พรก.ประมงไม่เป็นธรรม สั่ง'ศปมผ.'ถกก่อนแก้ไข (5 ก.พ. 59)
ไทยโพสต์ออนไลน์ 5 กุมภาพันธ์ 2559
พรก.ประมงไม่เป็นธรรม สั่ง'ศปมผ.'ถกก่อนแก้ไข
ประมงพื้นบ้านยกพลบุกกระทรวงเกษตรฯ จี้ให้ยกเลิก ม.34 พ.ร.ก.การประมง ที่ห้ามประมงพื้นบ้านออกนอกชายฝั่งเกิน 3 ไมล์ทะเล ชี้เปรียบเสมือนขังชาวประมงในพื้นที่จำกัด รมว.เกษตรฯ ยอมรับไม่เป็นธรรม สั่ง ศปมผ.รวบรวมปัญหาทั้งหมดเสนอที่ประชุมสัปดาห์หน้า ก่อนชง ครม.แก้กฎหมาย
ที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินนอก เช้าวันที่ 4 กุมภาพันธ์ สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และตัวแทนของชาวประมงพื้นบ้าน 22 จังหวัดตามแนวชายฝั่งทะเล ร่วมชุมนุมเรียกร้องให้มีการแก้ไข ม.34 ของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ. 2558 ที่ห้ามชาวประมงพื้นบ้านออกไปทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่งเกิน 3 ไมล์ทะเล ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านได้รับผลกระทบกว่า 4 แสนครัวเรือน
โดยผู้ชุมนุมได้นำอวนไปล้อมเป็นสถานที่ชุมนุมที่บริเวณหน้ากระทรวง และมีการนำปลาทูและปลาทรายแดงจำนวน 3 ลัง มาให้ดูว่า ปลาประเภทนี้อยู่นอกเขต 3 ไมล์ทะเล และต่อมาตัวแทนชาวประมงได้ยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
จากนั้น พล.อ.ฉัตรชัยได้มอบหมายให้ พล.อ.ประสาท สุขเกษตร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงมาพบ และให้กลุ่มประมงจัดตัวแทน 5 คน นำโดย นายสะมะแอ เจ๊ะมูดอ และนายปิยะ เทศแย้ม กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำโดย พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.กระทรวงฯ และ พล.ร.ต.เชษฐา ใจเปี่ยม เลขานุการคณะทำงานด้าน ประชาสัมพันธ์ ศปมผ.
ต่อมา สำนักประชาสัมพันธ์ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (สน.ปชส.ศปมผ.) เผยแพร่ผลการหารือว่า กลุ่มมวลชนพอใจผลการประชุม และรื้อถอนเชือกกับอวนที่จัดทำไว้ออกจากพื้นที่ โดยนายสะมะแอได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า ต้องการให้ยกเลิก ม.34 ที่ห้ามกลุ่มประมงพื้นบ้านทำการประมงนอกชายฝั่งไม่เกิน 3 ไมล์ ซึ่งเปรียบเสมือนขังชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่จำกัด ทั้งๆ ที่พื้นที่ 3 ไมล์ควรจะเป็นพื้นที่ที่ควรต้องดูแลเป็นพิเศษ สงวนให้ปลาวางไข่ แต่กลับให้กลุ่มประมงพื้นบ้านซึ่งมีมากกว่า 80% เข้าทำการประมงในพื้นที่แคบ ซึ่งเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่จำเป็น อีกทั้งยังห้ามทำการประมงนอกพื้นที่จังหวัดของตนเอง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการประกอบอาชีพ และเรียกร้องให้ยืนยันว่าจะนำข้อเรียกร้องการยกเลิก ม.34 เสนอที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาโดยเร็ว
ทั้งนี้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ได้ชี้แจงว่า โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการประมง และได้เซ็นคำสั่งมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ (ศปมผ.) ที่มีตัวแทนกลุ่มคือ นายสะมะแอ เจ๊ะมูดอ และนางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข ร่วมเป็นคณะกรรมการอยู่ด้วย เร่งจัดการประชุมภายในสัปดาห์หน้าเกี่ยวกับประเด็น ม.34 ของ พ.ร.ก.การประมงฯ พร้อมกับให้กลุ่มรวบรวมปัญหาทั้งหมดที่มีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ นำเสนอในที่ประชุม ศปมผ. เพื่อหาแนวทางแก้ไข และนำมติที่ประชุม ศปมผ. นำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาแก้ไข พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว โดยเร็วแล้ว
พร้อมทั้งกำชับให้กรมประมงได้กำชับประมงจังหวัดต่างๆ ได้ดำเนินการกวดขันผู้ประกอบการที่กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องมือการทำประมงที่มีลักษณะทำลายล้างให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยให้ผู้ที่พบเห็นหรือทราบเบาะแส แจ้งมาโดยตรง เพื่อดำเนินการจับกุมดำเนินคดีต่อไป
ก่อนหน้านั้น นายสะมะแอ เจ๊ะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า จากกรณีที่รัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานไร้การควบคุม หรือไอยูยู โดยได้ออก พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 ขึ้น มีหลายมาตราที่ส่งผลกระทบกับการทำประมงพื้นบ้าน ประกอบด้วย มาตรา 34 ที่กำหนดให้การทำประมงชายฝั่งอยู่ในเขต 3 ไมล์ทะเล มาตรา 10 ที่มีผลให้เรือเล็กของชาวประมงรายย่อยไม่สามารถประกอบอาชีพทำการประมงได้อีก ได้สร้างความเดือดร้อนและจำกัดสิทธิชาวประมงขนาดเล็กในประเทศไทยที่มีจำนวนมากกว่า 80% ของชาวประมงทั้งหมดกว่า 22 จังหวัด ตามแนวชายฝั่ง
นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านกล่าวว่า การประมงขนาดเล็กพื้นบ้านเป็นประมงที่เป็นเศรษฐกิจพื้นฐานของชุมชน สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร สร้างรายได้กับชาวประมงรายย่อยเหล่านี้ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ส่งผลดีต่อประเทศ ที่ผลิตสินค้าประมงชั้นดีและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม หากชาวประมงพื้นบ้านทั้งหมดถูกบังคับให้ทำการประมงเฉพาะในที่แคบๆ ในชายฝั่งทะเล จะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรสัตว์น้ำ เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวประมงกันเอง อีกทั้งยังไม่เป็นผลดีต่อการประมงที่ยั่งยืน เพราะเขตชายฝั่งทะเลควรเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ขยายพันธุ์สัตว์น้ำ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหายาก การกำหนดมาตรา 34 จะทำให้เกิดการทำลายพื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนมากยิ่งขึ้น
"ที่สำคัญในขณะที่จำกัดพื้นที่ทำการประมงพื้นบ้าน แต่ พ.ร.ก.นี้ได้ให้สิทธิ์กับชาวประมงกลุ่มพาณิชย์เชิงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรืออวนลาก เรือปั่นไฟจับปลา ซึ่งเป็นเครื่องมือทำลายล้าง ให้ได้สิทธิ์ทำการประมงในพื้นที่ตั้งแต่เขตชายฝั่งไปจนสุดเขตเศรษฐกิจจำเพาะ หรือ 200 ไมล์ทะเล หรือจนสุดสิทธิ์ทำการประมงของประเทศ" นายสะมะแอกล่าว.