ถอดบทเรียนชุมชนต้นแบบ Zero Waste เมื่อ ‘ถังขยะ’ กลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ? (1 ก.ค. 59)

Green News TV 1 กรกฎาคม 2559
ถอดบทเรียนชุมชนต้นแบบ Zero Waste เมื่อ ‘ถังขยะ’ กลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ?

… วีรทัศน์ อิงคภัทรางกูร

การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย เป็นหนึ่งในกิจกรรมตามโรดแมพที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วางเป้าหมายเอาไว้ โดยมีสาระสำคัญคือสร้างวินัยของคนในชาติมุ่งสู่การจัดการที่ยั่งยืน

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะหนึ่งในเจ้าภาพหลัก ได้สานต่อโครงการชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) มาตั้งแต่ปี 2552 จนกระทั่งสามารถผลิต “ชุมชนต้นแบบ” สำเร็จแล้วกว่า 600 แห่ง

นำมาซึ่งเวทีสัมมนา “สร้างวินัยคนในชาติ มุ่งสู่การจัดการขยะอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2559 ที่จัดขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้บุคลากรจากชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย พร้อมมอบรางวัลโครงการประกวดชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) ให้แก่ 89 ชุมชนที่ผ่านเข้ารอบ

ระเบียบ ภูผา นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้ภาพว่า การจัดการขยะในปัจจุบันจะเน้นที่ปลายทางคือการกำจัด แต่แนวคิด Zero Waste จะจัดการตั้งแต่ต้นทางโดยเน้นการลดจำนวนขยะ และทำการคัดแยกเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดก่อนจะนำไปกำจัด จึงต้องมุ่งเน้นไปที่ผู้ผลิต ได้แก่ ครัวเรือนหรือชุมชน ดังนั้นปัญหาสำคัญที่สุดคือความร่วมมือและความตระหนักของภาคประชาชน

มานพ ชัยบัวคำ กำนันตำบลโรงช้าง จ.เชียงราย เล่าว่า สำหรับตำบลโรงช้างมี 12 หมู่บ้าน 1,400 หลังคาเรือน พร้อมจำนวนขยะ 4-5 ตันต่อเดือน แต่เมื่อปี 2552 หมู่บ้านโป่งศรีนคร ได้ริเริ่มเป็นชุมชนต้นแบบในการจัดการขยะเรื่อยมา จนปัจจุบันแทบไม่มีขยะเหลือให้กำจัดเนื่องจากขยะทุกประเภทมีเส้นทางที่ชัดเจน เช่น ขยะรีไซเคิลมีการรวบรวมเพื่อขายเป็นรายได้ในชุมชน หรือขยะอินทรีย์มีการนำไปทำปุ๋ย จนเป็นชุมชนที่ชนะการประกวดถึง 3 ครั้ง ในปี 2555-2557

“ตอนนี้ทั้ง 12 หมู่บ้านก็กำลังจัดการไปในทิศทางเดียวกัน โดยยึดโป่งศรีนครเป็นโมเดล และยังมีผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานตั้งแต่ต้นปี 2559 ไปแล้วเกือบ 3,000 คน ซึ่งปัจจุบันตำบลโรงช้างก็สามารถลดจำนวนการวิ่งรถเก็บขยะของเทศบาล จากสัปดาห์ละครั้งเป็นสองสัปดาห์ครั้ง” มานพ กล่าว

บุญช่วย อุดมผล ประธานชุมชนหนองโจด เทศบาลตำบลโนนแดง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า การจัดการในชุมชนหนองโจดมีการคัดแยกขยะโดยครัวเรือนเป็น 4 ประเภท คือ 1.ขยะรีไซเคิล จะมีการนำมาบริจาคให้เทศบาลนำไปขายในแต่ละเดือน 2.ขยะทั่วไปที่ขายไม่ได้ จะมีการนำมาสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระเป๋าจากซองกาแฟ 3.ขยะอินทรีย์ จะมีการนำมาทำน้ำหมักชีวภาพ และ 4.ขยะอันตราย สามารถเก็บรวบรวมแล้วนำมาแลกสิ่งของได้

“เราเน้นที่สุดที่จะไม่ให้มีการเผาขยะเกิดขึ้น ซึ่งได้ดำเนินกิจกรรมมากมาย เช่น ร่วมตกลงกันในการลดใช้พลาสติกและโฟมโดยไม่นำเข้ามาในชุมชน หรือหากใช้ถุงผ้าซื้อของในตลาดก็จะมีการส่งเสริมในส่วนของการลดแลกแจกแถม เป็นต้น จนที่ผ่านมาได้มีการจัดพิธีเชิญเทศบาลมารับมอบถังขยะคืน เนื่องจากขยะที่เหลือน้อยมาก ทั้งนี้เชื่อว่าการริเริ่มความสำเร็จนั้นผู้นำจะต้องทำก่อน คนในชุมชนจึงจะทำตาม” บุญช่วย ระบุ

สอดคล้องกับ กฤตภาส ปรุงศรีปัญญา ผู้ใหญ่บ้านหัวถนน เทศบาลตำบลพระลับ จ.ขอนแก่น ที่เล่าว่า หลังหมู่บ้านเผชิญกับวิกฤติขยะไม่มีที่ทิ้งในปี 2556 จึงมีความพยายามชักชวนชาวบ้านร่วมกันจัดการขยะ โดยมุ่งเน้นการไม่นำขยะเข้าชุมชน ลดการใช้โฟมและพลาสติก พร้อมทั้งทำการคัดแยกขยะเพื่อนำมารีไซเคิล จากนั้นขยะที่เฉลี่ยเดือนละ 24 ตัน ก็ลดเหลือเพียง 10 ตัน และเมื่อทำการศึกษาต่อในวนที่เหลือแล้วพบว่าส่วนใหญ่เป็นขยะอินทรีย์ ก็ได้มีการนำไปทำปุ๋ยทั้งหมดจนแทบไม่เหลือขยะในชุมชนอีกต่อไป

“หมู่บ้านนี้ไม่เคยมีการขอถังขยะเพิ่ม และที่ผ่านมาได้คืนถังขยะเทศบาลไปแล้ว 3 ครั้ง รวมกว่า 80 ใบ รวมทั้งชนะการประกวดโครงการไปแล้ว2 ครั้ง โดยปัจจุบันยังมีผู้เข้ามาศึกษาดูงานที่หมู่บ้านเกือบทุกวัน ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ประสบความสำเร็จคือการมีส่วนร่วมในชุมชน ด้วยการที่ผู้นำเสียสละทำเป็นต้นแบบเพื่อสร้างความเชื่อให้ชุมชนศรัทธาและให้ความร่วมมือ” ผู้ใหญ่บ้านรายนี้ ระบุ

ธีรวัฒน์ ต๊ะวิภา ผู้ใหญ่บ้านทุ่งศรี หมู่ 3 อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ย้อนอดีตกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน โดยเล่าว่า หมู่บ้านทุ่งศรีไม่มีที่ดินสาธารณะแม้เพียงนิดเดียว ภาพของการประกอบเกษตรกรรมที่คิดเป็น 80% ในพื้นที่ ต้องทำการซื้อปุ๋ยหรือสารเคมีเพื่อใช้ในการเพาะปลูก มีการเผาขยะและกิ่งไม้ทุกเย็นโดยทีไม่มีใครตระหนักว่าได้สร้างมลภาวะในทุกเรื่องและกำลังตายผ่อนส่ง จนต้องย้ายศูนย์เด็กเล็กออกนอกพื้นที่เนื่องจากปัญหามลพิษ

“หลังประชาคมหมู่บ้านและสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการพัฒนา ในปี 2550 ได้เกิดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในการผลิตปุ๋ยหมักจากวัตถุดิบที่เหลือทิ้ง จนสามารถยกมาตรฐานเป็นโรงกำจัดขยะขนาดใหญ่ที่นำทรัพยากรทุกอย่างมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีศูนย์จัดการศัตรูพืช ส่งเสริมการเป็นแหล่งเกษตรปลอดสารพิษ โดยทั้งหมดคนในพื้นที่เป็นเจ้าของเอง ซื้อใช้เอง ปันผลเอง บริโภคเอง กลายเป็นภูมิคุ้มกันของชุมชนที่เกิดขึ้น และทุกวันนี้ได้ก้าวขึ้นมาเป็นต้นแบบวิสาหกิจชุมชนดีเด่น รวมถึงได้รับโครงการสนับสนุนมากมาย” ธีรวัฒน์ กล่าว