กทม.คลอดเกณฑ์เก็บเงินค่าบำบัดน้ำเสีย โดนหมด ‘บ้านเรือน’ ยัน ‘โรงงานอุตสาหกรรม’ (14 ก.ค. 59)
Green News TV 14 กรกฎาคม 2559
กทม.คลอดเกณฑ์เก็บเงินค่าบำบัดน้ำเสีย โดนหมด ‘บ้านเรือน’ ยัน ‘โรงงานอุตสาหกรรม’
ที่ประชุมสภา กทม.เสนอเก็บเงินค่าบำบัดน้ำเสีย คาดได้เงินปีละไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาท ชงผู้บริหารเปิดไฟเขียว
ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2559 ได้พิจารณารายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการบังคับใช้บัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมน้ำเสีย การบริหารทรัพยากรน้ำ และการบำบัดน้ำเสียโดยเสนอให้เริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมในบริเวณที่มี 8 โรงบำบัดน้ำเสีย ประกอบด้วย สี่พระยา รัตนโกสินทร์ ดินแดง ช่องนนทรี หนองแขม ทุ่งครุ จตุจักร บางซื่อ มีนบุรี ธนบุรีเหนือ คลองเตย หนองบอน ธนบุรีใต้
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบผลการศึกษาและข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งจะเสนอต่อผู้บริหารกทม.เพื่อพิจารณาว่าเห็นด้วยกับอัตราการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวหรือไม่ และจะประกาศบังคับใช้เมื่อใด
สำหรับค่าธรรมเนียมจะแบ่งการจัดเก็บตามแหล่งกำเนิด ได้แก่ 1.บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย จะจัดเก็บในอัตราเหมาจ่าย 3 บาท ต่อหลังคาเรือน โดยจะเก็บร่วมกับการเก็บค่าธรรมเนียมขยะมูลฝอย แต่หากใช้น้ำไม่เกินเดือนละ 10 ลูกบาศก์เมตร จะได้รับค่ายกเว้น ปัจจุบันมีบ้านเรือนประมาณ 2 แสนราย คาดว่าจะจัดเก็บได้ประมาณปีละ 100 ล้านบาท
2.หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ โรงเรียน โรงพยาบาล มูลนิธิ ศาสนสถาน อาคารต่างๆ จะจัดเก็บในอัตราเหมาจ่ายตามจำนวนการใช้น้ำ โดยคิดราคาเป็น 3 ช่วง เริ่มตั้งแต่ 500 บาท 1,000 บาท และ 1,500 บาท คาดว่าจะจัดเก็บได้กว่าปีละ 1,000 ล้านบาท ซึ่งเจ้าของอาคารสามารถจ่ายได้ที่สำนักงานเขต หรือหน่วยงานต่างๆ ซึ่งได้ประสานงานไว้
3.กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ โรงแรม โรงงาน มีจำนวนกว่า 2,000 ราย ซึ่งจะจัดเก็บตามปริมาณการเกิดน้ำเสียจริง ในอัตรา 4 บาทต่อลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะจัดเก็บได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านบาท โดยเจ้าของอาคาร สามารถจ่ายได้ที่สำนักงานเขต หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่กรุงเทพมหานครได้ประสานงานไว้
ร.ท.วารินทร์ เดชเจริญ สมาชิกสภา กทม. กล่าวว่า เบื้องต้น กทม.จะไปพิจารณาแก้ไขข้อบัญญัติเพิ่มเติม เพื่อกำหนดบทลงโทษกรณีที่ไม่มีการจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าวตามกฎหมาย คาดว่าจะสามารถจัดเก็บได้ประมาณ 50-70% จากจำนวนทั้งหมด ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดงบประมาณในการนำบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย และพัฒนาระบบเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก