'ยูเอ็น' หวั่นอุณภูมิพุ่งขย่มเศรษฐกิจโลก ร้อนจนไม่ไหว - ชั่วโมงทำงานลดลง 20% (20 ก.ค. 59)
Green News TV 20 กรกฎาคม 2559
‘ยูเอ็น’ หวั่นอุณภูมิพุ่งขย่มเศรษฐกิจโลก ร้อนจนไม่ไหว – ชั่วโมงทำงานลดลง 20%
รายงาน “ยูเอ็น” พบโลกร้อนส่งผลต่อแรงงาน ระบุ ชั่วโมงทำงานลดลงเฉลี่ย 15-20% คาดอีก 14 ปีข้างหน้า ศก.เสียหายร่วม 70 ล้านล้านบาท
องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เปิดเผยรายงานผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่าภายในปี 2030 หรืออีก 14 ปีข้างหน้า แรงงานที่อยู่ในประเทศเขตร้อนจะมีชั่วโมงการทำงานลดลง ส่งผลให้มูลค่าทางเศรษฐกิจเสียหายกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 70 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ คลื่นความร้อนรุนแรงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ชั่วโมงทำงานแต่ละปีลดลงไปแล้วโดยเฉลี่ย 15-20% และมีแนวโน้มว่า ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในปี 2050
รายงานฉบับเดียวกันนี้ ยังระบุอีกว่า ประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจำและมลภาวะน้อยกว่าประเทศที่มีรายได้สูง กลับมีแนวโน้มต้องเผชิญความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่า โดยคลื่นความร้อนจะสร้างผลกระทบต่อการใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ โรงงาน อุตสาหกรรมการผลิต และเกษตรกรรม
ทอร์ด เจลสตรอม กรรมการกองทุนเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ ประเทศนิวซีแลนด์ กล่าวว่า ผลกระทบจากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นจนทำให้ 43 ประเทศต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนนั้น จะทำให้ภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะมาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลดลงราว 6% ภายในปี 2030
สอดคล้องกับผลการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและแรงงาน : ผลกระทบของความร้อนต่อที่ทำงาน หรือ Climate Change and Labour : Impacts of Heat in the Workplace ของ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ที่พบว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศจะทำให้ประเทศหนึ่งๆ ผลผลิตจะแรงงานลดลงถึง 20% ในอีก 15 ปีข้างหน้า ซึ่งคิดเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่า 2 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ
นอกจากนี้ ในภาคการลงทุนเศรษฐกิจเกิดใหม่ซึ่งมีฐานตลาดหลักอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และมักพึ่งพาแรงงานเข้มข้นทำงานนอกอาคารและในภาคอุตสาหกรรมและการบริการนั้น จะเกิดการสูญเสียชั่วโมงการทำงานของแรงงานมากถึง 10% ในอีก 50 ปีข้างหน้า ส่งผลให้ประเทศหนึ่งๆ มีชั่วโมงทำงานลดลงประมาณ 4% เมื่อเทียบกับช่วงปี 2533-2543
ผลการศึกษา ระบุอีกว่า ประมาณการณ์ว่าจะมีผู้จ้างงาน แรงงาน และชุมชนในประเทศเปราะบางมากกว่า 1,000 ล้านราย ที่กำลังได้รับผลกระทบจากอากาศร้อนรุนแรงในสถานที่ทำงาน ในขณะที่ยังไม่มีนโยบายในระดับท้องถิ่นและนานาชาติเพื่อเตรียมการรับมือการสูญเสียนี้
นอกจากนี้ การศึกษาชี้ว่า ในปี 2558 ประเทศที่เผชิญอากาศร้อนรุนแรง เช่น บังคลาเทศ จะมีรายงานการสูญเสียชั่วโมงการทำงานระหว่างวันที่ 1.4-2 % และหากอุณหภูมิร้อนขึ้นอีก 2.7 องศาเซลเซียส การสูญเสียชั่วโมงทำงานจะเกิดขึ้นถึง 10% โดยผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดจะเกิดกับประเทศในแถบเอเชียและแปซิฟิค ซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย รวมทั้งในประเทศในแอฟริกา
ฟิลิป เจนนิ่งส์ เลาขาธิการ UNI Global Union กล่าวว่า แรงงานที่ยากจนที่สุดมักเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด แรงงานที่เผชิญความร้อนรุนแรงต้องได้รับการเข้าถึงสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี มีเงา น้ำ ชุดป้องกัน และเวลาพักที่เพียงพอ สถานการณ์นี้เกิดขึ้นจริงกับแรงงาน เช่น ที่ทำในไร่นา เหมือง และโรงงาน
“รัฐบาลและผู้จ้างงานต้องจริงจังกับปัญหาปัญหาโลกร้อนและพัฒนานโยบายที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกันคนงาน” ฟิลิป ระบุ