เปิดปากคำ "อธิบดีกรมที่ดิน" ปมถอนโฉนด "ราไวย์" (8 ก.พ. 59)
โพสต์ทูเดย์ 8 กุมภาพันธ์ 2559
เปิดปากคำ "อธิบดีกรมที่ดิน" ปมถอนโฉนด "ราไวย์"
โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน
กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยืนยันข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า การออกใบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เมื่อปี 2498 ก่อนนำไปสู่การออกโฉนดที่ดินบริเวณหาดราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต บางแปลงเป็นไปโดยมิชอบ
เมื่อปี 2557 ดีเอสไอพิสูจน์หลักฐานโครงกระดูกและดีเอ็นเอของบรรพบุรุษชาวไทยใหม่ หรือกลุ่มชาวเลราไวย์ ในบริเวณโฉนดเลขที่ 8324 สามารถยืนยันการดำรงอยู่ในพื้นที่มาก่อนจะมีความพยายามออก ส.ค.1
เอกสาร ส.ค.1 ที่ออกสำเร็จในอดีต ถูกแปรสภาพมาเป็น “โฉนดที่ดิน” ในปัจจุบัน ก่อนจะถูกซื้อขายเปลี่ยนมือหลายรอบ แบ่งออกเป็น ที่ดินสำหรับอยู่อาศัยของชาวเล มีทั้งสิ้น 19 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในโฉนดเลขที่ 8324 และ 12608 อีกส่วนเป็นที่ดินซึ่งเกี่ยวข้องกับสถานที่ประกอบพิธีกรรมและอาชีพประมง เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในโฉนดเลขที่ 12592 และ 2616 ที่ผ่านมามักเกิดกรณีพิพาทหลายต่อหลายครั้ง
สำหรับที่ดินอยู่อาศัยจำนวน 19 ไร่ ชาวเลถูก “ฟ้องขับไล่” ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 104 คดี ส่วนที่ดินที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณประมาณ 33 ไร่ ส่วนหนึ่งเป็นเอกสารสิทธิของ บริษัท บารอน เวิลด์ เทรด คู่กรณีเหตุการณ์ปะทะเดือดเมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่า ได้ซื้อโฉนดที่ดินผืนดังกล่าวมาเป็นมือที่ 4 แล้ว
พ.ต.ท.ประวุธ วงษ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ดีเอสไอ ยอมรับว่า ที่ผ่านมามีการฟ้องร้องเรื่องข้อพิพาทที่ดินหลายคดี มีทั้งที่ตัดสินไปแล้วและอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ ส่วนใหญ่พบว่าชาวไทยใหม่จะแพ้คดีและถูกให้ออกจากพื้นที่
แม้ว่าชาวเลจะได้หลักฐานจากดีเอสไอเพื่อต่อสู้คดีถูกฟ้องขับไล่ในชั้นศาล หากแต่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2498 และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ยืนยันความผิดอีกครั้งในปี 2557 จนถึงขณะนี้กลับยังไม่มีความหน้า
โดยเฉพาะเรื่อง “การเพิกถอนเอกสารสิทธิ” ในแปลงที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ซึ่งกำลังถูกตั้งคำถามมากที่สุด
สำหรับการเพิกถอนเอกสารสิทธิ มีเพียง 2 ช่องทางให้ดำเนินการเท่านั้น 1.ยื่นฟ้องต่อศาลให้มีคำสั่งบังคับคดี 2.ยื่นเรื่องต่อกรมที่ดิน ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 61 พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายที่ดินในการเพิกถอน โดยเป็นอำนาจของอธิบดีกรมที่ดิน
นั่นหมายความว่า การเพิกถอนดังกล่าวเป็นอำนาจเต็มของ “กรมที่ดิน” ส่วนอำนาจเดียวที่จะบังคับให้กรมที่ดินดำเนินการได้ก็คือ “ศาล” เท่านั้น
อภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน อธิบายว่า ไม่สามารถพูดลอยๆ ได้ว่าการเพิกถอนเอกสารสิทธิดำเนินการถึงไหนแล้ว เพราะพื้นที่ ต.ราไวย์ มีหลายกรณีพิพาท และกรณีล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับบริษัท บารอนฯ ก็เป็นคนละแปลงกับที่มีหน่วยงานอื่นๆเข้าไปตรวจสอบ
“จนถึงตอนนี้ผมยังไม่ทราบเลยว่าจะให้เพิกถอนที่ดินแปลงไหน มันต้องพูดกันเป็นแปลงๆ และที่ผ่านมาหน่วยงานอื่นที่ลงไปตรวจสอบก็ไม่เคยแจ้งหรือระบุมาเลยว่าพื้นที่แปลงไหนที่มีปัญหา ผมก็ไม่รู้ว่าเขาไปขุดกระดูกในที่แปลงไหน”อภินันท์ ระบุ
อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวอีกว่า การออกโฉนดที่ดินมีคณะกรรมการจากหลายหน่วยงานร่วมพิจารณา ดังนั้นจะมากล่าวโทษกรมที่ดินเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ และกรณีของบริษัท บารอนฯ มีข้อพิพาทกันใน 3 แปลง จึงควรแก้ปัญหาให้จบก่อนจะมาพูดเรื่องที่ดินแปลงอื่น เพราะจะกลายเป็นการเบี่ยงประเด็น
"ในส่วนของพื้นที่ 3 แปลงนี้ พนักงานที่ดินก็จะไปดูแลกระบวนการออกเอกสารสิทธิ แต่การตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย เพียงแต่ไปเกี่ยวข้องกับสถานที่ประกอบพิธีกรรมของชาวเล ซึ่งก็ต้องพิจารณากันต่อไป ยืนยันว่ากรมที่ดินเป็นหน่วยงานของภาครัฐ เมื่อเกิดความขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่าย กรมที่ดินจึงต้องเป็นกลาง" อธิบดีกรมที่ดินระบุ
อธิบดีรายนี้ย้ำว่า การออกโฉนดและการเพิกถอนโฉนดมีกระบวนการทางกฎหมายอยู่แล้ว จึงไม่ควรไปรีบสรุปว่ามีการออกเอกสารโดยชอบหรือมิชอบได้อย่างไร โดยเฉพาะหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่มีหน้าที่ไปบอกว่าออกโดยชอบหรือมิชอบได้อย่างไร เมื่อพูดไปก็อาจทำให้ผู้ครอบครองเอกสารสิทธิถูกต้องเดือดร้อน และกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน
ข้อมูลข้างต้นจากอธิบดีกรมที่ดิน “สวนทางโดยสิ้นเชิง” กับมติของที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมี พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธาน และได้ข้อสรุปว่า จะเสนอให้กรมที่ดินพิจารณาเพิกถอนเอกสารสิทธิ 19 ไร่ ตามหลักฐานของดีเอสไอ
นั่นเพราะขณะนั้นผู้แทนกรมที่ดินให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า ได้ส่งเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของอธิบดีกรมที่ดินแล้ว ซึ่งเป็นอำนาจเต็มของอธิบดีในการพิจารณา
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด จำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผวจ.ภูเก็ต ได้สั่งการให้ ประเจียด อักษรธรรมกุล รอง ผวจ.ภูเก็ต ลงพื้นที่พิพาทเพื่อรังวัดที่ดินใหม่ทั้งหมด
คาดว่าภายใน 7 วัน จะได้ข้อสรุป ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 11 ก.พ. นี้