เอ็นจีโอ 109 องค์กร ผนึกต้าน คสช. จี้เลิกปลดล็อกผังเมืองเอื้อผุดโรงไฟฟ้าขยะ (4 ก.พ. 59)
Green News TV 4 กุมภาพันธ์ 2559
เอ็นจีโอ 109 องค์กร ผนึกต้าน คสช. จี้เลิกปลดล็อกผังเมืองเอื้อผุดโรงไฟฟ้าขยะ
เครือข่ายประชาสังคม รวมตัวยื่นหนังสือนายกฯ จี้ยกเลิกคำสั่ง ม.44 ปลดล็อคผังเมือง เปิดช่องสร้างโรงไฟฟ้าขยะตามโรดแมป 53 แห่งเสรี
ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน พร้อมรายชื่อจาก 109 องค์กร รวมตัวกันที่ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และคำสั่งที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท
สำหรับแถลงการณ์ของเครือข่ายฯ ระบุว่า คำสั่ง คสช.ทั้ง 2 ฉบับ เป็นการยกเลิกหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชนตามกฎหมายหลายประการ อาทิ ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง และกฎหมายควบคุมอาคาร ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่เปิดทางให้กลุ่มทุนประกอบกิจการได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนไทย อีกทั้งสร้างความวุ่นวายและขัดแย้งขึ้นทั่วประเทศ
“ทางเครือข่ายภาคประชาชนจำนวน 109 องค์กร จึงขอเรียกร้องให้ คสช.และรัฐบาล ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2559 และ 4/2559 ในทันที โดยทางเครือข่ายฯ จะมาติดตามคำตอบและทวงถามความยุติธรรมอีกครั้งในวันที่ 23 ก.พ. 2559″ แถลงการณ์เครือข่ายฯ ระบุ
นายสมนึก จงมีวศิน เครือข่ายภาคประชาสังคมการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า ผลกระทบที่ได้รับจากคำสั่ง 2 ฉบับ คือหลังจากนี้จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะที่ไหนก็ได้ เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ประกาศยกเลิกการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในโรงไฟฟ้าขยะไปแล้ว
นายสมนึก กล่าวว่า คำสั่งยกเลิกผังเมืองจะยังทำให้โรงไฟฟ้าสามารถขยายพื้นที่ออกไปยังพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่อนุรักษ์ อีกทั้งพื้นที่ที่เคยถูกยกเว้นให้เป็นพื้นที่รักษาสิ่งแวดล้อมก็ใช้สามารถคำสั่งประกาศนี้ถอดถอน อย่างกรณีพื้นที่ชุ่มน้ำกระบี่
“สำหรับข้อกังวลโครงการอื่นๆ อาทิ โรงงานลำดับที่ 88 และ 89 คือโรงงานประเภทไบโอแก๊ส หากมีการไปตั้งติดกับชุมชนแล้วจะสามารถอยู่ร่วมกันได้หรือไม่ หรือโรงงานลำดับที่ 101 เตาเผาอุตสาหกรรมขยะอันตราย หากไม่มีการเลือกพื้นที่แล้วการทำอีไอเอเป็นอย่างไร ส่วนโรงงานลำดับที่ 106 การนำของเสียที่เป็นเคมีภัณฑ์มารีไซเคิล กระบวนการเหล่านี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมสูงมาก รัฐบาลควรจะต้องพิจารณายกเลิกการประกาศนี้” นายสมนึก กล่าว
นายทิวา แตงอ่อน ผู้ติดตามศึกษาปัญหาขยะอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่น่าจับตาขณะนี้คือโครงการโรงไฟฟ้าขยะตามโรดแมปจำนวน 53 แห่งทั่วประเทศ ที่ได้ถูกปลดล็อคมาเป็นลำดับขั้น เริ่มจากการที่ชาวบ้านต่อสู้ในเวทีรับฟังความคิดเห็น ของกระบวนอีไอเอ ก็ทำการปลดล็อคอีไอเอ ต่อมาเมื่อชาวบ้านต่อสู้ด้วยผังเมือง ก็ทำการปลดล็อคผังเมืองต่อ
“เป็นที่น่าสังเกตุว่าแม้ที่ผ่านมาโครงการโรงไฟฟ้าขยะจะยังไม่สามารถสร้างได้เนื่องจากติดข้อกำหนดด้านผังเมือง แต่บางแห่งก็ได้มีการเตรียมพร้อมเคลียพื้นที่เรียบร้อย ราวกับรู้ล่วงหน้าว่าจะสามารถสร้างได้ จึงคิดว่าขั้นต่อไปน่าจะเป็นการปลดล็อค พ.ร.บ.ร่วมทุน เพราะขณะนี้เป็นข้อติดขัดสุดท้ายที่มีการร้องขอจากภาคเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อเอกชนติดปัญหาใดรัฐก็จะช่วยปลดล็อคให้ทั้งสิ้น ดังนั้นในตอนนี้ชาวบ้านจึงเหลือหนทางต่อสู้ให้ใช้เพียงอย่างเดียวคือสิทธิชุมชน” นายทิวา กล่าว