คนสงขลา-สตูล ยื่นคัดค้าน EIA หมกเม็ดรถไฟรางคู่แลนด์บริจด์ ชง กสม.สอบเหตุไม่เปิดให้ ปชช.มีส่วนร่วม (21 ก.ค. 59)

MGR Online 21 กรกฎาคม 2559
คนสงขลา-สตูล ยื่นคัดค้าน EIA หมกเม็ดรถไฟรางคู่แลนด์บริจด์ ชง กสม.สอบเหตุไม่เปิดให้ ปชช.มีส่วนร่วม

       ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา สตูล ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ตรวจสอบรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโครงการรถไฟรางคู่สงขลา-สตูล พร้อมยื่นขอสำเนารายงานฯ และคัดค้านการจัดทำรายงาน เนื่องจากประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำ 
        
       วันนี้ (21 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายรุ่งเรือง ระหมันยะ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา สตูล พร้อมตัวแทนเครือข่ายฯ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่องขอให้ตรวจสอบรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโครงการรถไฟรางคู่สงขลา-สตูล โดยเนื้อหาในหนังสือระบุว่า 


         

       ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจรทางบก หรือ สนข. ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโครงการรถไฟรางคู่สงขลา-สตูล มาแล้วนั้น บัดนี้โครงการดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาในขั้นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม และได้เตรียมนำเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ดำเนินการพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป ทางเครือข่ายประชาชนปกป้องฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา สตูล มีความเห็นว่า รายงานการศึกษาดังกล่าวไม่ถูกต้องครบถ้วน ด้วยเหตุผลดังนี้
       
       1.แท้จริงแล้วการศึกษาโครงการรถไฟรางคู่สงขลา-สตูล คือ ยุทธศาสตร์ที่ต้องการเชื่อมเส้นทางคมนาคมระหว่างสองฝั่งทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ที่มีองค์ประกอบของโครงการมากกว่าหนึ่งโครงการ ดังนั้น จึงไม่ควรศึกษาแบบแยกส่วนรายโครงการ ทั้งยังต้องคำนึงถึงผลกระทบโดยรวมของประชาชนในพื้นที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการอื่นๆ ในภาพรวมด้วย 2.โครงการนี้ได้มีเสียงคัดค้านของประชาชนหลายพื้นที่ตลอดเส้นทางโครงการตั้งแต่ต้น ด้วยเหตุผลของความไม่ชัดเจนในเรื่องวัตถุประสงค์ของโครงการที่อยู่ระหว่างการขนส่งสินค้า หรือการขนส่งมวลชน และทั้งสองแนวทางก็ไม่ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ หรือความคุ้มทุนในการใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง

       3.ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในพื้นที่ก่อสร้างทางรถไฟ ทั้งยังไม่ได้รับทราบข้อมูล ข่าวสารที่จะทำให้รู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อตนในเรื่องทรัพย์สิน อาสิน ตลอดถึงความมั่นใจในการอยู่อาศัย หรือผลกระทบอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคต 4.โครงการดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างหนักต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ทั้งต้นทาง และปลายทาง ด้วยสถานีต้นทางอยูที่ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งอยู่กลางทะเลห่างจากฝั่ง 4.2 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ซึ่งจะต้องถอนสภาพความเป็นอุทยานแห่งชาติฯอย่างน้อย 4,734 ไร่ และอาจจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต และที่สำคัญคือบริเวณดังกล่าวที่เรียกว่าอ่าวปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของคนจังหวัดสตูล และสถานีปลายทางบ้านสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ถือเป็นพื้นที่อันทรงคุณค่าทางทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างประเมินค่าไม่ได้ ซึ่งประชาชนในพื้นที่กำลังดำเนินการเพื่อเสนอให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติแห่งใหม่ของจังหวัดสงขลา และของประเทศ

       การจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการรถไฟรางคู่ สงขลา-สตูล ถือเป็นกระบวนการศึกษาที่ไม่เคารพสิทธิความเห็นของประชาชนในพื้นที่ และไม่เชื่อมโยงข้อมูล และข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นต่อพื้นที่อย่างตรงไปตรงมาตามข้อสังเกตที่ได้นำเรียนไว้แล้วเบื้องต้น เครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา สตูล จึงขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ดำเนินการตรวจสอบกระบวนการในการจัดทำรายงานดังกล่าวว่า ได้ดำเนินไปด้วยความถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ อย่างไร

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ทางเครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา สตูล ได้นำหนังสือเนื้อหาฉบับเดียวกันเดินทางไปยื่นต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขอให้หยุดพิจารณาผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโครงการรถไฟรางคู่สงขลา-สตูล พร้อมยื่นหนังสือต่อสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจรทางบก (สนข.) เพื่อขอเอกสารรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการรถไฟรางคู่สงขลา-สตูล
       
       โดยระบุว่า ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจรทางบก หรือ สนข. ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโครงการรถไฟรางคู่สงขลา-สตูล มาแล้วนั้น บัดนี้โครงการดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาในขั้นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม และกำลังเตรียมนำเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ดำเนินการพิจารณาตามขั้นตอนต่อไปนั้น


         

      ทางเครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา สตูล ได้เห็นความสำคัญของการศึกษาเรียนรู้ และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารดังกล่าว เพื่อเป็นเครื่องมือในการพิจารณา และเตรียมการเกิดขึ้นของโครงการในอนาคต จึงขอความอนุเคราะห์ให้ทางหน่วยงานของท่านจัดทำสำเนาเอกสารทั้งหมดให้แก่เครือข่ายประชาชนฯ จำนวน 1 ชุด