รบ.ไฟเขียวงบกว่า 200 ล้านให้โคราช กำจัดขยะสะสมกว่า 5.4 แสนตัน (27 ม.ค. 59)

มติชนออนไลน์ 27 มกราคม 2559
รบ.ไฟเขียวงบกว่า 200 ล้านให้โคราช กำจัดขยะสะสมกว่า 5.4 แสนตัน

วันที่ 27 มกราคม ที่ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา ถ.สืบศิริ ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา นายสุรพันธ์ ดิสสะมาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะรองประธานคณะกรรมการโครงการจัดการขยะสะสมให้ถูกหลักวิชาการ จ.นครราชสีมา ได้เรียกประชุมคณะกรรมการโครงการจัดการขยะสะสมให้ถูกหลักวิชาการ จ.นครราชสีมา เพื่อหารือและติดตามการดำเนินการการจัดการขยะสะสม ของ จ.นครราชสีมา หลังได้รับงบประมาณในการดำเนินการรวมทั้งสิ้น 212,838,700 บาท จากรัฐบาล โดยมีนายอภิวัฒน์ พลสยม ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโครงการจัดการขยะสะสมให้ถูกหลักวิชาการ จ.นครราชสีมา นำผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารืออย่างพร้อมเพรียง

นายอภิวัฒน์ พลสยม ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโครงการจัดการขยะสะสมให้ถูกหลักวิชาการ จ.นครราชสีมา กล่าวว่า การดำเนินการตามโครงการจัดการขยะสะสมให้ถูกหลักวิชาการ เป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีเจตนารมณ์ที่จะจัดการขยะสะสมในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดต่างๆ โดยวิธีที่ถูกสุขลักษณะและหลักวิชาการ ซึ่ง จ.นครราชสีมา เป็นพื้นที่เป้าหมายดำเนินการตามนโยบาย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.นครราชสีมา กับองค์การบริหารส่วน จ.นครราชสีมา เพื่อดำเนินการจัดการขยะสะสมในพื้นที่ จ.นครราชสีมา โดยขณะนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการ จำนวน 42 แห่ง มีปริมาณขยะสะสมรวม 548,060 ตัน ซึ่งที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้มีการกำหนดขอบเขตรายละเอียดของงาน (TOR) และกำหนดราคากลาง เพื่อนำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. ซึ่งขณะนี้ได้รับการอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาล จำนวน 212,838,700 บาทแล้ว โดยอยู่ในขั้นตอนการเตรียมประกาศหาผู้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งหากดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ก็จะสามารถช่วยให้การจัดการขยะสะสมของ จ.นครราชสีมา ถูกสุขลักษณะอนามัย และลดปริมาณขยะสะสมได้ โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการโครงการดังกล่าวได้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2559 นี้

นายอภิวัฒน์ยังกล่าวต่อว่า สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สมัครเข้าร่วมโครงการ ส่วนใหญ่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในชุมชน ซึ่งมีปริมาณขยะสะสมจำนวนมาก แต่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3 แห่ง ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย เทศบาลนครนครราชสีมา เนื่องจากได้รับงบประมาณในการจัดทำโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ จำนวน 400 ล้านบาทแล้ว ขณะที่ เทศบาลตำบลสูงเนิน ได้ลงนามความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดตั้งเครื่องร่อนขยะ และเทศบาลตำบลหมูสี อ.ปากช่อง ได้ทำการฝังกลบไปแล้ว จึงไม่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว