แห่ผุดเตาเผากากอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า (2 ก.พ. 59)
ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 2 กุมภาพันธ์ 2559
แห่ผุดเตาเผากากอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า
แห่ผุดเตาเผากากอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า
ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากกากอุตสาหกรรมเริ่มบูม เอสซีจี จับมือฮิตาชิ ผุดเตาเผาที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้ฟรี 1.8 พันล้านบาท ที่จ.สระบุรี คาดได้ข้อสรุปก.พ.นี้ กรอ.ยัน เป็นโครงการนำร่องที่จะปูทางไปสู่โครงการต้นแบบในนิคมฯกำจัดกาก 6 ภูมิภาค ขณะที่เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน แม้ชวดโครงการ เตรียมลุยทำเอง จับมือกฟผ.ตั้งโรงไฟฟ้าจากกากอุตฯ ในนิคม 3 แห่ง ด้านเจนโก้ เล็งซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวล
นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากที่กรมได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการกากอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปี(2558-2562) โดยจะเร่งรัดให้มีปริมาณกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบไปกำจัดไม่น้อยกว่า 90 % เพื่อแก้ปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม พร้อมกับส่งเสริมให้เกิดเตาเผากากอุตสาหกรรมร่วมกับขยะชุมชนและนำมาผลิตไฟฟ้าได้นั้น ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือ จากกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (METI) ได้สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์หาพื้นที่ที่เหมาะสม ทำการศึกษาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรมใน 6 แห่ง และขณะนี้ได้แล้วเสร็จ และคาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อรายงานความคืบหน้าว่าพื้นที่ใดควรจะมีนิคมอุตสาหกรรมกำจัดกากอุตสาหกรรมเกิดขึ้นบ้าง
ตั้งนิคม 6 แห่งทำเตาเผากาก
ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสมในการตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมรองรับการกำจัดกากจะอยู่ใน 15 จังหวัด ใน6 ภูมิภาค ที่จะมีการลงทุนด้านเตาเผาผลิตไฟฟ้าควบคู่ด้วย ประกอบด้วยภาคเหนือ จะอยู่ในจังหวัดลำพูน และลำปาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา และขอนแก่น ภาคตะวันตก อยู่ในจังหวัดราชบุรี ตาก และกาญจนบุรี ภาคกลางอยู่ในจังหวัดสระบุรีและสมุทรสาคร ภาคตะวันออกอยู่ในจังหวัดชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง และสระแก้ว และภาคใต้อยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชและสงขลา
นอกจากนี้ เพื่อเป็นโครงการนำร่องทางองค์การพัฒนาพลังงานใหม่ และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (เนโดะหรือNEDO) ของญี่ปุ่น ยังได้ลงนามกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะมอบเตาเผาขนาด 500 ตันต่อวัน มูลค่าประมาณ 1.8 พันล้านบาท ให้กับรัฐบาลไทย เพื่อไปทำโครงการเตาเผากากอุตสาหกรรม 350 ตันต่อวัน ร่วมกับขยะชุมชน 150 ตันต่อวัน ผลิตไฟฟ้าได้ 10 เมกะวัตต์ โดยมอบหมายให้บริษัท ฮิตาชิ เป็นผู้คัดเลือกเอกชนไทยเข้าร่วมลงทุน ซึ่งที่ผ่านมามีผู้สนใจจำนวน 9 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนิน คาดว่าจะได้สรุปภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และหลังจากนั้นจะมีการศึกษาในรายละเอียดความเป็นไปได้ของโครงการต่อไป
เอสซีจีจับมือฮิตาชิลงทุน
นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยว่า จากที่เนโดะได้มอบหมายให้ฮิตาชิ เป็นผู้เชิญชวนผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมลงทุน มีเอกชนให้ความสนใจกว่า 20 ราย และคัดเลือกเหลือ 9 ราย และสุดท้ายสรุปลงมาเหลือ 3 ราย ได้แก่ เอสซีจี บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง และบริษัท บางปู เอนไวรอนเมนท์ ซึ่งอยู่ระหว่างหารือให้ได้ผู้ที่มีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีเงื่อนไขที่เอกชนไทยจะต้องเป็นผู้จัดหาสถานที่ก่อสร้าง พร้อมกับจัดหากากอุตสาหกรรมให้ได้ตามปริมาณและตลอดอายุโครงการที่กำหนด
โดยเอกชนไทยจะเป็นผู้ลงทุนด้านที่ดิน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องลงทุนประมาณ 200-300 ล้านบาท ขณะที่เนโดะจะให้เปล่าเตาเผากากและผลิตไฟฟ้ามูลค่า 1.8 ล้านบาท และร่วมกันบริหารเป็นระยะเวลา 5 ปี พร้อมกับถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับฝ่ายไทย และหลังจากนั้นทางเนโดะจะให้ทางผู้ลงทุนโครงการเป็นผู้ซื้อโครงการคืน
สำหรับความเป็นไปได้ที่ทางฮิตาชิจะเป็นผู้คัดเลือกเอกชนรายใดนั้น มีความเป็นไปได้ว่าทางเอสซีจีน่าจะได้รับการคัดเลือก เนื่องจากทางฮิตาชิจะพิจารณาจากการเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีความน่าเชื่อถือ และสามารถป้อนกากได้ตลอดอายุโครงการ เพราะปัจจุบันทางเอสซีจีก็มีธุรกิจในการรับกากอุตสาหกรรมไปกำจัดอยู่แล้ว
เคลียรด์สายส่งรับไฟเข้าระบบ
ส่วนจะได้ข้อสรุปเมื่อใดนั้น คาดว่าไม่น่าจะเกินเดือนกุมภาพันธ์นี้ เนื่องจากยังมีข้อหารือถึงสถานที่ตั้งโครงการอยู่ ที่เดิมมีการเสนอพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาคร แต่ติดปัญหาการจัดหาที่ดิน และต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอเพิ่ม ประกอบกับเอกชนไทยเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะสมสม เพราะกากอุตสาหกรรมไม่เหมาะที่จะนำมาเผา จึงได้มีการเสนอขอเปลี่ยนพื้นที่ใหม่ โดยให้แต่ละรายเสนอพื้นที่มา โดยเอสซีจีเสนอพื้นที่แก่งคอย จังหวัดสระบุรี เช่นเดียวกับปูนซีเมนต์นครหลวง ส่วนบางปู เอนไวรอนเมนท์ไม่มีการเสนอพื้นที่เข้ามา
นอกจากนี้ ในการเสนอพื้นที่ดังกล่าวมาแล้ว จะต้องไปพิจารณาดูว่าสายส่งที่จะรับไฟฟ้าเข้าระบบ สามารถรองรับได้หรือไม่ รวมถึงหากตั้งอยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมฯ ค่าไฟฟ้าที่ส่งขายจะไม่ได้รับการอุดหนุนค่าไฟฟ้าในรูปแบบฟิตอินทารีฟ ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงพลังงานด้วยอย่างไรก็ตาม หากโครงการดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการกำจัดกากอุตสาหกรรมมากขึ้น เนื่องจากพื้นที่ตั้งจะอยู่ใกล้กับแหล่งอุตสาหกรรมที่หนาแน่น ช่วยให้ต้นทุนค่าขนส่งลดลง และจะเป็นโครงการนำร่อง ไปสู่การตั้งเตาเผาในนิคมฯกำจัดกากที่กรอ.มีแผนดำเนินงานต่อไป
แหล่งข่าวจากเอสซีจี เปิดเผยว่า ขณะนี้เอสซีจีอยู่ระหว่างการเจรจาในเงื่อนไขต่างๆ รวมถึงสถานที่ตั้งโครงการ ซึ่งมีความเชื่อมั่นว่าน่าจะได้รับการคัดเลือกจากฮิตาชิ เพราะสถานที่ตั้งไม่ว่าจะเป็นที่แก่งคอย หรือหนองแค ล้วนเป็นนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้ว มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภค ประกอบกับสายส่งไฟฟ้า ยังสามารถรองรับไฟฟ้าเข้าระบบได้ ที่สำคัญเอสซีจี เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการกำจัดกากอุตสาหกรรมรายหนึ่งของประเทศ ซึ่งปัจจุบันรับกากอุตสาหกรรมจากลูกค้าและบริษัทในเครือมากำจัดอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่น่าเป็นห่วงและพร้อมที่จะลงทุนร่วมกับฮิตาชิ
เบตเตอร์ เวิลด์ กรีนได้กฟผ.ร่วม
ขณะที่นายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า สำหรับการร่วมลงทุนกับทางฮิตาชิ บริษัทก็มีความสนใจแต่ขึ้นอยู่กับว่าจะได้รับการคัดเลือกหรือไม่ ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปในเวลานี้
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทจะไม่ได้รับการคัดเลือก ทางบริษัทก็มีแผนลงทุนอยู่แล้ว ที่จะนำกากอุตสาหกรรมมาเผาและผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะที่ผ่านมาได้มีการบันทึกความตกลงเบื้องต้น(เอ็มโอยู) กับทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ไปแล้ว ที่จะร่วมกันลงทุนจัดตั้งนิคมฯกำจัดกากขึ้นมา 3 แห่ง ซึ่งขณะนี้ได้พื้นที่แล้วในบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และรอยต่อระหว่างภาคตะวันออกกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีขนาด 1 พันไร่ โดยทางบริษัทและกนอ.จะร่วมลงทุนและพัฒนาเป็นนิคมฯเพื่อขายพื้นที่ให้กับผู้สนใจเข้ามาลงทุน ตั้งโรงไฟฟ้าใช้กากอุตสาหกรรมเป็นเชื้อเพลิง โรงงานรีไซเคิล รวมถึงโรงงานที่ตั้งนอกอยู่ในพื้นที่นิคมฯไม่ได้ ซึ่งล่าสุดได้ลงนามกับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ไปแล้ว ที่จะร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน ที่มีเป้าหมายจะผลิตไฟฟ้าจากกากอุตสาหกรรมได้ไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ภายในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า การร่วมลงทุนดังกล่าว คาดว่าจะเริ่มภายในปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งโรงไฟฟ้าจะเป็นขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ โดยบริษัทมีแผนที่จะใช้เงินลงทุนปีนี้สำหรับการลงทุนด้านไฟฟ้าที่ร่วมกับกฟผ.และที่บริษัทดำเนินการเองประมาณ 1 พันล้านบาท
“ปัจจุบันบริษัทมีแผนลงทุนผลิตไฟฟ้าจากกากอุตสาหกรรม ขนาด 9.4 เมกะวัตต์ อยู่แล้ว ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในปีนี้และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายในปี 25560 ซึ่งหากการพัฒนานิคมฯ 3 แห่ง แล้วเสร็จ และการร่วมลงทุนกับกฟผ.เป็นไปได้ด้วยดี ก็จะทำให้ปัญหาการกำจัดกากอุตสาหกรรมมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นและ กำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทก็จะเพิ่มขึ้นด้วย”
เจนโก้เล็งซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวล
ด้านผ.ช.(พิเศษ) รณชัย ตันตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด(มหาชน) หรือเจนโก้(GENCO)ผู้ให้บริการรับกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตรายและกำลังขยายกำจัดกากอุตสาหกรรมไม่อันตรายเพิ่มขึ้น กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าล่าสุดเจนโก้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการต่อยอดธุรกิจโดยการลงทุนผลิตไฟฟ้าชีวมวล ที่ล่าสุดมีแผนจะเข้าซื้อกิจการต่อจากโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ดำเนินการอยู่แล้วแต่มีปัญหาไม่มีวัตถุดิบป้อนทั้งแกลบ ปาล์ม ชานอ้อย เมื่อซื้อกิจการมาได้บริษัทจะใช้เชื้อเพลิงขยะ (RDF)เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชีวมวลทั้งหมดผลิตไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ทั้งนี้การเข้าซื้อกิจการผลิตไฟฟ้าชีวมวล คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่ตํ่ากว่า1 พันล้านบาทขึ้นไป มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 8 เมกะวัตต์ โดยที่ผ่านมาบริษัทเปิดกว้างในการเจรจากับผู้ที่สนใจจะขายต่อกิจการทุกราย ล่าสุดมีหลายรายสนใจมาหารือด้วยแล้ว
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,127
วันที่ 31 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559