บุกญี่ปุ่นดูงานเศรษฐกิจสีเขียว ยลต้นแบบจัดการขยะให้อยู่หมัด (ตอน1) (13 ก.ค. 59)

ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 13 กรกฎ่าคม 2559
บุกญี่ปุ่นดูงานเศรษฐกิจสีเขียว ยลต้นแบบจัดการขยะให้อยู่หมัด (ตอน1)


บุกญี่ปุ่นดูงานเศรษฐกิจสีเขียว ยลต้นแบบจัดการขยะให้อยู่หมัด (ตอน1

ระหว่างวันที่ 26 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2559 “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสติดตามคณะของกรมส่งเสริมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ นำโดยรองอธิบดี ศันสนีย สหัสสะรังสี พาตัวแทนนักวิจัยและผู้ประกอบการสตาร์ทอัพของไทย ไปศึกษาดูงานด้านเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Technology ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยครั้งนี้โฟกัสไปที่การบริหารจัดการขยะและเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน เมื่อสอบถามสมาชิกผู้ร่วมคณะเดินทางว่าประทับใจอะไรเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นมากที่สุดเมื่อได้มาเยือนเป็นครั้งแรก หลายเสียงที่ได้รับกลับมาเป็นคำตอบที่เหมือนๆกันโดยไม่ได้นัดหมาย นั่นคือ “ความสะอาดและระเบียบวินัย” นี่อาจจะเป็นคำตอบเช่นกันว่า ถ้าพูดถึงการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ทำไมจึงต้องมาศึกษาแบบอย่างกันที่ประเทศญี่ปุ่น


Green Technology

อาจจะกล่าวได้ว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีแบบแผนการบริหารจัดการขยะที่ครบวงจรมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก เริ่มต้นตั้งแต่การปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องการคัดแยกขยะกันในระดับครอบครัว ตอกย้ำต่อเนื่องในสถาบันการศึกษา และเมื่อพูดถึงความรับผิดชอบเรื่องขยะในระดับชุมชนและสังคมภาพใหญ่ ก็ยังมีประมวลกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมและกำจัดขยะอีกหลายมาตราเข้ามาเกี่ยวข้อง การคัดแยก จัดเก็บ กำจัด รวมถึงการแปรรูปขยะเป็นพลังงานหรือผลพลอยได้อื่นๆที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ จึงกลายเป็นเรื่องที่ลดความซับซ้อนยุ่งยากลงไปได้มาก นโยบายส่งเสริมจากภาครัฐผนวกกับความร่วมมือทั้งจากองค์กรธุรกิจและประชาชน ทำให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นประเทศชั้นแนวหน้าด้านการคิดค้น พัฒนา และส่งออกเทคโนโลยีเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะไม่แพ้ประเทศอุตสาหกรรมอื่นใดในโลกตะวันตก

รัฐจับมือเอกชนผันขยะเป็นทองคำ

กระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นคือหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการของเสีย ก่อตั้งในปี 2514 แต่ได้รับการยกสถานะเป็นกระทรวงในปี 2544 ด้วยความที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศอุตสาหกรรมและผ่านบทเรียนเจ็บปวดเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนมาในอดีต ทำให้กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะในสมัยแรกๆราวช่วงทศวรรษ 1950 เน้นไปที่การรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสียไปให้กลับคืนมาสู่สภาพที่ดี แต่ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1990 เมื่อภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวควบคู่ไปกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และของเสียรวมถึงขยะจากอุตสาหกรรมมีปริมาณมากขึ้น จึงมีกฎหมายเกี่ยวกับการรีไซเคิลและการกำจัดขยะอย่างมีความรับผิดชอบร่วมต่อสังคมของภาคธุรกิจเอกชน ออกมาบังคับใช้ เช่น กฎหมายว่าด้วยการรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านปี 1998 กฎหมายว่าด้วยการคัดแยกขยะและการกำจัดขยะครัวเรือนฉบับปรับปรุงใหม่ปี 1997 และกฎหมายส่งเสริมการพัฒนาสถานรองรับและกำจัดขยะอุตสาหกรรมปี 1992 เป็นต้น


Green Technology

ปัจจุบันกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะของญี่ปุ่น เน้นไปที่การส่งเสริมนวัตกรรมด้านวัสดุที่มาจากกระบวนการกำจัดและรีไซเคิลขยะ การเพิ่มความเข้มงวดในการกำจัดขยะอุตสาหกรรม และป้องกันการทิ้งขยะอย่างผิดกฎหมาย เช่น มีการออกกฎหมายส่งเสริมการสถานรีไซเคิลวัสดุและขยะประเภทอาหารในปี 2000 และกฎหมายรีไซเคิลยานยนต์หมดอายุใช้งานในปี 2002 แน่นอนว่ากฎหมายต่างๆที่ออกมานั้น นอกจากจะมีการตั้งโทษปรับหนักสำหรับผู้ที่ละเมิดกฎหมาย แต่ขณะเดียวกันก็ให้การส่งเสริมผู้ที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการสร้างสรรค์สังคมที่ “ทิ้งขยะอย่างมีความรับผิดชอบ กำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ และรีไซเคิลขยะอย่างได้ประโยชน์สูงสุด” จนทำให้ขยะมีคุณค่าไม่ต่างจากทองคำเลยทีเดียว

พัฒนาการของสังคมญี่ปุ่นที่มีการคัดแยกและกำจัดขยะอย่างเป็นระบบก่อให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเส้นทางของขยะออกมามากมาย ทำให้กลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ซึ่งรวมถึงธุรกิจรับเก็บขยะจากร้านค้าปลีกเพื่อนำมาส่งโรงงานรีไซเคิลขยะ ธุรกิจประเมินและเก็บข้อมูลการทิ้งและรีไซเคิลขยะของผู้ประกอบการในธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร(เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายควบคุมการทิ้งและรีไซเคิลขยะ) ธุรกิจกำจัดสารเคมีและขยะพิษจากอุตสาหกรรม ธุรกิจผลิตก๊าซชีวมวล กระแสไฟฟ้า และปุ๋ยอินทรีย์จากขยะ เป็นต้น

“ทั้งตัวบทกฎหมาย ความร่วมมือจากผู้ประกอบการ และนวัตกรรมสมัยใหม่ที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ขยะอุตสาหกรรมมีแนวโน้มลดลงในประเทศญี่ปุ่น ขณะที่หลายประเทศอุตสาหกรรมยังคงมีขยะประเภทนี้เพิ่มขึ้น” นายยาสุฮิโระ ชิมาดะ ตัวแทนจากบริษัท อิชิกาวะ คังเคียว เอ็นจิเนียริ่ง (ไอเคอี) ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีกำจัดและรีไซเคิลขยะชั้นแนวหน้าของญี่ปุ่น กล่าวขณะต้อนรับคณะเยี่ยมชมโรงงานกำจัดและรีไซเคิลขยะ “ไบโออีเนอร์จี” (BIOENERGY) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ โรงงานแห่งนี้กำจัดและรีไซเคิลขยะประเภทอาหาร ตั้งอยู่ในเขตโอตะของกรุงโตเกียว ผลพลอยได้มูลค่ามหาศาลของกระบวนการรีไซเคิลขยะของที่นี่ คือ ก๊าซชีวมวล และกระแสไฟฟ้า ที่ทางโรงงานสามารถจำหน่ายสร้างรายได้ผ่านโครงข่ายบริษัทผู้ให้บริการด้านพลังงาน ขณะเดียวกันก็ยังทำรายได้หลักจากการให้บริการกำจัดขยะจากผู้ประกอบการอีกด้วย

ญี่ปุ่นมีกฎหมายว่าด้วยการรีไซเคิลขยะประเภทอาหาร (ปี 2012) มีการกำหนดสัดส่วนเอาไว้ชัดเจนว่าธุรกิจประเภทไหนต้องส่งขยะไปรีไซเคิลมากน้อยเพียงใด เช่นกฎหมายใหม่กำหนดให้ธุรกิจค้าปลีกอาหารส่งขยะไปรีไซเคิลในสัดส่วน 55% ธุรกิจบริการด้านอาหาร (เช่น ร้านอาหารประเภทต่างๆ) 50 %” เป็นต้น” นายเซอิจิ ทสึดะ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของไบโอ อิเนอร์จี คอร์ปอเรชั่น ให้คำอธิบาย ทางโรงงานจะเป็นผู้จัดทำรายงานการส่งขยะมารีไซเคิล


Green Technology

 

ให้ทางผู้ประกอบการเก็บไว้ยื่นเป็นหลักฐาน วิธีการนี้ไม่เพียงจูงใจให้ผู้ประกอบการธุรกิจด้านอาหารหันมาเข้าร่วมกระบวนการรีไซเคิลมากขึ้น แต่ยังทำให้ทางโรงงานของผู้กำจัดขยะอย่างไบโออีเนอร์จี มีปริมาณขยะจำนวนมากเพียงพอมาเข้าโรงงานอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนั่นหมายถึงปริมาณก๊าซชีวมวลและกระแสไฟฟ้าที่โรงงานจะสามารถผลิตได้มากตามไปด้วย

ปัจจุบัน ถังหมักขยะประเภทอาหารของไบโออีเนอร์จีเป็นถังหมักซึ่งให้ผลพลอยได้เป็นก๊าซมีเทน ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น (ความจุ 2 พันลูกบาศก์เมตรจำนวน 2 ถัง) ก๊าซส่วนหนึ่งนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า (1.12 เมกะวัตต์) ซึ่งสามารถผลิตป้อนให้กับบริษัทโตเกียว อิเล็กทริค พาวเวอร์หรือ เทปโก้ ผู้ให้บริการด้านกระแสไฟฟ้าในเขตกรุงโตเกียว ได้ในอัตรา 2.4 หมื่นหน่วย/วัน และส่วนหนึ่งนำไปเข้ากระบวนการเพื่อเพิ่มคุณสมบัติให้เหมาะสมกับการนำไปใช้งานและส่งเข้าสู่ระบบท่อส่งก๊าซแรงดันต่ำในเขตเมือง (city gas) เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทั้งในครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม โดยทางโรงงานส่งจำหน่ายให้กับบริษัท โตเกียว ก๊าซ ในปริมาณ 2,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งเพียงพอสำหรับความต้องการใช้ของ 2,000 ครัวเรือน

โรงงานแห่งนี้รับขยะจากลูกค้าราว 500 รายมากำจัดและรีไซเคิล แต่ละวันมีขยะมาเข้าสู่กระบวนการราว 110ตัน ผู้บริหารโรงงานยํ้าเป้าหมายหลักคือการกำจัดขยะและสร้างสรรค์ให้กรุงโตเกียวเป็นนครที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสร้างมลภาวะทางอากาศน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ (low carbon society) เป้าหมายต่อไปคือการกำจัดกากและเถ้าจากการเผาขยะให้ได้เบ็ดเสร็จภายในโรงงาน ไม่ต้องส่งไปกำจัดที่อื่น ฉบับต่อไปเราจะติดตามไปดูว่า เถ้าจากการเผาขยะนั้นยังถูกนำไปใช้ประโยชน์หรือสร้างมูลค่าเป็นเงินเป็นทองได้อย่างไร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,173 วันที่ 10 – 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559