"ไม่มีปนเปื้อน!" - พนง.อัคราฯ ร้องสธ.-อบต.พิจิตร เร่งพิสูจน์สารโลหะหนัก แจงให้ปชช.คลายกังวล (12 ก.ค. 59)

มติชนออนไลน์ 12 กรกฎาคม 2559
ไม่มีปนเปื้อน! พนง.อัคราฯร้องสธ.-อบต.พิจิตร เร่งพิสูจน์สารโลหะหนัก แจงให้ปชช.คลายกังวล

วันที่ 12 กรกฎาคม เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานสาธารณสุข จ.พิจิตร นายศุภนิตย์ ศุภนันทิ ตัวแทนเครือข่ายพนักงาน บมจ.อัครา รีซอร์สเซส และบริษัท โลตัสออล วิศวกรรมเหมืองแร่และก่อสร้าง จำกัด กว่า 30 คน เดินหน้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้สำนักสาธารณสุข จังหวัดพิจิตร และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ผู้มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลประชาชนในพื้นที่ เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี หลังเคยเดินทางไปยื่นหนังสือที่กระทรวงสาธารณสุขเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

รายงานระบุว่า ข้อมูลที่เรียกร้องให้เผยแพร่หลายชุดนั้นเป็นข้อมูลการตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุขเอง พร้อมวิงวอนให้สื่อมวลชนช่วยเป็นสื่อกลางในการกระจายข้อเท็จจริงและข้อมูลที่ถูกต้องให้ประชาชนในพื้นที่โดยรอบเหมืองฯ ตลอดจนประชาชนและสังคมโดยทั่วไปมีความรู้ ความเข้าใจมากขึ้น ช่วยคลายความวิตกกังวลในการใช้ชีวิตประจำวันอันเกิดมาจากข้อมูลเท็จ และข่าวลือจากกลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดี

นายมานพ ชมภู รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร (ด้านบริหาร) และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เป็นตัวแทนรับมอบจดหมาย ได้กล่าวกับพนักงาน บมจ.อัครา รีซอร์สเซส และบริษัท โลตัสออล วิศวกรรมเหมืองแร่และก่อสร้าง จำกัด ว่ารับทราบความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นของประชาชนในพื้นที่ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านสาธารณสุขในจังหวัด จะรีบนำจดหมายดังกล่าวส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้มีอำนาจเร่งพิจารณาเพื่อดำเนินการตามสมควรต่อไป

ด้านนายศุภนิตย์ ศุภนันทิ ตัวแทนเครือข่ายฯ เล่าว่า หลังจากได้เดินทางไปยื่นจดหมายถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา ในวันนี้จึงได้เดินทางมายื่นจดหมายให้แก่สำนักสาธารณสุข จ.พิจิตร และองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก (อบต.) อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีหน้าที่ในการดูแลประชาชนในพื้นที่โดยตรงด้วย เพื่อให้ช่วยเร่งให้ความรู้ ความเข้าใจ ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมตามหลักวิชาการและเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นข้อมูลจากหน่วยงานราชการเองมาเผยแพร่แก่ประชาชนให้ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง เนื่องจากมีบุคคลภายนอกพื้นที่บางกลุ่มพยายามโฆษณาถึงพิษภัยจากสิ่งแวดล้อมและพืชผักในพื้นที่ ซึ่งไม่เป็นความจริงทำให้เกิดความวิตกกังวล หรือหวาดกลัวเกินเหตุ ส่งผลกระทบทั้งต่อการค้าขายพืชผักในพื้นที่ด้วย

นายศุภนิตย์ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขได้มีการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างคุณภาพน้ำประปา ปริมาณสารต่างๆ ในพืชผัก ดิน ฝุ่น อย่างต่อเนื่อง โดยผลการตรวจสอบกลับไม่พบการปนเปื้อนของสารหนูและโลหะมีพิษในน้ำประปา และพืชผักแต่อย่างใด ยกเว้นเหล็กและแมงกานีส ซึ่งสามารถพบได้ทั่วไปในหลายพื้นที่ของประเทศ แต่กลับไม่มีการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในชุมชน และประชาชนทั่วไปได้รับทราบทั่วกัน

“กระทรวงสาธารณสุขและ อบต. เป็นที่พึ่งของชาวบ้าน อยากให้นำข้อมูลเกี่ยวกับสารโลหะหนักในร่างกายที่ถูกต้องมาเผยแพร่ให้ได้ทราบโดยทั่วกัน เช่น การได้รับสารโลหะหนักดังกล่าวในปริมาณใด ถึงจะถือว่าเป็นผู้ป่วย และการตรวจเพียงครั้งเดียวแล้วพบว่ามีค่าโลหะหนักบางตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นผู้ป่วย ต้องอาศัยข้อมูลการตรวจซ้ำเพื่อเปรียบเทียบ ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง หรือแนวโน้มการได้รับสารนั้นๆ ตามห้วงเวลามาประเมินร่วมด้วย” นายศุภนิตย์กล่าว