‘กฟผ.’ลุ้นชะตาถ่านหินกระบี่ ไตรภาคีนัดแรกมั่นใจสร้างได้ (24 ม.ค. 59)

ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 24 มกราคม 2559
‘กฟผ.’ลุ้นชะตาถ่านหินกระบี่ ไตรภาคีนัดแรกมั่นใจสร้างได้


‘กฟผ.’ลุ้นชะตาถ่านหินกระบี่ ไตรภาคีนัดแรกมั่นใจสร้างได้

คณะกรรมการไตรภาคีเตรียมประชุมนัดแรก หาข้อสรุปโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ภายในสัปดาห์นี้กฟผ.ยันใช้เทคโนโลยี Ultra Super Critical พร้อมติดเครื่องดักจับโลหะหนักและสารปรอทเพิ่ม มั่นใจสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2562 ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะทดแทนหน่วย 4-7 กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์เริ่มก่อสร้างแล้ว


นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์ คาดว่าคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจาก 3 ฝ่าย ได้แก่ ตัวแทนจากกระทรวงพลังงาน กฟผ. และตัวแทนจากรัฐบาล ,ตัวแทนจากฝ่ายผู้คัดค้านโรงไฟฟ้า เช่น องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) นักวิชาการ และตัวแทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะมีการประชุมนัดแรกภายในสัปดาห์นี้เพื่อกำหนดทิศทางในการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จากนั้นจะนำมติของคณะกรรมการเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป

โดยส่วนตัวยังมั่นใจว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จะสามารถเกิดขึ้นตามแผน ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด (Ultra Super Critical) พร้อมจะติดตั้งอุปกรณ์ดักจับสารปรอท และโลหะหนัก เพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความสบายใจของทุกฝ่าย ประกอบกับเทคโนโลยีดังกล่าวหลายประเทศให้การยอมรับ อาทิ เยอรมนี ญี่ปุ่น โดยที่ผ่านมา กฟผ.มีการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(อีเอชไอเอ) ซึ่งตามแผนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ(ซีโอดี) ภายในปี 2562

“คาดว่าคณะกรรมการไตรภาคีจะประชุมนัดแรกในวันที่ 21 มกราคมนี้ แต่ก็ต้องรอหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยยืนยันว่าเทคโนโลยีที่ใช้ในโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ แม้ว่าจะเป็นระบบเดียวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะทดแทนหน่วยที่ 4-7 แต่จะดีกว่าเพราะมีการติดเครื่องดักจับโลหะหนักและสารปรอทเพิ่มเติม แม้จะพิสูจน์แล้วว่าเทคโนโลยีนี้ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ หรืออยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด แต่เพื่อความสบายในของทุกฝ่าย กฟผ. ก็ยินดีทำ”


นายสุนชัย กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจำนวน 2 โรง กำลังการผลิตรวม 2 พันเมกะวัตต์ ที่จ.สงขลา ปัจจุบันเปิดรับความคิดเห็นครั้งที่ 3 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี2015) โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาโรงแรกจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2564 ขณะที่โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์

สร้างขึ้นเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 4-7 เดิม ซึ่งเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ ปี 2527 เป็นเวลากว่า 30 ปี และมีกำหนดปลดออกจากระบบในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ดังนั้นโรงไฟฟ้าใหม่จะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีสะอาดที่มีประสิทธิภาพสูง (Ultra – Super critical) แห่งแรกของ กฟผ. ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง สามารถลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า มีการควบคุมมลสารให้ดีขึ้นเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

นอกจากนี้โรงไฟฟ้ายังติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (FGD) เครื่องกำจัดฝุ่นด้วยไฟฟ้าสถิตแรงสูง (ESP) พร้อมติดตั้งอุปกรณ์เครื่องดักจับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (Selective Catalytic Reduction : SCR) ซึ่งจะช่วยควบคุมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมแบบตามเวลาจริง ตลอด 24 ชั่วโมง (Real-time) ผ่านระบบออนไลน์ ของกรมควบคุมมลพิษ จึงมั่นใจได้ว่า มีการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าให้ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,124 วันที่ 21 – 23 มกราคม พ.ศ. 2559