สารเคมีคลุ้งเขาหัวโล้น มหันตภัยร้ายซ้ำเติมคนน่าน (20 ก.ค. 59)
โพสต์ทูเดย์ 20 กรกฎาคม 2559
สารเคมีคลุ้งเขาหัวโล้น มหันตภัยร้ายซ้ำเติมคนน่าน
โดย...ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์
จากเมืองเล็กๆ ที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ชีวิตความเป็นอยู่แบบสโลว์ไลฟ์ที่ใครๆ ก็ฝันหา เมืองต้องห้ามพลาด ถูกบรรจุอยู่ในปฏิทินการท่องเที่ยวลำดับต้นๆ ของไทย แต่ทุกวันนี้ภูเขาที่เคยเขียวขจีถูกบุกรุกโค่นผืนป่าจนกลายเป็นภูเขาสีน้ำตาลราบเรียบไม่มีแม้แต่ต้นหญ้าสักหย่อมเดียว ภาพเกษตรกรที่มีถังและแกลลอนพร้อมสายยางและหัวฉีดพ่น แบกและทำงานอยู่กลางเขาสีน้ำตาลโล่งแจ้ง สะท้อนถึงภาคการเกษตรที่หนีไม่พ้นการใช้สารเคมีมานานนับกว่า 30 ปี
ในช่วงระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา น่านต้องรับกระแสเรื่องเขาหัวโล้น และช่วงต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา กระแสกระหน่ำซ้ำเรื่องสารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ในดิน แหล่งน้ำ ตกค้างไปถึงพืชผักและปลา สะเทือนไม่น้อยกับผลการตรวจคุณภาพของน้ำประปาหมู่บ้านที่ชี้ว่ามีสารอาทราซีน หรือยากำจัดวัชพืช ปนเปื้อนเกินมาตรฐานและมีผลกระทบต่อสุขภาพ
พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เผยผลวิจัยพบว่า ปัญหาการปนเปื้อนของสารเคมีที่ใช้ปลูกข้าวโพด กระจายเกือบทั่วทั้ง จ.น่าน ไม่ใช่แค่เพียงดินเท่านั้น ยังกระจายไปถึงแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงคนน่านและคนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ผลสำรวจพบว่าเกษตรกรใช้สารเคมี 2.4 ล้านกิโลกรัม (กก.)/ปี และพบว่า มีสารเคมีทางการเกษตรหรือยาฆ่าหญ้าชนิดต่างๆ ปนเปื้อนในเนื้อปลา และน้ำประปา น้ำดื่ม
จากการสุ่มตรวจน้ำ 9 ตัวอย่างจาก 8 อำเภอใน จ.น่าน พบมีสารอาทราซีนหรือยากำจัดวัชพืช ปนเปื้อนในน้ำประปาเข้มข้น ค่าเฉลี่ย 18.78 ไมโครกรัม/ลิตร ขณะที่ค่าสูงสุดที่ยอมรับได้ในออสเตเรีย คือ 0.5 ไมโครกรัม/ลิตร แต่ไทยยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานสารเคมีชนิดนี้ในน้ำดื่ม อีกทั้งยังพบสารไกลโฟเสต ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งระดับ 2A ในเนื้อปลาสูงกว่าค่ามาตรฐาน 20-200 เท่า รวมถึงพบสารพาราควอต คลอไพริฟอส เกินมาตรฐานในผัก ปลา ในดิน ในน้ำอีกด้วย
นอกจากนี้ มีรายงานการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตร ปี 2558 ของกรมวิชาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุตัวเลขการนำเข้าสารกำจัดวัชพืช (Herbicide) และสารกำจัด (Insecticide) รวมถึงสารป้องกันและกำจัดโรคพืช (Fungicide) และสารเคมีอื่นๆ เช่น สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช สารรมควันพิษ สารกำจัดหอยและหอยทาก สารกำจัดไร ไส้เดือนฝอยและสารกำจัดหนูนำเข้ารวม 149,546 ตัน มูลค่า 19,326 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้สารกำจัดวัชพืชมีนำเข้ามากที่สุดถึง 119,971 ตัน โดย จ.น่าน มีการใช้สารเคมีด้านการเกษตรปริมาณสูงถึงปีละ 2.4 ล้าน กก. คิดเป็น 1.5-1.6% เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการนำเข้าของประเทศ
ทั้งปัญหาเขาหัวโล้น สารเคมี ยาฆ่าหญ้า ผูกพันกับวิถีเกษตรน่าน เป็นวงจรที่หลุดพ้นกันไม่ได้ ไม่ใช่เพราะเกษตรกรไม่รู้ถึงพิษภัย แต่เพราะสภาพภูมิประเทศที่มีแต่เขาสูงลาดชัน พื้นที่ราบเพียง 15% ของพื้นที่ทั้งจังหวัด ความแห้งแล้งขาดแหล่งน้ำที่จะเพาะปลูกพืชอื่นๆ เหมือนพื้นราบได้ เมื่อมีนายทุนหรือหน่วยงานที่หยิบยื่นวัตถุดิบให้เบ็ดเสร็จ เพียงใช้ลงทุนแค่แรงงานและพื้นที่ดินก็เพียงพอที่จะหวังกับรายได้เลี้ยงครอบครัว แม้จะหันหน้าไปทำงานรับจ้างอื่นๆ ใน จ.น่าน ก็ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ให้ขายแรงงาน มีเพียงลูกหลานเท่านั้นที่ไปเร่ขายเมืองใหญ่
สถาพร สมศักดิ์ หัวหน้างานปฏิบัติการชุมชนภาคเหนือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน องค์การมหาชน กล่าวว่า การทำไร่ข้าวโพดเหมือนจะได้เงินง่าย แต่ไม่เคยเห็นเกษตรกรรวยหรือหลุดพ้นหนี้สิน ยังต้องทำไร่ข้าวโพดต่อไป เมื่อราคาตกก็ต้องขยายพื้นที่ปลูกเพื่อให้ได้ปริมาณมากขึ้น เพียงหวังจะได้เงินเท่าเดิมเพื่อให้พอกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และด้วยแรงงานในครัวเรือนที่มีน้อยคน การจะเสียเงินค่าจ้างคนงานมาถางหญ้าขยายที่เพาะปลูกก็มีแต่จะเป็นต้นทุนที่แพงเกินไป ยาฆ่าหญ้าจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ขยายพื้นที่เป็นสิบๆ ไร่ได้ด้วยคนเพียงไม่กี่คน
ปัญหาโครงสร้างมันมาตั้งแต่ความยากจนของเกษตรกรน่าน ไม่มีทางเลือกเพราะพื้นที่ภูมิประเทศมันบังคับ กลไกราคาข้าวโพดก็ล่อใจ ร้านค้าขายสารเคมีต่างๆ ล้วนพร้อมใจสนับสนุนวัตถุดิบทุกอย่าง ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยา ชนิดไม่ต้องมีเงินลงทุน เก็บผลผลิตได้ก็มาหักลบกลบหนี้กัน พอได้ยาฆ่าหญ้าก็ไปใช้ในพื้นที่ปลูก ราคาข้าวโพดดีก็ขยายพื้นที่ปลูกอีก ใช้ยาฆ่าหญ้าเพิ่มไปอีก ยิ่งเห็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดมาก ก็ยิ่งมีสารเคมีมาก ภูเขาหัวโล้นยิ่งขยายวงกว้าง
การแก้ไขปัญหาเชิงระบบ เสนอให้มองเกษตรกรน่านลึกไปถึงโครงสร้างหนี้สิน ต้องเอาเกษตรกรและชาวบ้านออกจากวงจรข้าวโพดให้ได้ โดยใช้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเข้ามาจัดการมีแนวทางช่วยเหลือหนี้สินอย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐต้องเปิดพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่เป็นรูปธรรมจริงๆ ไม่ใช่หมู่บ้านที่มีปัจจัยหนุนเสริมจากหน่วยงานเพื่อให้เป็นหมู่บ้านผลงาน แต่ต้องเป็นหมู่บ้านหรือชุมชนที่ทำได้จริงมีรายได้เกิดขึ้นจริง จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรรายอื่นๆ ได้ และการขยายตัวก็จะทำได้ง่าย เพราะมีต้นทุนปัจจัยจากชุมชนเอง