หวั่น TPPกระทบ "ระบบสุขภาพ" สวนทางผลศึกษาปัญญาภิวัฒน์ (30 ม.ค. 59)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 30 มกราคม 2559
หวั่น TPPกระทบ "ระบบสุขภาพ" สวนทางผลศึกษาปัญญาภิวัฒน์

เอกชนติงผลศึกษาปัญญาภิวัฒน์หนุน TPP ไม่รอบด้าน-หวั่นคุ้มครองข้อมูลยากระทบงบประมาณสาธารณสุขเพิ่มขึ้น-ผู้ป่วย ต้องจ่ายค่ารักษาสูงขึ้น 10 เท่า 

นางสาวศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยข้อสรุปเบื้องต้นของผลศึกษาแนวทางการเจรจาและผลกระทบจากการจัดทำความ ตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดทำโดยสถาบันปัญญาภิวัฒน์และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการ พัฒนาว่า หากไทยเข้าร่วมทีพีพี จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว 0.77% และหากไทยเข้าร่วม TPP และมีสมาชิกอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.06% 

ผลศึกษาระบุผลดี หากเข้าร่วม TPP จะช่วยให้ยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้า ได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบ อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และสิ่งทอ ให้ยังคงอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของโลก และยกระดับความสามารถแข่งขันในภาคการผลิตและบริการ ช่วยเปิดโอกาสการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ส่วนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มข้นจะช่วยสร้างฐานสภาพแวดล้อมก่อ ให้เกิดการแข่งขัน คิดค้นนวัตกรรมใหม่ แต่อีกด้านหนึ่งจะส่งผลกระทบต่องบประมาณในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์สูงขึ้น นอกจากนี้ อาจจะมีผลกระทบจากการแข่งขันที่รุนแรงมาก ในการผลิตสินค้าและบริการ รวมถึงต้องปรับกฎเกณฑ์ภายใน เพื่อรองรับ TPP 

ทั้ง นี้จะเสนอคณะอนุกรรมการศึกษาความพร้อมของไทยต่อการเข้าร่วม TPP ที่มีนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน พิจารณา และเสนอรัฐบาลภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 

เดินสายรับฟังความเห็น

"หลัง จากนี้ กรมเตรียมลงพื้นที่ 6 จังหวัด เช่น ตาก นครศรีธรรมราช อุบลราชธานี จันทบุรี เชียงใหม่ และขอนแก่น เพื่อหารือข้อคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างรอบคอบ ส่วนกระบวนการหารือกับประเทศสมาชิก TPP นั้น เตรียมหารือกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ในวันที่ 5 ก.พ.นี้ และเตรียมนัดหารือเวียดนามในเดือนมีนาคม และในวันที่ 20-22 เมษายน 2559 ซึ่งจะมีการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุน ไทย-สหรัฐ และในเดือนพฤษภาคมจะหารือกับนิวซีแลนด์"

ติงผลศึกษาไม่รอบด้าน

นาย บัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าไทย ตั้งข้อสังเกตว่า ผลการศึกษาครั้งนี้ ควรระบุถึงความเสียหายหากไม่ร่วม TPP เพื่อประกอบการพิจารณาของรัฐบาล และประโยชน์ด้านอื่นของ TPP เช่น ข้อบทเรื่องการยินยอมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศกำลังพัฒนา หรือข้อบทเรื่องจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ซึ่งเป็นประเด็นที่ดี แต่ไม่มีระบุในผลการศึกษา ส่วนที่ชี้ว่าหากร่วม TPP โดยมีประเทศอาเเซียนอื่น เช่น อินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์เข้าร่วมจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ 1.06% มากกว่าไม่มีประเทศอื่นเข้าร่วม ถือเป็นเรื่องที่น่าแปลก ไม่ทราบว่าเป็นผลจากเซ็กเตอร์ใด หรือหากเป็นเพราะการใช้อาเซียนเป็นฐานผลิตในห่วงโซ่อุปทาน มองไม่ออกว่าไทยส่งวัตถุดิบอะไรให้กับอินโดนีเซีย 

นายทัฬห ปึงเจริญกุล ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน เปิดเผยว่า สถาบันปัญญาภิวัฒน์ไม่ได้มาขอรับฟังความเห็นจากสมาคม ทำให้กังวลว่า การเข้า TPP จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตยาไทยไม่สามารถผลิตยาชื่อสามัญได้ เพราะมีการให้ความคุ้มครองข้อมูลยา Data Exclusivity ของยาที่มีสิทธิบัตรซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาจากทางสหรัฐ และสหภาพยุโรป และมีผลให้รัฐบาลต้องจ่ายงบประมาณสาธารณสุขสูงขึ้น แต่หากรัฐบาลเลือกเจรจา TPP เพราะมองประโยชน์ระบบเศรษฐกิจมหภาค แล้วปัญหาระบบสาธารณสุข ซึ่งเป็นเรื่องความมั่นคง จะมีการเยียวยาผลกระทบอย่างไร 

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การเข้าทีพีพีอาจจะกระทบต่อค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยเอดส์ที่จำเป็นต้องพึ่ง พายาสิทธิบัตรต่างชาติในระยะที่ 2-3 อาจจะทำให้ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นเป็น 7,000-20,000 บาทต่อรายต่อเดือน จากระยะพื้นฐานที่มีค่าใช้จ่ายเพียง 690 บาทต่อรายต่อเดือน