“พลิก”เบื้องหลัง รื้อผังเมืองรวม (4 ก.พ. 59)

PPTV 4 กุมภาพันธ์ 2559
“พลิก”เบื้องหลัง รื้อผังเมืองรวม

น่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายหรือเป็นหนทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ สำหรับความต้องการเดินหน้ากิจการไฟฟ้าและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และจังหวัดต่างๆที่มีโครงการเหล่านี้จ่ออยู่ โดยรัฐบาลอาศัยอำนาจหัวหน้าคสช. ออกคำสั่ง 2 ฉบับ มางดเว้นการใช้ผังรวมจังหวัดและการบังคับใช้กฎกระทรวงกับกิจการบางประเภท หลังมีกระแสต่อต้านในวงกว้าง

มาถึงจุดนี้อาจจะมีคำถามว่า สาเหตุใดชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ที่เคลื่อนไหวคัดค้านกับโครงการลงทุน ถึงให้ความสำคัญกับผังเมืองรวมจังหวัด ตามหลักวิชาการผังเมืองหรือผังประเทศในภาพใหญ่ที่สุด เป็นเสมือนกรอบนโยบายพัฒนาพื้นที่ต่างๆของประเทศ ให้มีความสมดุลระหว่างการพัฒนากับการอนุรักษ์ และโดยเฉพาะผังเมืองรวมจังหวัด ที่ถือว่าใกล้ชิดกับชีวิตของชาวบ้านเหล่านี้ เมื่อเกิดสภาพที่ไม่ได้เป็นไปตามทิศทางของหลักการ จึงเป็นที่มาของแรงกระเพื่อมที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

ตามข้อมูลที่อยู่ในเอกสารนำเสนอทิศทางผังเมืองไทยในทศวรรษหน้าของ นายพิชัย อุทัยเชฏฐ์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองที่นำมาเปิดเผยในวันผังเมืองโลก เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ให้คำนิยามผังเมืองรวมจังหวัดไว้ในความหมายว่า เป็นแผนผังแม่บทชี้นำการพัฒนาพื้นที่ระดับจังหวัด อำเภอ เมือง และชุมชน นั่นหมายความว่า ผังเมืองรวมจังหวัดจะมีผลอย่างมาก ที่จะกำหนดว่า จังหวัดนั้น เมืองนั้น จะพัฒนาไปในทิศทางไหน

สำหรับการประกาศใช้ผังเมืองรวมจังหวัด บังคับใช้ตามพระราชบัญญัติผังเมือง 2518 ดำเนินการใน 73 จังหวัด ยกเว้น กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ และภูเก็ต  เพราะจังหวัดเหล่านี้ ท้องถิ่นเป็นหัวหอกในการวางผัง ส่วนการดำเนินการใน 73 จังหวัด สามารถประกาศเป็นกฎกระทรวงให้ใช้บังคับไปแล้ว 28 จังหวัด อีก 10 จังหวัด จัดทำเสร็จแล้ว รอประกาศเป็นกฎกระทรวงให้บังคับใช้ และอีก 35 จังหวัด อยู่ระหว่างดำเนินการปรับ สถานการณ์นี้กลายเป็นคำถามอย่างมากว่า ในเมื่อกระบวนการปรับปรุงผังเมืองรวมจังหวัดในขั้นตอนปกติกำลังดำเนินอยู่ สาเหตุใดต้องใช้อำนาจพิเศษ เพื่อเร่งรัดกระบวนการให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากการเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยของประชาชนจากหลายพื้นที่ ยังมีนักวิชาการอิสระด้านผังเมือง ที่ก่อนหน้านี้ เดินทางไปยื่นหนังสือในนามส่วนตัว ทั้งต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ คสช.ที่กองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันศุกร์ที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่งทั้ง 2 ฉบับนี้ เช่นเดียวกัน เพราะเชื่อว่ากระบวนการเหล่านี้สามารถดำเนินการตามขั้นตอนปกติได้ อีกทั้งยังมีข้อเสนอที่น่าสนใจ