ใกล้จบ! ปัญหาชาวบ้านเกวียนหัก ต้าน ล้งจีน จัดประชาคม 12 ก.พ. นี้ (27 ม.ค. 59)
ไทยรัฐออนไลน์ 27 มกราคม 2559
ใกล้จบ! ปัญหาชาวบ้านเกวียนหัก ต้าน ล้งจีน จัดประชาคม 12 ก.พ. นี้
ใกล้สรุป ปัญหาโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูป พื้นที่ ต.เกวียนหัก อ.ขลุง จ.จันทบุรี ของนักธุรกิจจีน ชาวบ้านวิตกเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทุกภาคส่วนผลักดันให้เกิดการประชาคม ชี้แจงทำความเข้าใจ 12 ก.พ. นี้...
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 27 ม.ค. 59 ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลเกวียนหัก อ.ขลุง จ.จันทบุรี นายบัญชา วัฒนวงศ์ นอภ.ขลุง นายพินัย พะยม นายกเทศมนตรีตำบลเกวียนหัก นายศิลป์ชัย ตุลารักษ์ รองประธานกลุ่มเกษตรทำสวน ต.เกวียนหัก กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ต.เกวียนหัก ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าประชุมร่วมกับตัวแทน บริษัทซินตงหยวน ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ เพื่อรับฟังปัญหา และร่วมกันหาทางออก หลังจากเกรงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ต.เกวียนหัก ซึ่งเป็นพื้นที่สีชมพู จึงเกรงจะส่งผลต่อวิถีชีวิตภาคเกษตร และอาชีพที่มีมายาวนาน จนต้องขึ้นป้ายคัดค้านการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่
นายชรินทร์ สิงขุดร กำนัน ต.เกวียนหัก กล่าวว่า ความต้องการของชาวบ้าน ต.เกวียนหัก ผ่านทางผู้นำชุมชนทั้ง 10 หมู่บ้าน ขณะนี้ อยากให้เกิดการทำประชาคม รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านในการพิจารณาเกี่ยวกับโรงงานจำพวกที่ 3 ซึ่งบริษัทซินตงหยวน ได้ยื่นขออนุญาตประกอบกิจการ จากอุตสาหกรรม จ.จันทบุรี ไว้แล้ว โดยขออนุญาตก่อสร้างเป็นล้งรับซื้อผลไม้ เพื่อการส่งออก แต่ต่อมาได้มีการดัดแปลงเป็นโรงงานห้องเย็นแช่แข็ง (จำพวกที่ 2) ซึ่งทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ปิดประกาศว่า โรงงานดังกล่าวตั้งอยู่พื้นที่ ม.4 ต.เกวียนหัก ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตจัดตั้งโรงงานจำพวกที่ 2 และให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแสดงความเห็น ภายในวันที่ 21 ส.ค. 58 ที่ผ่านมา หากพ้นกำหนดจะพิจารณาคำร้องต่อไป
ขณะเดียวกัน ชาวบ้านพร้อมด้วยชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ต.เกวียนหัก ได้ยื่นหนังสือคัดค้าน ขอให้มีการทำประชาคม รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน ต่อมา ได้กำหนดให้มีการทำประชาคมในวันที่ 3 ก.ย. 58 ผลการทำประชาคม ชาวบ้านไม่เห็นชอบ ให้มีโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภท เนื่องจาก ต.เกวียนหัก เป็นพื้นที่เกษตรกรรม และผิดระเบียบผังเมือง แต่ทางโรงงานได้ทำหนังสือคัดค้านว่า การทำประชาคมขัดต่อกฎหมาย
จนกระทั่ง วันที่ 18 ธ.ค. 58 ได้มีประกาศจากสำนักงานอุตสาหกรรม จ.จันทบุรี เรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการพิจารณาเกี่ยวกับโรงงานจำพวกที่ 3 ว่า จะพิจารณาคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการ จากโรงงานดังกล่าว ชาวบ้านจึงได้ยื่นหนังสือคัดค้านต่ออุตสาหกรรมจังหวัด ในวันที่ 28 ธ.ค. 58 และหากพ้นกำหนดภายในวันที่ 4 ม.ค. 59 ทางอุตสาหกรรมฯ จะออกใบอนุญาตให้โรงงานประกอบกิจการ โดยไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ดังนั้น ในวันที่ 4 ม.ค. 59 ทางผู้นำชุมชน ตลอดจนตัวแทนชาวบ้าน จึงได้เข้ายื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรม จ.จันทบุรี พร้อมแนบรายชื่อชาวบ้านที่คัดค้านการตั้งโรงงานฯ ให้ช่วยเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง ในกรณีนี้ โดยศูนย์ดำรงธรรม ได้รับเรื่อง พร้อมกับขอระยะเวลาในการตรวจสอบ 30 วัน
นายชรินทร์ กล่าวอีกว่า ชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวน ได้รวมตัวคัดค้านด้วยเหตุผลที่ชาวเกวียนหักไม่ต้องการให้มีโรงงานใดๆ เกิดขึ้นในพื้นที่ เนื่องจากกลัวปัญหามลพิษจากกลิ่นขยะ ของเน่าเสีย มลพิษทางอากาศจากเปลือกผลไม้ การไม่มีบ่อบำบัดน้ำเสีย เกิดปัญหาการลักขโมยของคนงาน ปัญหาโรคพืชติดต่อ และหนอนใต้ หรือหนอนเจาะทุเรียน ผิดระเบียบกฎหมายผังเมือง มีการประกอบกิจการก่อนขออนุญาต ปรับปรุงต่อเติมโดยไม่ขออนุญาต ตลอดจนไม่มีการรับซื้อผลไม้ในพื้นที่ แต่กลับมีการนำเอาผลผลิตทุเรียนจากภาคใต้ขึ้นมาแปรรูปแทน
"ความต้องการของชาวบ้าน ขณะนี้ อยากให้ทางบริษัท ช่วยชี้แจงสร้างความเข้าใจ พร้อมทำประชาคมรับฟังความคิดเห็นกับชาวบ้านเอง ในการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3" กำนันตำบลเกวียนหัก กล่าว
ด้าน นายบัญชา วัฒนวงศ์ นายอำเภอขลุง กล่าวว่า การรับทราบข้อเท็จจริงในวันนี้ ได้นำไปสู่การหาทางออกร่วมกันของชุมชน ต.เกวียนหัก และตนเองเห็นควรให้มีการทำประชุมประชาคม รับฟังความคิดเห็นเพื่อร่วมกันพิจารณา และกำหนดความต้องการของชุมชน ที่เกิดขึ้นจากชาวบ้านอย่างแท้จริง จึงได้กำหนดให้ทำประชาคม ในการพิจารณาขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ซึ่งทางบริษัท ต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านเอง ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ นี้ ที่วัดเกวียนหัก ในเวลา 09.00 น. โดยจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งโยธาธิการและผังเมือง อุตสาหกรรมจังหวัดท้องถิ่น และอำเภอเข้าร่วม ในวันดังกล่าว
ขณะที่ ตัวแทนและทนายความ บริษัทซินตงหยวน ที่ได้ยื่นขออนุญาตประกอบกิจการ โรงงานจำพวกที่ 3 เปิดเผยว่า ทางโรงงานพร้อมปรับปรุงให้ถูกต้องและเป็นไปตามความต้องการของชุมชน ในฐานะบริษัท ต้องขอโทษชุมชน ที่ทำให้เกิดความผิดพลาด โดยเฉพาะกับชาวบ้าน ซึ่งก็พร้อมที่จะทำประชาคม ร่วมกันพิจารณา ชี้แจง สร้างความเข้าใจกับชาวบ้านตามที่ที่ประชุมได้กำหนด และยืนยันจะทำตามความต้องการของชุมชนในวันประชาคม.