จีนยุคใหม่รับมืออย่างไรกับโลกร้อน (9 ก.ค. 59)

โพสต์ทูเดย์ 9 กรกฎาคม 2559
จีนยุคใหม่รับมืออย่างไรกับโลกร้อน


โดย...ทีมงานโลก 360 keb_toke@plat360.com

หากนึกถึงการไปเที่ยวประเทศจีน เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง กำแพงเมืองจีนจัตุรัสเทียนอันเหมิน หรือไม่ก็พระราชวังต้องห้ามเป็นอันดับแรกๆ แต่ก็ต้องบอกคุณผู้อ่านว่า ทั้งหมดนั้นยังไม่ใช่ จีนในแบบ 360 องศา เพราะหลังจากที่จีนเปิดประเทศและมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ดังนั้นวันนี้ทีมงานโลก 360 องศา จึงขอพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับจีนที่ยิ่งใหญ่ในปี 2016 ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
 
เราเริ่มต้นการเดินทางโดยมาที่ย่าน CBD (Central Business District) หรือที่ชาวจีน เรียกกันว่า กั๋วเม่า (Guomao) ศูนย์กลางด้านธุรกิจการค้าและการเงินที่ใหญ่ที่สุดของกรุงปักกิ่ง ในอดีตพื้นที่นี้เคยเป็นย่านโรงงานอุตสาหกรรมที่มีชื่อว่า “เฉาหยาง” แต่หลังจากที่จีนเปิดประเทศ และเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น โรงงานที่เคยตั้งอยู่ก็ต้องถูกโยกย้ายออกไปยังเขตชานเมือง เพื่อลดปัญหาด้านมลพิษ ซึ่งทำให้ที่นี่กลายเป็นย่านธุรกิจใจกลางเมืองที่สำคัญ รวมถึงเป็นที่ตั้งสำนักงานของบริษัทยักษ์ใหญ่และบริษัทข้ามชาติชื่อดังมากกว่า 500 บริษัท


สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ CCTV ได้รับการยกย่องให้เป็น1 ใน 10 สถาปัตยกรรมยอดเยี่ยมของโลก จากนิตยสารไทม์ในปี ค.ศ. 2008

ผลจากการเติบโตของเศรษฐกิจในหลายช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนดีขึ้นมาก ผู้คนมีรายได้มากขึ้น ทำให้จำนวนประชากรชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้นเเต่สิ่งที่เกิดควบคู่กันไปด้วยก็คือค่าครองชีพก็สูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ค่าแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงค่าเช่าที่ดินเพิ่มขึ้น มากไปกว่านั้นต้นทุนทางด้านพลังงานก็ยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานไฟฟ้า อันเนื่องมาจากการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตให้ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งในยุคนั้นจีนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ   
 
ไม่เพียงแต่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย การทำการตลาดของสินค้าในประเทศจีนทุกวันนี้ก็ต้องปรับตัวอย่างมาก เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันไปซื้อสินค้าทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น เพราะกระแสการซื้อสินค้าออนไลน์กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก  โดยพบว่าในปัจจุบันผู้ซื้อสินค้าออนไลน์มีจำนวนมากถึง 360 ล้านคน จากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วประเทศกว่า 688 ล้านคน ซึ่งก็ทำให้จีนกลายเป็นตลาดค้าปลีกออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีมูลค่าการค้าปลีกบนอินเทอร์เน็ตสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งนั่นทำให้ร้านค้าปลีกย่อยหลายๆ แห่งได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ย่านซีตาน ย่านช็อปปิ้งที่มีชื่อเสียงใจกลางกรุงปักกิ่ง แหล่งรวมร้านค้าเสื้อผ้าแฟชั่น ที่ในปัจจุบันมีหลายร้านทยอยปิดตัวลง หรือต้องเพิ่มโปรโมชั่นแบบทุ่มสุดตัว เพราะยอดจำหน่ายลดลง อันเนื่องมาจากผู้คนหันไปซื้อสินค้าออนไลน์กันมากขึ้น   
 
หากใครได้ติดตามข่าวสารคงทราบดีว่า หลายเมืองใหญ่ในประเทศจีนกำลังเผชิญกับปัญหามลภาวะทางอากาศมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงปักกิ่ง ที่ประสบปัญหาหมอกควันพิษในระดับอันตรายขั้นสูงสุด เพราะมีค่าฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน สูงเกิน 500 ไมโครกรัม/อากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าค่าสูงสุดที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ถึง 22 เท่า


สวนสาธารณะเฉาหยางพื้นที่สีเขียวที่ใหญ่ที่สุดในกรุงปักกิ่ง

แท้จริงแล้วปัญหาเรื่องมลพิษและสิ่งแวดล้อมในหลายๆ เมืองของจีน มีสาเหตุมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจ และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมือง ซึ่งผลกระทบจากปัญหาหมอกควันพิษที่รุนแรงนี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้การใช้ชีวิตของผู้คนยากลำบากมากขึ้น แต่ยังทำให้สุขภาพของผู้คนที่นี่แย่ลงไปด้วย มากไปกว่านั้นหมอกควันพิษเหล่านี้ยังเป็นสาเหตุให้ชาวจีนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 1.2 ล้านคน
 
รัฐบาลจึงออกมาตรการแก้ไขปัญหาที่เรียกว่า “คืนอากาศสะอาดให้กรุงปักกิ่ง” โดยเน้นให้ความสำคัญในสามเรื่อง นั่นก็คือ การลดมลภาวะทั้งในเมืองและในเขตชนบท การกำจัดยานพาหนะที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง และการรณรงค์ใช้พลังงานจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด นอกจากนั้นก็ยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการส่งเสริมพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยลดปัญหาหมอกควันพิษในกรุงปักกิ่งอีกด้วย
 
เราเดินทางกันไปที่สวนสาธารณะเฉาหยาง(Chaoyang Park) สวนสาธารณะใหญ่ที่สุดในกรุงปักกิ่ง สวนแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1984 โดยมีพื้นที่ประมาณ 3 ล้านตารางเมตรซึ่งสาเหตุที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ก็เป็นเพราะว่าขนาดของพื้นที่สีเขียวในกรุงปักกิ่งจะถูกกำหนดให้สอดคล้องกับจำนวนผู้อยู่อาศัยนั่นเอง
 
และเมื่อเดินทางออกจากกรุงปักกิ่งมาสักประมาณ 100 กิโลเมตร เราก็จะมาพบกับสถานที่พักผ่อนยอดนิยมของชาวเมืองปักกิ่ง นั่นก็คือ อ่างเก็บน้ำก่วงทิง (GuantingReservoir)


ฟาร์มกังหันลมผลิตไฟฟ้าแห่งแรกของกรุงปักกิ่ง

เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงม้า เราจึงเห็นว่ามีฟาร์มม้าโดยรอบอยู่มากมาย ซึ่งในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นักท่องเที่ยวก็จะนิยมมาขี่ม้า หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งร่วมกัน อย่างเช่น การแข่งขันขี่ม้าและการประกวดม้ากันอีกด้วย
 
มากไปกว่านั้นอ่างเก็บน้ำก่วงทิงแห่งนี้ ยังเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณลมเหมาะสมสำหรับการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลม ที่นี่จึงเป็นฟาร์มกังหันลมผลิตไฟฟ้าแห่งแรกของกรุงปักกิ่ง ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 33 ต้น เริ่มใช้งานครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2008 โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 50 เมกะวัตต์
อันที่จริงแล้วพลังงานไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานน้ำ พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ เหล่านี้เป็นเพียงแหล่งพลังงานเสริมเท่านั้น เนื่องจากกำลังการผลิตที่น้อยและมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยสูงดังนั้นการผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ในประเทศจีนจึงยังคงต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงที่มาจากถ่านหินและนิวเคลียร์เป็นหลัก ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ความก้าวล้ำทางด้านเทคโนโลยีของจีนในปัจจุบัน สามารถที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ ให้มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยความร่วมมือจากต่างประเทศ และทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่เพื่อสร้างเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง
 
แต่อย่างไรก็ตามจีนก็กำลังพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า การจัดการเรื่องพลังงานให้มีเสถียรภาพและมีความมั่นคง รวมถึงการลดภาวะโลกร้อนเป็นสิ่งที่สามารถทำควบคู่กันไปได้ โดยแสดงให้โลกเห็นว่า วิธีการลดโลกร้อนแบบจีนไม่ได้หมายถึงการหยุดใช้เชื้อเพลิง อย่างถ่านหินและพลังงานนิวเคลียร์เพื่อมาผลิตไฟฟ้า แต่การเลือกใช้เทคโนโลยีก้าวล้ำและมีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดมลพิษ ควบคู่ไปกับการพึ่งพาแหล่งพลังงานในการผลิตไฟฟ้าที่หลากหลาย จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจยังคงเดินหน้าได้ โดยไม่สะดุดกับปัญหาเรื่องไฟฟ้าขาดแคลน เรื่องต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้น และเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ถูกกดดันจากนานาชาติ ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังประชาชนอีกกว่า 1,300 ล้านคน
 
เป็นอย่างไรกันบ้างกับภาพของจีนในยุค2016 ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหลายมิติเลยทีเดียว คงไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นประเทศมหาอำนาจของโลก หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่นี่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องการลดโลกร้อนเป็นสิ่งที่ทุกประเทศต้องแก้ไขปัญหาร่วมกัน และวิธีการแก้ไขก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละประเทศ ซึ่งถือได้ว่าเป็นกรณีศึกษาให้กับประเทศไทยอย่างดี อย่าลืมติดตามรายการโลก 360 องศา ทาง ททบ. 5 ทุกวันเสาร์ เวลา 21.20 น.