ชาวแม่สอดเตรียมฎีกาคดีแคดเมียมปนเปื้อนห้วย ทนายชี้ผลคดีถดถอย (13 ก.ค. 59)
ประชาไท 13 กรกฎาคม 2559
ชาวแม่สอดเตรียมฎีกาคดีแคดเมียมปนเปื้อนห้วย ทนายชี้ผลคดีถดถอย
ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรร์คดี 2 บริษัทเหมืองสังกะสีทำลำห้วยปนเปื้อนสารแคดเมียม กระทบชาวบ้านนับพัน ชาวบ้านแบ่งฟ้องคดีหลายกลุ่ม กลุ่มที่ 2 ไม่พอใจผลการตัดสินศาลอุทธรณ์ เหตุถอยหลังกว่ากลุ่มที่ 1 ทั้งที่เป็นเหตุในพื้นที่เดียวกัน เตรียมฎีกาต่อ
เมื่อ 12 ก.ค.2559 เวลา 9.00 น. ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ 9/2553 หมายเลขแดงที่ 367/2557 ที่บุญมา เปียงเถิง กับพวกรวม 84 คน เป็นโจทก์ฟ้อง บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) บริษัท ตากไมนิ่ง จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ตามลำดับ จากกรณีมีการปนเปื้อนสารแคดเมียมในลำห้วยแม่ตาว แม่กุ และในพื้นที่เกษตรกรรมในตำบลพระธาตุผาแดง ตำบลแม่ตาว ตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
การฟ้องร้องคดีเริ่มต้นเมื่อปี 2552 โดยคณะสภาทนายความ นำโดยสมชาย อามีน ประธานคณะทำงานแนวทางการดำเนินคดีของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนของสารแคดเมียม ได้ดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านฟ้องคดีต่อศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อม เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากผลกระทบจากเหมืองสังกะสี 2 แห่งคือ บริษัทผาแดงอินดัสทรีและบริษัทตากไมนิ่ง ซึ่งทนายความได้แบ่งกลุ่มชาวบ้านออกเป็น 5 กลุ่ม โดยแบ่งตามตำบล ปัจจุบันศาลชั้นต้นพิพากษาไปแล้ว 4 กลุ่ม และชาวบ้านทั้ง 4 กลุ่มยื่นอุทรณ์ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ แผนกคดีสิ่งแวดล้อม และเมื่อต้นปี 2559 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มีคำพิพากษาศาลอุทรณ์ของชาวบ้านกลุ่มที่ 1 ไปแล้วโดยคำพิพากษาดังกล่าวให้ค่าชดเชยแก่กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นและมีกองทุนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จากที่แต่เดิมศาลชั้นต้นระบุเพียงให้บริษัทชดเชยค่าเสียหายแก่ชาวบ้านที่มีสารปนเปื้อนแคดเมียมในปัสสาวะเท่านั้น
สมชาย กล่าวว่า การมาฟังคำพิพากษาศาลอุทรณ์ของชาวบ้านในวันนี้ (12 ก.ค.)คือ คดีในกลุ่มที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เพียงเล็กน้อย โดยยึดตามคำพิพากษาจากศาลชั้นต้นที่ให้ชดเชยค่าเสียหายให้กับโจทก์ที่มีสารแคดเมียมปนเปื้อนในปัสสาวะเท่านั้น และศาลอุทรณ์เพียงให้เพิ่มจำนวนเงินชดเชยเรื่องสุขภาพของโจทก์ 2 ราย รายละ 12,000 บาท
ทนายระบุว่า ศาลอุทรณ์พิพากษาคดีชาวบ้านกลุ่มที่ 2 แตกต่างจากคดีชาวบ้านกลุ่มที่ 1 ที่ฟ้องร้องด้วยสาเหตุเดียวกัน ในกลุ่มที่ 1 คำพิพากษาศาลอุทรณ์พิพากษาว่า 1) ให้จำเลยที่ 1และ2 ชดเชยค่าเสื่อมสุขภาพของโจทก์ที่มีแคดเมียมปนเปื้อนในปัสสาวะเพิ่มขึ้น 2) โจทก์ที่ไม่มีตรวจพบสารแคดเมียมในปัสสาวะศาลให้จำเลยที่1และ2 ชดเชยเรื่องการถูกละเมิดสิทธิและการทำให้เกิดความหวาดวิตก 3) ที่ดินของโจทก์ที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ศาลสั่งให้จำเลยที่ 1และ2 ชดเชยค่าเสียหาย 4) จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินจำนวน 50 ล้านบาท เข้ากองทุนให้กับชาวบ้านผู้ฟ้องคดีใช้ในการเยียวยาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดนี้คำพิพากษาศาลอุทรณ์เพิ่มเติมจากคำพิพากษาศาลชั้นต้น
“มองว่าคำพิพากษาของศาลอุทรณ์ในคดีชาวบ้านกลุ่มที่ 2 ค่อนข้างแตกต่างจากคำพิพากษาศาลอุทรณ์ของชาวบ้านกลุ่มที่ 1 โดยสิ้นเชิงทั้งที่มีมูลคดีหรือเหตุเดียวกันแต่คำพิพากษากลับออกมาต่างกัน ชาวบ้านกลุ่มที่ 2 ที่เป็นโจทก์ในคดีค่อนข้างผิดหวังต่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และจะมีฎีกาคดีต่อไป” สมชาย กล่าว
คดีนี้เกิดขึ้นสืบเนื่องจากเมื่อปี 2546 สถาบันการจัดการน้ำนานาชาติ (International Water Management Institute : IWMI) ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ได้เผยแพร่งานศึกษาวิจัยที่มีผลการปนเปื้อนของสารแคดเมี่ยมในข้าวสูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาวและแม่กุ พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขต ต.พระธาตุผาแดง ต.แม่ตาว และ อ.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งสร้างผลกระทบแก่ชาวบ้านด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม มีการคาดว่าการปนเปื้อนดังกล่าวเป็นผลมาจากการทำเหมืองสังกะสี คือ เหมืองของบริษัทผาแดง อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) และเหมืองของบริษัทตากไมนิ่ง จำกัด
ปัญหาการปนเปื้อนแคดเมียมนี้นำมาสู่การตั้งคณะกรรมการทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่นหลายคณะทำงาน โดยมีมาตรการแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องส่งเสริมการปลูกพืชทดแทน เลี้ยงสัตว์ และจ่ายค่าชดเชยให้เกษตรกรเป็นเวลา 3 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 – 2549) แต่มาตรการดังกล่าวก็ไม่ได้เหมาะสมกับความเสียหายที่ชาวบ้านได้รับ
เมื่อ 9 ส.ค. 2552 คณะสภาทนายความจากกรุงเทพฯ นำโดยสมชาย อามีน ประธานคณะทำงานแนวทางการดำเนินคดีของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนของ สารแคดเมียม พร้อมด้วยคณะได้ลงไปพบปะชาวบ้านกว่า 1,000 คน ที่ได้รับผลกระทบจากสารปนเปื้อนแคดเมียมในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว ที่วัดเกษแก้วบูรพา ต.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก ทั้งนี้เป็นไปตามโครงการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาสังคมทุกภาคส่วนโดยใช้กระบวนการทางกฎหมายสิ่งแวดล้อม เรื่องแนวทางการดำเนินคดีของของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนของสารแคดเมียม โดยการหารือครั้งนี้ได้มีการชี้แจงถึงความคืบหน้าของคดี และทำความเข้าใจต่อกระบวนการฟ้องร้อง ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มๆ ออกเป็น 5 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มยึดตำบลเป็นหลัก ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจึงมีการฟ้องร้องบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ที่ 1 และ บริษัท ตากไมนิ่ง จำกัด ที่ 2 ในฐานละเมิดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 และมีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 เป็นต้นเหตุให้เกิดการปนเปื้อนของสารแคดเมียมในพื้นที่รวมถึงเรียกร้องให้ชดเชยเยียวยาความเสียหายแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นได้พิพากษาแล้ว 4 กลุ่ม โดยคำพิพากษานั้นมีลักษณะเป็นแนวทางเดียวกันทั้งหมด คือ
1) เชื่อจำเลยที่1 และจำเลยที่2 มีการทำละเมิดต่อโจทก์ คือมีการปล่อยสารแคดเมียมลงลำน้ำและสร้างผลกระทบจริง และต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวบ้าน โดยให้บริษัททั้งสอง จ่ายเงินชดเชยให้แก่โจทก์เพียง 20 คน ในประเด็นผลกระทบทางสุขภาพ จากผู้ฟ้องคดีทั้งสิ้น 84 คน โดยให้จำเลยชำระเงินบริษัทละ 124,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,480,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
2) เรื่องชดเชยค่าเสียหาย ศาลให้เฉพาะโจทก์ที่มีผลตรวจที่มีสารแคดเมียมในปัสสาวะ โจทก์ที่ไม่มีผลการตรวจปัสสาวะ และโจทก์ที่อ้างเหตุผลว่าได้ผลกระทบเสียหายต่อที่ดินทำการเกษตรศาลถือว่าไม่เสียหาย จึงไม่มีการชดเชย