"โคเวสโตร" โชว์เทคโนโลยีใหม่ ผลิตโพลีเมอร์จากก๊าซคาร์บอน (18 ก.ค. 59)
ประชาชาติธุรกิจ 18 กรกฎาคม 2559
"โคเวสโตร" โชว์เทคโนโลยีใหม่ ผลิตโพลีเมอร์จากก๊าซคาร์บอน
บ.โคเวสโตร โชว์นวัตกรรมผลิตโพลีเมอร์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ปั้นโรงงานแรกแล้วที่เยอรมนี กำลังผลิต 5,000 ตัน/ปี เล็งหาพันธมิตรในไทยสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ในจังหวัดระยอง สถาบันปิโตรเลียมฯ หนุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยใช้วัตถุดิบทางเลือกแทนน้ำมัน-ก๊าซ
เมื่อเร็ว ๆ นี้สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้จัดบรรยายพิเศษเทคโนโลยีกระบวนการผลิตทางปิโตรเคมีที่นำก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มาเป็นวัตถุดิบแทนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตเป็น "วัสดุโพลีเมอร์ประเภทยูรีเทน" ของบริษัท โคเวสโตร จำกัด จากประเทศเยอรมนี ซึ่งได้ลงทุนก่อสร้างโรงงานแรกกำลังผลิต 5,000 ตัน/ปี ไปแล้วที่ประเทศเยอรมนี
ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงเทคโนโลยีดังกล่าวว่า การวิจัยและพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์จากคาร์บอนไดออกไซด์ครั้งนี้จะกลายเป็น "จุดเปลี่ยน" ของอุตสาหกรรมทุกอย่างในอนาคต ที่สำคัญบทบาทของปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติจะลดลง และมีการนำ CO2 ที่เคยเป็นก๊าซที่ถูกทิ้งจากระบบผลิตมาใช้ประโยชน์มากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้มีการลงทุนด้านนวัตกรรม และนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเม็ดพลาสติกโพลีเมอร์และยูรี เทน ที่สำคัญคือต้นทุนการผลิตสามารถแข่งขันกับน้ำมันและก๊าซธรรมชาติได้
เมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัทโคเวสโตรได้เปิดโรงงานผลิตโพลีเมอร์-ยูรีเทนที่ใช้ CO2 เป็นวัตถุดิบ กำลังผลิต 5,000 ตัน/ปีในประเทศเยอรมนี ซึ่งเมื่อโรงงานดังกล่าวพัฒนาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แล้วพบว่ายังมีความต้องการ ในตลาดเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจมีความเป็นไปได้ที่จะมาเปิดโรงงานเพิ่มเติมในประเทศไทย ที่สำคัญคือ มองความร่วมมือที่จะลงทุนร่วมกับนักลงทุนในไทยที่สนใจ
"ในทางเทคนิค ก๊าซ CO2 มีความเฉื่อย จึงต้องใช้พลังงานเข้าไปกระตุ้นก๊าซแอ็กทีฟขึ้นมา ซึ่งภายหลังจากการวิจัยพบว่า ได้ผลดีและสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่การผลิตโพลีเมอร์และเข้าสู่กระบวนการผลิต กระจกรถยนต์ ฝากระโปรงรถ ไฟหน้ารถ และคาดว่าในอนาคตยังสามารถขยายไปยังผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้อีกมากมาย ที่สำคัญยังช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้ด้วย ฉะนั้น น่าจะเป็นทางเลือกสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยในอนาคต"
ดร.ศิริ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมในต่างประเทศเริ่มนำก๊าซ CO2 จะมาแทนที่การใช้ก๊าซและน้ำมันได้ถึงร้อยละ 20 และคาดว่าในอนาคตจะเพิ่มสัดส่วนเป็นร้อยละ 40 ได้
ด้าน ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า นวัตกรรมดังกล่าวถือเป็นแนวทางที่รัฐบาลกำลังผลักดันและยกระดับระบบเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมของประเทศในรูปแบบใหม่ หรือ New S-Curve ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มคุณค่าของสินค้าและบริการ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่ Thailand 4.0 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดระยองมีการผลิตเม็ดพลาสติก และโพลีเมอร์ที่ใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบ ซึ่งต้นทุนการผลิตขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัน แต่การใช้คาร์บอนไดออกไซด์เป็นวัตถุดิบ ต้นทุนมีความผันผวนน้อย และขณะนี้กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีเริ่มให้ความสนใจและมองเป็นทาง เลือกในอนาคตด้วย
รายงานข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทโคเวสโตร ประเทศเยอรมนี เป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกคุณภาพสูง ผลิตโปรดักต์ที่มีความหลากหลายและใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น โพลียูรีเทน ในการทำฉนวนกันความร้อน นอกจากนี้ ยังผลิตโพลีคาร์บอเนตหรือพลาสติกคุณภาพสูง ที่เป็นส่วนประกอบของชิ้นส่วนรถยนต์ที่ทำให้ยานยนต์มีน้ำหนักเบา ส่งผลให้ประหยัดน้ำมัน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผลิตภัณฑ์เคลือบสีที่สามารถปกป้องทุกพื้นผิวหรือโครงสร้างต่าง ๆ เช่น สะพานและระบบท่อ เป็นต้น