ท่องเที่ยว ‘ฝีแตก’ ทรัพยากรยับเยิน ‘ปะการัง’ ทะเลไทยเหลือเพียง 20% (19 ม.ค. 59)
Green News TV 19 มกราคม 2559
ท่องเที่ยว ‘ฝีแตก’ ทรัพยากรยับเยิน ‘ปะการัง’ ทะเลไทยเหลือเพียง 20%
ปัจจุบันการท่องเที่ยวทางทะเลได้รับความนิยมสูง เนื่องด้วยความอุดมสมบูรณ์และความสวยงามของทะเลไทย ไม่ว่าจะเป็นฝั่งอ่าวไทยหรืออันดามัน โดยแต่ละปีประเทศไทยรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก สร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล
ข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยว ระบุถึงตัวเลขนักท่องเที่ยวเฉพาะในเดือน พ.ย.2558 มีนักท่องเที่ยวมากถึง 2,549,455 คน ขยายตัว 5.13% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยนักท่องเที่ยวจีนมีสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด
ขณะที่สถิติตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ย.2558 พบว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยทั้งสิ้น 26,860,547 คน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 22.34% ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวมีมูลค่ามากถึง 1,294,811 ล้านบาท ขยายตัวถึง 25.51% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับทะเลไทย คือจำนวนนักท่องเที่ยวมากเกินกว่าที่มาตรการของภาครัฐจะบริหารจัดการไหว ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือความเสื่อมโทรมของทรัพยากร ปัญหาขยะ หรือแม้แต่การดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่ได้รับความเดือดร้อน
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าว่า ในปี 2558 ทะเลอันดามันมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามา 16 ล้านครั้ง ผลกระทบทางทะเลจึงมีมาก ปะการังที่สมบูรณ์ในระดับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เหลืออยู่น้อยกว่า 5% ของปะการังทั้งหมดของประเทศ ส่วนปะการังที่ยังมีชีวิตอยู่ มีประมาณ 20% และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ปีละ 1%
ดร.ธรณ์ กล่าวอีกว่า คราบน้ำมันเป็นอีกวิกฤตที่เกิดขึ้นกับทะเลอย่างต่อเนื่อง และมารุนแรงอย่างมากถึงมากที่สุดตอนท้ายปี 2558 ตั้งแต่เดือน ต.ค.ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก่อนกระจายไปทั่วภาคใต้ ตามด้วยอีกหลายครั้งย่อย จนส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง
สำหรับนโยบายฟื้นฟูปะการัง มีกฎหมายของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ออกมาใหม่ คือมีอำนาจในการประกาศให้พื้นที่ปะการังเป็นเขตวิกฤตได้ แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่เคยนำมาใช้
ขณะที่พฤติกรรมของนักท่องเที่ยว คนไทยรักทะเลและดูแลรักษาทะเลมากขึ้น ส่วนที่ยังเป็นปัญหาอยู่คือ “ทัวร์จีน” โดยในปี 2561 ประเทศไทยตั้งเป้าเพิ่มนักท่องเที่ยวขึ้นเป็น 50 ล้านคน
“การปฏิรูปอุทยานทางทะเลเป็นความหวังที่กำลังทำกันอยู่ เป็นเรื่องสำคัญที่สุดเพราะเมืองไทยต้องพึ่งการท่องเที่ยวเป็นหวังสุดท้าย อุทยานต้องเข้มแข็งเพื่อรับมือกับนักท่องเที่ยว 50 กว่าล้านคนที่จะเข้ามาในปี 2561 ” ดร.ธรณ์ ระบุ
ทั้งนี้ ทรัพยากรเหล่านี้ล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของประเทศในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะด้านธุรกิจท่องเที่ยวต่าง อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร เรือนำเที่ยว เป็นต้น
ไกรวุฒิ ชูสกุล ผู้จัดการฝ่ายบริหารการตลาดของบริษัทหลีเป๊ะเฟอรี่แอนด์สปีดโบ้ท จำกัด บอกว่า พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่สร้างผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติในท้องทะเล ส่วนหนึ่งมาจากการทำกิจกรรมดำน้ำ ที่มักเกิดปัญหาจากการประชาสัมพันธ์ผิดพลาดด้านการสื่อสาร และนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักไม่ฟัง โดยเฉพาะชาวจีนที่จะเสียงดัง ไม่ฟังไกด์พูดให้จบ ลงไปเหยียบปะการังจนทำให้เกิดปัญหาเกิดในภายหลัง
ไกรวุฒิ บอกอีกว่า รัฐบาลต้องมีการจัดการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรให้มากขึ้น เพราะว่าในปัจจุบันมีแต่ภาคประชาชน และชาวบ้านที่เป็นผู้อนุรักษ์ ซึ่งหากอุทยานยกระดับการมีบทบาทเรื่องการอนุรักษ์ให้มากขึ้น จะส่งผลให้เกิดทรัพยากรที่ยั่งยืน การประมง พันธุ์ปลาจะขยายรวดเร็วมากขึ้นซึ่งหากมีการพัฒนาดังกล่าวจะสร้างเศรษฐกิจให้กับฐานชุมชน
“ที่แล้วมากรมอุทยานมีนโยบายจัดการอนุรักษ์และการตรวจสอบน้อย จึงทำได้เพียงอาศัยภาคประชาชนกลุ่มองค์กรต่างๆ เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยมีจุดประสงค์ต้องการให้กรมอุทยานมีนโยบายการอนุรักษ์ในเชิงรุกเพราะเราอยู่ในพื้นที่เขตร้อนมรดกความหลากหลายของอาเซียน และมีพื้นที่อนุรักษ์เชื่อมต่อหมู่เกาะเภตราที่อยู่ติดกัน”ผู้ประกอบการรายนี้ ระบุ
สำหรับมุมมองของนักอนุรักษ์อย่าง ภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร วิเคราะห์สถานการณ์ท่องเที่ยวในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งมีปัญหาสั่งสมมาอย่างยาวนานจนใกล้จะถึงจุดที่ “ฝีแตก” เต็มที
ภาณุเดช บอกว่า การท่องเที่ยวเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม ควบคู่ไปกับวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมที่น่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะมี “พื้นที่ดี” แต่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับยังขาดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ จึงทำให้การท่องเที่ยวเป็นไปในลักษณะ “แบกะดิน” คือมุ่งแต่การเพิ่มปริมาณรายได้ จนทำให้เปิดพื้นที่อนุรักษ์ทุกแห่งตอบสนองการท่องเที่ยว
อย่างล่าสุด มีความพยายามจะเปิดและพัฒนาพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อีกหลายจุด หรือมีความพยายามจะสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง โดยที่ไม่สนใจความเหมาะสมและศักยภาพของพื้นที่ว่าจะสมดุลต่อการรองรับการท่องเที่ยวหรือไม่
“เราจึงเห็นรถติดหลายสิบกิโลบนเขาใหญ่ ดอยอินทนนท์ เห็นการเหยียบย่ำปะการัง การปล่อยน้ำเสียลงสู่ธรรมชาติ สุดท้ายคุณค่าของพื้นที่ก็ลดน้อยลงและเสื่อมลงเรื่อยๆ จึงกลายมาเป็นสินค้าที่ต้องเหลาโหลขาย” ภาณุเดช อธิบาย
นักอนุรักษ์รายนี้ บอกอีกว่า คุณค่าของพื้นที่อนุรักษ์คือให้นักท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติ ระบบนิเวศ ป่า สัตว์ป่า แต่ที่ผ่านมากลับพบว่ากรมอุทยานฯ เลือกที่จะใช้เจ้าหน้าที่ถึง 70% ในการดูแลนักท่องเที่ยว แต่กลับใช้เจ้าหน้าที่เพียง 15% เท่านั้น ทำหน้าที่ดูแลรักษาธรรมชาติ
“การท่องเที่ยวมีหลายรูปแบบและไปด้วยกันกับการอนุรักษ์ได้ เพียงแต่ต้องมีนโยบายและการจัดการพื้นที่ที่ดี โดยใช้หลักวิชาการเข้ามาจับ ที่สำคัญต้องพัฒนาคุณภาพของนักท่องเที่ยวควบคู่กันไปด้วย” ภาณุเดช ระบุ
กรณี “ภูทับเบิก” จ.เพชรบูรณ์ ที่ล้นทะลักด้วยนักท่องเที่ยว “ภาณุเดช” มองว่า นั่นคือบทเรียนของประเทศไทยที่สะท้อนปัญหาในทุกๆ ด้าน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว คือจะเห็นปัญหาการพัฒนาพื้นที่ของรัฐ การจัดการที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย การเปิดพื้นที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยวจนกระทบต่อธรรมชาติ
นอกจากนี้ “ภูทับเบิก” ยังเป็นปรากฏการณ์ “ฝีแตก” ที่เกิดขึ้น ซึ่งในอดีตก็เกิดปัญหาเดียวกันนี้กับสถานที่ที่มีชื่อเสียง เช่น เชียงใหม่ เกาะสมุย เกาะเสม็ด เกาะลันตา อุทยานสิรินาถ เชียงคาน
“ที่ไหนมีชื่อเสียงขึ้นมาเราก็เฮกันไป พื้นที่ก็เฮต้อนรับเอาใจนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่ธุรกิจท่องเที่ยวก็ตกเป็นของทุนใหญ่นอกพื้นที่ที่ได้ประโยชน์ แต่พอพื้นที่พังหรือชื่อเสียงเริ่มตกนักท่องเที่ยวก็แยกย้ายไปหาที่ใหม่ๆ ทุนใหญ่ก็ย้ายตามไปทำธุรกิจในที่ใหม่ สุดท้ายแต่ที่ตายสนิทคือพื้นที่และคนในพื้นที่”
“ผมเคยผิดหวังกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ทำหน้าที่เพียงส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยไม่เคยรับผิดชอบผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการส่งเสริมเหล่านั้นเลย หรือแม้แต่การปล่อยให้พื้นที่ซึ่งมีความสำคัญทางธรรมชาติ โดยเฉพาะอุทยานฯ ถูกรุมทำลายเพียงเพราะการแสวงหาผลประโยชน์”
“… ถ้ารัฐบาลชุดนี้พยายามสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว ก็อยากให้วางยุทธศาสตร์กันใหม่ว่าอยากให้การท่องเที่ยวเป็นแบบไหนและไปในทิศทางใด ผมเชื่อว่าธรรมชาติบ้านเรายังฟื้นฟูดูแลได้ แต่เราต้องมาตั้งต้นกันใหม่ด้วยความตั้งใจจริง” เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ ระบุ
ภาณุเดช ยอมรับว่า ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมจัดแสดงคอนเสิร์ต แรนลี่ วิ่งมาราธอน ในหุบเขา ผืนป่า หรือบนยอดดอย แต่ก็ต้องว่ากันเป็นกรณีๆ หรือกิจกรรมๆ ไป โดยสาเหตุที่ไม่เห็นด้วยเพราะพื้นที่เหล่านั้นมีความเปราะบางทางระบบนิเวศสูงมาก
“ป่าไม่ได้มีแค่ต้นไม้ แต่มันยังมีความหลากหลายที่สัมพันธ์กันอยู่ ดังนั้นการนำคนปริมาณมากๆ เข้าไปในพื้นที่ย่อมสร้างปัญหาอื่นตามมา และล้วนกระทบต่อสภาพพื้นที่แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างที่พัก ห้องน้ำ อาหาร ระบบน้ำ น้ำทิ้ง ขยะ และเมื่อมีใครสามารถทำกิจกรรมเหล่านี้ได้ คนอื่นๆ ก็จะทำบ้าง แย่งกันจัด แข่งกันจัด พอเบื่อก็ไปเปิดพื้นที่ใหม่อยู่อย่างนี้” ภาณุเดช ให้ภาพ
ภาณุเดช ฉายภาพความแตกต่างของการท่องเที่ยวในอดีตกับปัจจุบันอีกว่า เริ่มตั้งแต่การเข้าถึงพื้นที่ง่ายขึ้น มีข้อมูลจากสื่อจำนวนมาก นักท่องเที่ยวเดินทางไปในช่วงเวลาสั้นๆ หรือไปเช้าเย็นกลับได้
ยกตัวอย่างเช่น หลายเส้นทางถูกพัฒนาเป็นเส้นทางรถยนต์ ทำให้กระบวนการเรียนรู้และศึกษาธรรมชาติไม่เกิดขึ้น นักท่องเที่ยวขาดความสัมพันธ์กับเรื่องราวในพื้นที่ คือเปิดประตูรถก็สามารถเล่นน้ำตกได้เลย เล่นเสร็จก็กลับบ้าน ทั้งที่ในอดีตเราต้องเรียนรู้เส้นทางและแหล่งท่องเที่ยวกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ รวมทั้งยังได้คำแนะนำเรื่องสัตว์ป่าระหว่างเดินทางเข้าไปยังสถานที่นั้นๆ ด้วย
“ผมว่าวิถีการเที่ยวในปัจจุบันมันต่างจากอดีตมากนะครับ หลายพื้นที่กีดกันนักท่องเที่ยวกระแสรองด้วยซ้ำ โดยการตั้งกติกาต่างๆนาๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจท่องเที่ยว” นักอนุรักษ์รายนี้ สะท้อนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย