บริษัทยักษ์ใหญ่มีสะเทือน! ครม.ไฟเขียวปรับปรุงพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า แก้ธุรกิจผูกขาด (2 ก.พ. 59)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 2 กุมภาพันธ์ 2559
บริษัทยักษ์ใหญ่มีสะเทือน! ครม.ไฟเขียวปรับปรุงพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า แก้ธุรกิจผูกขาด

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ....เพื่อปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าให้มีความเป็นอิสระ และปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้เกิดการแข่งขันเป็นธรรมและเสมอภาค  โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีผ่านความเห็นชอบจากครม. จำนวน 7 คน คุณสมบัติอายุ 45-60 ปี วาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี ติดต่อไม่เกิน 2 วาระ โดยตั้งขึ้นเป็นสำนักงานในหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่มีความอิสระ ซึ่งงบประมาณสำหรับการจัดตั้งในปีแรกรัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุน สำหรับปีต่อไปให้ใช้เงินงบประมาณจากค่าจดทะเบียนทางการค้า โดยหักมา 10 % เป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า โดยกำหนดให้รัฐวิสาหกิจทุกประเภทตั้งอยู่ภายใต้การบังคับตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ยกเว้นมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือจัดให้มีสาธารณูปโภค

นอกจากนี้ยังปรับปรุงนิยามของคำว่า “ผู้ประกอบธุรกิจ” ให้ครอบคลุมถึงบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดทางธุรกิจ และเพิ่มนิยามคำว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนิติบุคคลในเครือเดียวกัน” และ ปรับปรุงนิยามคำว่า ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด โดยให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเป็นผู้มีอำนาจในการออกประกาศ หลักเกณฑการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด รวมทั้งเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า ปัจจัยสภาพการแข่งขันของตลาด

“การควบรวมกิจการทั้งหลายของบริษัทต่อไปนี้ จะต้องขออนุญาต เช่น ห้างสรรพสินค้า A ขายสินค้าชนิดหนึ่ง ห้างสรรพสินค้า B ก็ขายสินค้าชนิดเดียวกัน วันหนึ่งห้างสรรพสินค้า A B C มารวมกัน อย่างนี้เรียกว่าเริ่มจะมีการผูกขาดทางการตลาดแล้ว โดยจะมีการทบทวนกับผู้ประกอบการธุรกิจทุก ๆ 5 ปี ตามพ.ร.บ.ทบทวนกฎหมาย ว่าลีลา ท่าทางแบบไหนที่เป็นการบ่งชี้ว่ามีอำนาจเหนือตลาดหรือผูกขาด เพราะปัจจุบันต้องยอมรับความเป็นจริงว่าธุรกิจมีชั้นเชิงที่จะสร้างการผูกขาดหลากหลายรูปแบบ”

ทั้งนี้มีข้อคิดเห็นจากสำนักอัยการสูงสุดว่าการให้อำนาจคณะกรรมการ ฯสามารถยกเลิกโทษจำคุกในการควบรวมธุรกิจเพื่อดำเนินการให้เกิดการผูกขาด อาจจะทำให้ก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม จึงให้กฤษฎีกาพิจาณาทบทวนอีกครั้งและขอความคิดเห็นจาอภาคเอกชนด้วย