้นที่แหล่งน้ำเดิม เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง สระ ทั้งที่ในช่วงเวลานี้แต่ละพื้นที่กำลังประสบภัยแล้ง ซึ่งอาจจะมีผลกระทบกับปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ ในแหล่งน้ำสำรองสุดท้ายของชุนชน และทำโครงการครั้งละจำนวนมาก โดยให้ อปท.ส่งหนังสื่อมาขอรับการสนับสนุน
นอกจากนี้ โครงการปรับปรุงแหล่งน้ำจำนวน 1,689 แห่ง ยังถูกระบุว่า มีการตั้งงบประมาณไว้ที่ 818,230,000 บาท เป็นการเฉลี่ยงบประมาณในโครงการไม่เกิน 5 แสนบาท ต่อโครงการ ซึ่งอยู่ในกรอบวงเงินที่จะจัดหาผู้รับจ้างโดยวิธีตกลงราคาได้ และส่วนใหญ่มีการทำสัญญากันภายในวันที่ 31 มี.ค.2559 แต่ไม่มีการเปิดกว้างให้แก่ผู้รับเหมาเข้าเสนองาน
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ในพื้นที่งาน สทภ.1 -11 ถูกตรวจสอบพบว่ามีการจัดกลุ่มเฉพาะผู้รับเหมาบางกลุ่ม ขณะที่การจัดจ้างบางจังหวัดได้จ้างดำเนินการปรับปรุงแหล่งน้ำประมาณ 30 กว่าแหล่งน้ำ ใช้วิธีการตกลงราคาแยกแต่ละแหล่งน้ำ ทำให้ไม่มีการแข่งขันราคา และได้ตกลงราคาเลือกผู้รับจ้างเพียง 1 -2 ราย ของสัญญาทั้งหมดในจังหวัด ทำให้ผู้รับจ้างได้งานเฉลี่ย 1 รายต่อ 15 สัญญา คิดเป็นเงินงบประมาณ 7,500,000 บาท ต่อผู้รับจ้าง 1 ราย เช่นในพื้นที่ สทภ. 5 นครราชสีมา พบว่ามีการจัดทำสัญญาเฉพาะในวันที่ 30 มี.ค.2559 เป็นจำนวน ถึง 106 สัญญา และมีผู้รับจ้างบางรายได้รับงานในคราวเดียวกัน ถึง 20 สัญญา คิดเป็นวงเงิน 10 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าสัญญาดังกล่าวหากดำเนินการในสัญญาเดียวจะต้องใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม
"การแบ่งงานปรับปรุงแหล่งน้ำภายในจังหวัดออกเป็นหลายงานลักษณะนี้ จึงออกเป็นการดำเนินการโดยหลักเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม รวมทั้งอาจเข้าข่ายการแบ่งซื้อแบ่งจ้างเพื่อให้วงเงินต่ำกว่าที่กำหนดน โดยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ล่าสุด ทราบว่า สตง. ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบการดำเนินงานโครงการนี้ทั้งประเทศแล้ว" แหล่งข่าวระบุ
(อ่านประกอบ :งานปรับปรุงแหล่งน้ำทั่วปท. 818ล. พิรุธแรง! ผู้รับเหมารายเดียวคว้า20สัญญา)
@ เปิดช่องตกลงงานก่อนทำสัญญา! สตง.จี้ทส.ทบทวนปรับปรุงแหล่งน้ำทั่วปท. 818ล.
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลไปยังแหล่งข่าวใน สตง. สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันว่า สตง.อยู่ระหว่างการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการนี้จริง โดยล่าสุดในช่วงเดือนเมษายน 2559 สตง.ได้ทำหนังสือแจ้งให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ทบทวนการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้อง โดยให้คำนึงถึงความเหมาะสมรัดกุม และรักษาผลประโยชน์ราชการ มิให้เสี่ยงต่อความเสียหาย รวมทั้งให้พิจารณาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในขั้นตอนการดำเนินงานด้วย
สำหรับผลการตรวจสอบเบื้องต้น สตง.พบว่า โครงการนี้มีการเร่งรีบจัดทำในช่วงระยะเวลาอันสั้น ภายใน 2 เดือน (ก.พ.-มี.ค.59) โดยมีการอ้างคำขอสนับสนุนจาก อปท.เพื่อเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการตกลงราคา ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันราคาที่เป็นธรรม ขณะที่แบบและรายละเอียดประกอบการจัดซื้อไม่มีความพร้อมทำให้ เป็นช่องทางให้มีการตกลงเงื่อนไขกับผู้รับเหมาไปก่อนแล้วใช้วิธีการออกแบบและลงนามในสัญญาตามหลัง
"จากการตรวจสอบพบว่า แต่ละพื้นที่ที่มีการดำเนินงาน มีการจัดกลุ่มเฉพาะผู้รับเหมาบางกลุ่มเข้ามารับงาน ทำให้ผู้รับเหมาบางรายได้รับงานมากเป็นจำนวนมาก และทำสัญญาในวันเดียวกันเป็นจำนวนมาก ขณะที่การขอสนับสนุนจาก อปท. ก็อาจไม่ผ่านขั้นตอนการ กลั่นกรองโครงการโดยประชาคม ทำให้ไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงและนำมาซึ่งการต่อต้านในภายหลังด้วย" แหล่งข่าวจากสตง. ระบุ
รายงานจาก สตง. แจ้งว่า สำหรับจังหวัด ที่สตง. เข้าไปตรวจสอบและได้ข้อมูลเบื้องต้นมาแล้วในขณะนี้ คือ นครราชสีมา และพิษณุโลก (ดูหนังสือสตง.ที่ทำถึงรมว.กระทรวงทรัพย์ประกอบ)
(อ่านประกอบ :เปิดช่องตกลงงานก่อนทำสัญญา! สตง.จี้ทส.ทบทวนปรับปรุงแหล่งน้ำทั่วปท. 818ล.)
@ เปิดบันทึก'รองปลัด' ยันไส้ในปรับปรุงแหล่งน้ำ818 ล.ปัญหาเพียบ!
จากการตรวจสอบข้อมูลของสำนักข่าวอิศรา ยังพบว่า เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2559 นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ รองปลัด ทส. ได้ทำบันทึกถึง ปลัดทส. เพื่อเสนอความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำของกรมทรัพยากรน้ำ ปี 2559 จำนวน 1,689 แห่ง วงเงิน 818 ล้านบาท
โดยระบุเนื้อหาสำคัญดังนี้
" ตามหนังสือ ที่ ทส 0604.3/773 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ทน. (กรมทรัพยากรน้ำ) เสนอขอความเห็นชอบการอนุมัติโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 งบเหลือจ่ายเป็นค่าปรับปรุงแหล่งน้ำที่มีราคาต่อหน่วยต่ำกว่า 10 ล้านบาท รายการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำขนาดเล็ก (มูลค่าแต่ละรายการต่ำกว่า 500,000 บาท) 1,689 แห่ง งบประมาณ 819,230,000 บาท ดำเนินการจ้างโดยวิธีการตกลงราคานั้น
จากการสุ่มตรวจพบว่า มีแบบและรายละเอียดที่ไม่สามารถใช้เป็นเอกสารประกอบการจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากขาดรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของวิศวกรรม และไม่มีความชัดเจน อาทิเช่น ไม่มีค่าระดับอ้างอิง ไม่มีค่าระบุเพื่อวางตำแหน่งโครงการให้สอดคล้องกับแบบปริมาณงานในแบบไม่สอดคล้องกับภูมิประเทศจริง ปริมาณงานไม่สอดคล้องกับแบบและประมาณการ โดยเฉพาะโครงการใน สทภ.9 (พิษณุโลก) ซึ่งมีจำนวนมากถึง 409 โครงการ พบว่าไม่สามารถใช้เป็นแบบที่ทำการก่อสร้างได้ทั้งหมด อีกทั้งยังระบุข้อความในแบบให้ช่างควบคุมงานเสนอรูปแบบ ต่อคณะกรรมการตรวจการจ้างให้เห็นชอบก่อนผู้รับจ้างจะปฏิบัติงาน ซึ่งเข้าข่ายในลักษณะ Turn key จึงเป็นความเสี่ยงหากจะมีการอนุมัติให้จัดซื้อจัดจ้างให้ทันภายในวันที่ 31 มี.ค.2559 ทั้งนี้มีเพียง สทภ. 3 (อุดรธานี) มีจำนวน 79 โครงการที่มีแบบและประมาณการเป็นไปตามหลักวิศวกรรมสามารถใช้เป็นเอกสารประกอบการจัดซื้อจัดจ้างได้
ดังนั้น จึงขอเสนอความเห็นดังนี้
1.ให้ ทน. โดย ผอ.สทภ.ที่มีโครงการในพื้นที่แก้ไขแบบให้มีความถูกต้องของแบบโดยใช้ตัวอย่างของ สทภ. 3 พร้อมทั้งตรวจสอบแบบกับพื้นที่จริงและถ่ายภาพ ตำแหน่งสถานที่จริงก่อนมีการก่อสร้าง เพื่อใช้เปรียบเทียบให้เห็นผลการดำเนินการและรายให้ ทส.ทราบให้ครบถ้วน
2. กำชับให้ ทน.ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และแก้ไขเพิ่มเติมโดยเคร่งครัด ตั้งแต่การแต่งตั้งช่างคุมงาน และคณะกรรมการตรวจการจ้างๆ พร้อมรายงานผลให้ทส.ทราบ ภายใน 15 วันเมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จ
3. เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเช่นเดียวกับ ทบ.จึงเห็นควรให้นำโครงการเข้าสู่คณะกรรมการร่วมป้องกันและปราบปรามการทุจริต กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดมาตรการในเชิงป้องกัน และติดตามให้เกิดความโปร่งใส่
ขณะที่ สตง. ได้นำบันทึกข้อความทักท้วงโครงการจากรองปลัดทส. รายนี้ ในเรื่องความไม่พร้อมของโครงการ โดยเฉพาะแบบงานแปลนงานในหลายพื้นที่ สตง.ได้รับมาประกอบการตรวจสอบโครงการนี้ ซึ่งบันทึกข้อความฉบับนี้ ถือเป็นหลักฐานสำคัญ ที่ชี้ให้เห็นว่าโครงการนี้ มีข้อพิรุธอยู่ตรงไหนบ้าง
(อ่านประกอบ :เปิดบันทึก'รองปลัด& สตง.' โต้ ทส. ยันไส้ในปรับปรุงแหล่งน้ำ818 ล.ปัญหาเพียบ!)
อย่างไรก็ตาม นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า การดำเนินงานโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำของกรมทรัพยากรน้ำ จำนวน 1,689 แห่ง ดังกล่าว ทางสตง. ได้ส่งหนังสือมาถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางรมว. ได้ส่งเรื่องมาที่ตน และตนก็ได้ส่งเรื่องต่อไปยังกรมทรัพยากรน้ำให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ส่วนรายละเอียดในขั้นตอนการดำเนินงานคงต้องไปสอบถามกับทางอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำจะได้ข้อมูลที่ชัดเจนกว่า เพราะตนไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องอะไรมากนัก แต่เท่าที่ทราบอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ก็มีการเปิดแถลงข่าวไปแล้ว และยืนยันว่าการดำเนินงานโครงการนี้ไม่มีปัญหาอะไร การดำเนินการไปตามขั้นตอน
ส่วนข้อมูลที่มีการระบุว่า โครงการนี้เคยถูกทักท้วงจากรองปลัดกระทรวงรายหนึ่งนั้น นายเกษมสันต์ ยอมรับว่า มีการทักท้วงจริง แต่ไม่ได้เป็นการทักท้วงว่าโครงการมีปัญหาทำไม่ได้ เป็นเพียงแค่การเสนอว่า ควรจะมีการออกแบบงานให้เรียบร้อยก่อน ถ้าดำเนินการเรียบร้อยก็ทำได้เท่านั้น ซึ่งต่อมาก็มีการดำเนินการเรียบร้อยไม่มีปัญหาอะไร
ส่วนประเด็นเรื่องการกำหนดตัวผู้รับเหมาเข้ามารับงาน ในแต่ละพื้นที่นั้น นายเกษมสันต์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบ กรมทรัพยากรน้ำมีการขึ้นทะเบียนผู้รับเหมาไว้อยู่แล้ว การที่ผู้รับเหมาเหล่านี้ จะได้รับงานไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ผมไม่ทราบเป็นเรื่องปฏิบัติในพื้นที่ ต้องไปดูกันอีกครั้ง
"ส่วนเรื่องที่ระบุว่ามีการเรียกรับเงินเปอร์เซ็นต์อะไรนั้น ผมอยากให้สื่อมวลชนลงไปตรวจสอบข้อมูลของจริงในพื้นที่เองเลย ว่าเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่ ไม่ใช่มาพูดเพียงแค่ว่าเขาว่ามาแบบนั้น ว่ามาแบบนี้ ซึ่งไม่มีอะไรยืนยันเลย และทางกรมทรัพยากรน้ำ ก็ยืนยันอยู่แล้วว่าการดำเนินงานไม่มีปัญหาอะไร และในอดีตที่ผ่านมาก็มีหลายโครงการที่เคยเป็นข่าวว่า โครงการมีปัญหาแต่สุดท้ายแล้วไม่มีปัญหาอะไร สื่อก็เงียบไป ไม่นำเสนอข้อมูลอีกด้านว่ามันไม่มีปัญหาอะไร แบบนี้ผมว่ามันไม่ถูกต้อง ต้องเขียนชี้แจงให้ด้วย " ปลัด ทส.ระบุ
ล่าสุด ในช่วงเช้าวันที่ 21 ก.ค.2559 สำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบโครงการฯ นี้ จากสตง. อีกครั้ง โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่ สตง.ได้เข้าตรวจสอบการดำเนินงานโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำของกรมทรัพยากรน้ำ ปี 2559 ของ สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 9 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร แพร่ น่าน และอุตรดิตถ์ พบว่า มีการทำโครงการถึง 395 โครงการ แต่มีเอกสารและแบบแปลนถูกต้องเพียงแค่ 40 โครงการ ส่วนอีก 355 โครงการ ไม่ถูกต้อง สอดคล้องกับข้อมูลของรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่เคยทักท้วงไว้ก่อนหน้านี้ ว่า โครงการมีความไม่ถูกต้องชัดเจน เพียงพอต่อการจัดทำโครงการ
โดยในส่วนข้อมูลโครงการทั้ง 395 สัญญา แยกเป็น พิษณุโลก 52 โครงการ น่าน 178 โครงการ อุตรดิตถ์ 39 โครงการ พิจิตร 94 โครงการ สุโขทัย 6 โครงการ และ แพร่ 26 โครงการ
ทั้งนี้ ในส่วนของน่าน มีจำนวนโครงการที่มีปัญหามากที่สุด ถึง 131 โครงการ
ขณะที่จากการลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการของสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 9 พบว่า งานเกือบทั้งหมดผู้รับจ้างได้ก่อสร้างผิดรูปแบบในสัญญาจ้าง หลายโครงการพื้นที่ไม่มีความเหมาะที่จะดำเนินการได้ แต่ยังมีการดำเนินการโครงการต่อไป ไม่ระงับการทำโครงการตามที่ สตง.ทักท้วง ชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องและเจตนาของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโครงการอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำท่อลอดเหลี่ยมเพื่อระบายน้ำถึงกว่า 200 โครงการ ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดทำโครงการที่ต้องการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชน ซึ่ง สตง. จะขยายผลการตรวจสอบโครงการปรับปรุงปรับแหล่งน้ำของกรมทรัพยากรน้ำ ไปยังพื้นที่อื่นที่มีการจัดทำโครงการทั่วประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สตง.ให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ การดำเนินงานโครงการนี้ เคยถูกทักท้วงไปแล้ว แต่สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 9 ก็ยังคงเพิกเฉยดำเนินการต่อไป จนกระทั่งมีการตรวจสอบพบว่างานที่ว่าจ้างผู้รับเหมามีปัญหาเกือบทุกสัญญา
พร้อมเบาะแสลับที่ดังมาจากฝั่งผู้รับเหมาว่า โครงการของสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 9 มีคนบางกลุ่มไปเรียกเก็บเงินล่วงหน้าจากผู้รับเหมาไปจำนวน 25 % จากมูลค่างานโครงการที่ตั้งไว้ 5 แสนบาท ทุกโครงการ หากคำนวณตัวเลขจะพบว่า จำนวนเงิน 25% ของโครงการละ 5 แสนบาท คิดเป็นเงิน 150,000 บาท ทำให้จำนวนเงินที่เรียกเก็บจากผู้รับเหมาล่วงหน้าอยู่ที่ตัวเลขสูงถึง 59 ล้านบาทเศษ (ขณะที่โครงการในภาพรวมทั้งหมด จำนวน1,689 แห่ง ใช้วงเงินกว่า 818 ล้านบาท เรียกเก็บเงินโครงการละ 23 -26 % จะคิดเป็นวงเงินสูงถึง 204 ล้านบาท)
เมื่อได้รับเงินจากผู้รับเหมามาหมดแล้ว และเงินก็ถูกกระจายออกไปหลายส่วน จึงเป็นเรื่องยากที่ใครจะไปสั่งระงับโครงการได้ ไม่งั้นกลุ่มผู้รับเหมาออกมาโวยวายแน่นอน และนั้นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้โครงการทั้งหมดต้องเดินหน้าต่อไป จนกระทั่งถูกสตง.ตรวจสอบพบว่ามีปัญหาอยู่ในขณะนี้
ส่วนข้อกล่าวหานี้ จะจริงหรือเท็จมากน้อยแค่ไหน คงจะต้องรอให้ผู้บริหารของสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 9 และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมาชี้แจงยืนยันต่อสาธารณชน แบบชัดๆ กันอีกครั้ง
อ่านประกอบ :
งานปรับปรุงแหล่งน้ำทั่วปท. 818ล. พิรุธแรง! ผู้รับเหมารายเดียวคว้า20สัญญา
ปูดเบื้องหลังงานปรับปรุงแหล่งน้ำ 818 ล.หัวคิวพุ่ง 204 ล.-ปลัดทส.ท้าสื่อตรวจสอบ
เปิดช่องตกลงงานก่อนทำสัญญา! สตง.จี้ทส.ทบทวนปรับปรุงแหล่งน้ำทั่วปท. 818ล.
เปิดบันทึก'รองปลัด& สตง.' โต้ ทส. ยันไส้ในปรับปรุงแหล่งน้ำ818 ล.ปัญหาเพียบ!
พบสร้างผิดแบบ355สัญญา! สตง.ลุยเช็คบิลตั้งงบแห่งละ5แสนปรับปรุงแหล่งน้ำก.ทรัพย์ 818 ล.)