เครือข่ายปกป้องอันดามันฯ 'ขอคืนพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกระบี่' ที่ไม่ยัดไส้ถ่านหิน (26 ม.ค. 59)
Citizen Thai PBS 26 มกราคม 2559
เครือข่ายปกป้องอันดามันฯ 'ขอคืนพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกระบี่' ที่ไม่ยัดไส้ถ่านหิน
ที่มาภาพ: เพจเฟซบุ๊กหยุดถ่านหินกระบี่
วันนี้ (26 ม.ค. 2559) เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินจัดกิจกรรมบริเวณหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอ่านแถลงการณ์ ฉบับที่ 2/2559 ขอคืนพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ ระบุประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกระบี่ฉบับใหม่กำลังถูกแก้ไขถ้อยคำ เพื่อเอื้อให้กระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
แถลงการณ์ ระบุว่า 1.พื้นที่ปากแม่น้ำกระบี่มีความสำคัญยิ่งทั้งในระดับประเทศและระดับโลกโดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2543 เห็นชอบให้พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติในลำดับที่ 4 ของประเทศ เป็นลำดับที่ 1100 ของโลก มีเนื้อที่ประมาณ 133,120ไร่ ประเทศไทยจึงมีพันธกรณีต้องดำเนินการตามข้อกำหนดของอนุสัญญา และมีผลบังคับใช้ตามพันธกรณีอันเกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ คือประเทศภาคีอนุสัญญาแรมซาร์
ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552ให้ความเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการปกป้องคุ้มครองและรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำ มิให้ผู้ใด หน่วยงานใด เข้าไปบุกรุก ทำลาย ทำให้เสียประโยชน์หรือกระทบต่อความเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ
2.พื้นที่ปากแม่น้ำกระบี่ได้รับความสำคัญโดยการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 15มีนาคม พ.ศ. 2550 เมื่อประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมแล้ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะต้องดำเนินการกำหนดมาตรการเพื่อรักษาไว้ซึ่งความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติแต่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแต่กลับละเลยการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและปล่อยให้มีการแก้ไขข้อความเปิดทางให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว
การตัดสินใจให้มีการเปลี่ยนแปลงสาระของกฎหมายพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ โดยการยินยอมให้มีการสร้างท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม เป็นการกระทำซึ่งถือเป็นการละเมิดเจตนารมณ์อย่างร้ายแรงที่มีต่ออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ และกฎหมายคุ้มครองพื้นที่สิ่งแวดล้อม เพราะกิจการที่เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน และการขนส่งถ่านหินได้รับการพิสูจน์ในทางวิชาการและปฏิบัติจากจากทั่วโลกว่าเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์อย่างยิ่ง
3. เขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ประกาศเมื่อ 17 มีนาคม พ.ศ. 2550 มีระยะเวลาการบังคับใช้ 5 ปีและสิ้นสุดลงเมื่อปี 2555 หลังจากนั้นมากระบวนการประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมไม่ได้รับการปฏิบัติ เป็นที่น่าสังเกตว่ามีการปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาถึง 5 ปี เป็นช่วงเวลาที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยพยายามทำงานมวลชนและการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม/การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ EIA/EHIA เพื่อนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยไม่ต้องคำนึงถึงพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และเมื่อปรากฎร่างพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะประกาศใช้ กลับปรากฎข้อความเปิดทางให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้
มีข้อสังเกตว่าทั้งช่วงเวลาที่ไม่ประกาศและเนื้อหาการประกาศใหม่กลับสอดคล้องต้องกันเพื่อเอื้อให้เกิดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้น คำถามคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังคิดอะไรอยู่?
4. หากรัฐมนตรีและข้าราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ทำหน้าที่ในการรักษาสิ่งแวดล้อมก็ขอให้พิจารณาตัวเองไปทำหน้าที่ในกระทรวงอื่น เพราะประเทศนี้ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติที่เหลือเฟือให้พวกคุณทำลายได้อีกต่อไป เจตนาอันส่อไปในทางทำลายสิ่งแวดล้อมนี้เราไม่สามารถรับได้และเราจะปกป้องพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจำนวนแสนกว่าไร่อย่างถึงที่สุด
5. เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินจึงขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมมาบังคับใช้โดยเร็วที่สุด และปราศจากข้อความที่เปิดโอกาสให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและอุตสาหกรรมอันตรายดำเนินการได้ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยทางผู้แทนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินจะรอคำตอบที่กระทรวงฯ จนกว่าท่านรัฐมนตรีจะนำข้อเรียกร้องไปปฏิบัติ
ทั้งนี้ข้อเรียกร้องดังกล่าวกระทรวงไม่ควรให้ประชาชนมาเรียกร้อง เพราะเป็นหน้าที่โดยตรงที่ต้องกระทำ และตอนนี้เรามาเรียกร้องขอให้ปฏิบัติหน้าที่หากยังไม่กระทำแสดงว่าส่อเจตนาไปในทางไม่สุจริต ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
6. ทำไมความถูกต้องชอบธรรม ต้องแลกมาด้วยการต่อรอง เรียกร้อง ประท้วง ตลอดมา
ทั้งนี้ เลขาสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นตัวแทนรับหนังสือจากเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน
นอกจากนี้เพจเฟซบุ๊ก หยุดถ่านหินกระบี่ ยังมีการร่วมลงชื่อ ร้องเรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้ยกเลิกการแก้ไขประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพื่อมิให้มีการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหิน ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นแคมเปญรณรงค์ลายรายชื่อออนไลน์โดย อีไอเอ อีเอชไอเอ วอทช์ ประเทศไทย ผ่านทางเว็บไซต์ Chang.org